วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

Review - Marshall Stanmore


"คุณรู้จักยี่ห้อมาร์แชล (Marshall) ไหมครับ?"

ผมเห็นชื่อนี้ครั้งแรกตั้งแต่รู้จักคำว่านักร้องและคอนเสิร์ต ต้องยอมรับว่าในยุคหนึ่งเมื่อเห็นเวทีคอนเสิร์ตคราใด ก็จะเห็นชื่อของมาร์แชลไปปรากฏอยู่ด้วยแทบทุกครั้ง เพราะนี่คือหนึ่งในผู้ผลิตตู้แอมป์+ลำโพงและแอมป์สำหรับเครื่องดนตรีจากเกาะอังกฤษที่มีชื่อเสียงกะฉ่อนไปทั่วโลก มีศิลปินดังระดับโลกเลือกใช้มากมายไม่ว่าจะเป็น Jimi Hendrix, Led Zeppelin หรือ The Who

นั่นหมายความว่า แม้คุณจะไม่เคยใช้มาร์แชลมาก่อน คุณก็มีโอกาสได้รู้จักมาร์แชลผ่านโสตประสาททั้งในส่วนของรูปลักษณ์และน้ำเสียงได้ไม่ยาก

ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนที่จะได้ใช้สินค้าของมาร์แชลก็คือกลุ่มนักดนตรีและศิลปินขายเสียงทั้งหลาย แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชื่อของ 'มาร์แชล' ได้ถูกหยิบยืมมาต่อยอดแตกไลน์สินค้าเครื่องเสียงสำหรับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป (consumer) แล้วครับ นำทัพมาก่อนด้วยไลน์สินค้าหูฟังดีไซน์ย้อนยุคอยู่ 2-3 รุ่น จนกระทั่งล่าสุดก็แตกไลน์สินค้าออกมาเป็น ลำโพงตั้งโต๊ะ (desktop loudspeaker) ไฮไฟแกดเจ็ดที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันอย่างชัดเจน และหนึ่งในลำโพงตั้งโต๊ะที่น่าสนใจก็คือรุ่นสแตนมอร์ 'Stanmore' ที่คุณกำลังอ่านรีวิวอยู่นี่ล่ะครับ

<สแตนมอร์คือชื่อของย่านชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของลอนดอน>



การออกแบบและวิศวกรรม
อย่างที่ได้เรียนไว้ นี่คือไฮไฟแกดแจ็ดที่ถูกสร้างมาเพื่อคนฟังเพลงในยุคนี้ แต่รูปลักษณ์ภายนอกของลำโพงสแตนมอร์กลับมีกลิ่นอายของมาร์แชลแต่ดั้งเดิมปรากฎอยู่ในแทบทุก DNA เกือบทุกงานออกแบบที่เป็น 'ลายเซ็น' ของมาร์แชลถูกหยิบมาใส่ในสแตนมอร์อย่างตั้งใจ จนดูเหมือนคนออกแบบเขากลัวว่าคนจะจำไม่ได้ว่าหรือไม่เชื่อว่านี่คือลำโพงยี่ห้อมาร์แชลจริงๆ นะ

รายละเอียดด้านหลังลำโพง
ด้วยขนาดที่เล็กกว่าเตาอบไมโครเวฟ แต่ใหญ่กว่าเตาปิ้งขนมปัง ทำให้สแตนมอร์มีขนาดกำลังดีสำหรับการทำหน้าที่เป็นลำโพงตั้งโต๊ะ ส่วนที่โดดเด่นสะดุดตามากที่สุดคงหนีไม่พ้นแผงหน้ากากหน้าลำโพงที่ถอดแบบมาจากตู้แอมป์มาร์แชลแทบทุกกระเบียดนิ้วทั้งลายผ้าถักและโลโก้ยี่ห้อ โครงสร้างตู้ที่ทำจากไม้ถูกห่อหุ้มด้วยหนังสีดำ ตัดกันกับแผงควบคุมด้านบนที่เป็นสีทองอร่าม เห็นปุ๊บก็รู้สึกได้ถึงความเป็นมาร์แชลปั๊บ (เห็นว่ามีแบบหุ้มหนังสีขาวให้เลือกด้วย แต่ดูแล้วน่าจะเลอะคราบสกปรกง่ายกว่า)

ซูมด้านหลังดูรายละเอียดขั้วต่อ
 รายละเอียดด้านหลังตู้ลำโพงจะเป็นที่อยู่ของขั้วต่อทั้งสายไฟเอซี อินพุตสัญญาณเสียง และท่อเปิดของระบบเบสรีเฟลกซ์ งานประกอบในภาพรวมจัดถือว่าประณีต แน่นหนา และดูแข็งแรงทนทานดี ที่ตัวลำโพงไม่ได้ระบุแหล่งผลิตเอาไว้ แต่ที่กล่องใส่แจ้งเอาไว้ว่าออกแบบในประเทศสวีเดนและผลิตจากประเทศจีน ทราบอย่างนี้แล้วอย่าเพิ่งเบ้ปาก ถึงจะเป็นงานผลิตในจีนแต่พิจารณาจากเนื้องานแล้วต้องบอกว่ามันมาจากโรงงานผลิตในจีนที่มีมาตรฐานสูงเลยทีเดียว

คุณสามารถต่อสัญญาณเสียงเพื่อฟังเพลงกับลำโพงสแตนมอร์ได้ด้วยการเสียบสายสัญญาณตามปกติ หรือเชื่อมต่อทางระบบไร้สายผ่านเทคโนโลยีบลูทูธแบบ 'aptX' (STANDARD V4.0 + EDR APTX® CODEC) ซึ่งเป็นวิธีการเชื่อมต่อเสียงทางบลูทูธที่ได้รับการยอมรับว่า 'เสียงดีที่สุด' วิธีหนึ่งและปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่ผู้ผลิตเครื่องเสียงไฮไฟ

ภาคขยายเสียงในตัวมีทั้งหมด 3 ชุด ให้กำลังขับ 20 วัตต์ จำนวน 2 ชุดขับทวีตเตอร์โดมขนาด 3/4 นิ้ว 2 ตัวที่วางขนาบซ้ายขวาด้านข้างวูฟเฟอร์ขนาด 5 1/4 นิ้ว ที่ขับด้วยภาคขยายเสียงกำลังขับ 40 วัตต์อีก 1 ชุด



การเชื่อมต่อและการใช้งาน
การเชื่อมต่อเสียงเพลงกับลำโพงสแตนมอร์สามารถทำได้ 4 ช่องทางด้วยกัน ช่องทางแรกคือทางระบบไร้สายบลูทูธ ที่สามารถทำได้ง่ายๆ เหมือนลำโพงบลูทูธทั่วไปโดยการกดปุ่ม SOURCE/WAKE เพื่อเลือกอินพุตไปที่ BLUETOOTH จากนั้นกดปุ่ม PAIR ไฟ LED อินพุต BLUETOOTH จะติดกระพริบ เปิดบลูทูธในโทรศัพท์ แท็ปเล็ตหรือคอมพิวเตอร์แล้วหาชื่อ 'STANMORE Speaker' เพื่อจับคู่ได้เลยครับ

เชื่อมต่อบลูทูธระหว่างไอโฟนกับลำโพง
สวิตช์โยกและปุ่มลูกบิด
ที่ถอดแบบจากแอมป์มาร์แชล
นอกจากระบบไร้สายแล้ว การเชื่อมต่อลำโพงสแตนมอร์ยังสามารถทำได้ทางอินพุตสัญญาณเสียงทางช่อง INPUT 1 และ INPUT 2 ซึ่งเป็นอินพุตสัญญาณเสียงอะนาล็อกผ่านทางขั้วต่อมินิโฟน 3.5 มม.ที่แผงควบคุมด้านบนและขั้วต่อ RCA ที่ด้านหลังตู้ลำโพงตามลำดับ อีก 1 ช่องทางการเชื่อมต่อเสียงคือทางอินพุตสัญญาณดิจิตอลแบบ OPTICAL ที่อยู่ด้านหลังเครื่อง

อย่างไรก็ดีคุณควรจะทราบไว้ก่อนว่า สายสัญญาณที่ให้มากับลำโพงสแตนมอร์นั้นมีเพียงแค่สาย mini-mini แบบ coil type เท่านั้น ถ้าจะต่อใช้งานทางอินพุต OPTICAL หรือ RCA คุณต้องหาสายสัญญาณที่เหมาะสมมาใช้เอง

ลำโพงสแตนมอร์อาจจะมีขนาดกะทัดรัด แต่มันทำงานด้วยพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ จึงไม่ใช่ลำโพงที่คุณจะพกพาไปนั่งฟังริมทะเลได้ง่ายๆ นอกเสียจากว่าคุณจะหาปลั๊กไฟได้แถวนั้น แต่ถ้าพกไปใช้งานในโรงแรมหรือรีสอร์ตที่คุณเดินทางไปเที่ยว อย่างนี้ก็เป็นไปได้ไม่ยาก เพราะต่อให้คุณเดินทางไปต่างประเทศที่เขาใช้ไฟ 110 โวลต์ ก็ยังสามารถใช้งานได้เพราะตัวลำโพงถูกออกแบบให้สามารถใช้ไฟฟ้ากระแสสลับได้ตั้งแต่ 100-240 โวลต์ (switch mode power supply)

ด้านหลังลำโพงยังมีสวิตช์เลื่อนเล็กๆ อีก 1 ตัว ทำหน้าที่เลือกรูปแบบการใช้พลังงานไฟฟ้า ถ้าเลื่อนไปที่ POWERSAVER ตัวลำโพงจะเข้าสู่โหมดประหยัดพลังงาน เมื่อไม่มีการเปิดฟังเสียงภายใน 20 นาที วงจรไฟฟ้าในลำโพงจะชัทดาวน์ตัวเอง เข้าสู่โหมดนอนหลับ (standby) กินพลังงานไฟฟ้านิดเดียวไม่ถึง 1 วัตต์และการเชื่อมต่อบลูทูธจะถูกตัดไป เมื่อต้องการกลับมาใช้งานก็เพียงแค่กดปุ่ม SOURCE/WAKE เท่านั้น แต่ถ้าคุณไม่สนเรื่องประหยัดพลังงานและต้องการให้การเชื่อมต่อบลูทูธพร้อมใช้งานทุกเมื่อก็ให้เลือกไว้ที่ STANDARD ครับ



คุณภาพเสียง
ถึงคุณจะไม่สนตัวเลข frequency response 45-22,000 Hz +/-3dB ที่ทำให้ลำโพงเล็กๆ ตัวนี้ดูมหัศจรรย์เกินกว่าที่จะเชื่อได้ แต่เมื่อได้ลองฟังเสียงของมันแล้ว ผมคิดว่าคุณอาจจะต้องคิดใหม่

สายสัญญาณที่แถมมากับลำโพง
ส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบเลย ลำโพงตั้งโต๊ะที่เน้นเสียงเสียงย่านใดย่านหนึ่งมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะเสียงทุ้ม ผมคิดว่าลำโพงที่ให้เสียงทุ้มได้ดี ลำโพงที่ให้เสียงทุ้มฟังสนุก ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงทุ้มที่มีปริมาณเยอะท่วมท้น ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับเสียงในย่านความถี่อื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะเสียงกลาง

ผมเปิดฟังลำโพงสแตนมอร์ครั้งแรกด้วยการเล่นเพลงจากไอโฟนแล้วส่งออกไปทางบลูทูธ มันเสียงดีกว่าที่ผมคิดมาก สิ่งที่เคยรู้สึกไม่ดีกับเสียงของลำโพงอื่นๆ ที่ขายดีไซน์ ไม่พบเจอในลำโพงรุ่นนี้เลย ทุ้ม กลาง แหลมของมันให้ความรู้สึกพอดิบพอดี มีสมดุลที่น่าฟัง เสียงมีรายละเอียด มีมวลเนื้อเต็มและแน่นในทุกย่านความถี่ ฟังเพลงทั่วไปไม่ว่าจะเป็น rock pop jazz ต้องบอกว่ามันใช่เลย... เสียงดีมาก

ยิ่งถ้าลำโพงวางในตำแหน่งที่เหมาะๆ เช่นบนโต๊ะหรือชั้นวางที่แน่นหนาแข็งแรง ตำแหน่งท่อเบสด้านหลังไม่ชิดฝาผนังมากจนเกินไป จะได้ยินรายละเอียดของเสียงทุ้มที่ดีด้วยต่างหากครับ

สำหรับปุ่มปรับเสียงทุ้ม/แหลม (BASS/TREBLE) ที่ให้มาด้วย แม้ว่าผมจะใช้งานมันน้อยมาก แต่เท่าที่ได้ลองใช้กับเพลงที่บันทึกเสียงมาไม่ค่อยสมบูรณ์นักก็พบว่าเขาออกแบบมาดีมาก มันเป็นการปรับแต่งชดเชยเสียงที่ขาดๆ เกินๆ แล้วช่วยให้เสียงดีขึ้นได้จริง ฟังสนุกขึ้นได้จริง เป็นทุ่มปรับทุ้ม/แหลมสไตล์โบราณที่ทำได้น่าประทับใจทั้งเรื่องของฟิลลิงในการใช้งานและคุณภาพเสียงที่ได้

ต่อฟังกับ iBasso DX50 ทางช่อง INPUT 1
ทีแรกผมคิดว่าตัวลำโพงจะให้เสียงเป็นระบบโมโน เพราะมีตู้ลำโพงแค่ตัวเดียว แต่ขณะนั่งฟังใกล้ๆ หน้าลำโพงผมก็บังเอิญได้ยินมิติเสียงแบบสเตริโอออกมาจากลำโพงสแตนมอร์ด้วย... เฮ้ย! มันให้มิติเสียงสเตริโอได้ด้วย แต่น้องนั่งฟังใกล้หน่อยนะเพราะเวทีเสียงของมันไม่ได้กว้างขวางอะไรมากมาย

นอกจากการฟังผ่านระบบบลูทูธที่ให้ความสะดวกสบายในการควบคุมสั่งงานโดยปราศจากพันธนาการแล้ว ถ้าคุณแคร์เรื่องคุณภาพเสียงมากกว่า ผมแนะนำให้ลองต่อฟังเสียงทางช่องอินพุตอะนาล็อกดูครับ อย่างเช่นที่ผมลองเอา DAP (Digital Audio Player) หรือเครื่องเล่นพกพายี่ห้อ iBasso รุ่น DX50 มาต่อกับลำโพงสแตนมอร์ทางช่อง INPUT 1 โดยใช้สายสัญญาณที่แถมมากับลำโพง ผมว่ามันฟังดีกว่าตอนที่ฟังผ่านบลูทูธอีกครับ ! แบนด์วิดธ์เสียงกว้างขึ้น เปิดฟังดังๆ ได้สบายหูมากขึ้น ไดนามิกเสียงดีขึ้นแทบทุกส่วนทำให้รายละเอียดส่วนยิบย่อยหลุดออกมาให้ได้ยินมากขึ้น แน่นอนว่าเครดิตส่วนหนึ่งต้องยกให้ DX50 ที่ให้เสียงออกมาดีกว่าฟังจากสมาร์ตโฟนที่เล่นทางบลูทูธหรือต่อสายสัญญาณ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าตัวลำโพงเองก็ต้องมีประสิทธิภาพดีพอที่จะถ่ายทอดความแตกต่างนี้ออกมาได้ด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่ลำโพงสแตนมอร์ทำให้ผมประทับใจ

แล้วมีอะไรบ้างที่ผมไม่ประทับใจ?

เรียกตามตรงว่านึกออกยากนะครับ เท่าที่ได้ลองฟังลองใช้งานมา ผมว่าเพลงคลาสสิกที่บรรเลงด้วยวงซิมโฟนีออเคสตร้าขนาดใหญ่ อาจจะเป็นดนตรีรูปแบบเดียวที่ทำให้ผมประทับใจลำโพงรุ่นนี้น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเพลงแนวอื่นๆ แต่ไม่ถึงขั้นไม่ประทับใจเลยเสียทีเดียว ยิ่งเมื่อดูขนาดตัวของมันแล้ว ภาษาชาวบ้านเรียกว่าลำโพงตัวเท่าลูกหมา ผมว่ามันก็น่าให้อภัยอยู่นะ อ้อ... อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อเทียบกับลำโพงตั้งโต๊ะส่วนใหญ่ ก็อาจจะเป็นเรื่องที่มันไม่มีรีโมตคอนโทรลมาให้ใช้งาน ก็อาจจะลำบากนิดหนึ่งเวลาฟังแบบต่อสายสัญญาณ แต่ถ้าฟังผ่านบลูทูธก็สามารถใช้อุปกรณ์เล่นเพลงของเรานั่นแหละครับทำหน้าที่ควบคุมความดังหรือเปลี่ยนเพลงได้แบบรีโมตอยู่เหมือนกัน



ข้อสรุป
ในงบประมาณเท่าๆ คุณอาจจะหาซื้อลำโพงอื่นที่สวยกว่านี้ มีออพชันหรือลูกเล่นต่างๆ มากกว่านี้ได้ไม่ยาก แต่ถ้าคุณอยากได้ลำโพงที่สามารถเป็นได้ทั้งอาหารหูและอาหารตาในเวลาเดียวกัน Marshall Stanmore คือตัวเลือกที่น่าสนใจและรับประกันความคุ้มค่าเป็นลำดับต้นๆ ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนพันธุ์แท้หรือแค่คนรู้จักสินค้าแบรนด์เนมยี่ห้อ Marshall ก็ตาม



เก็บตกและเพิ่มเติมเนื้อหา (23 พ.ค. 57)

มีคำถามว่า ในลำโพงรุ่นนี้การเล่นด้วยการต่อสายสัญญาณ กับ เล่นทางบลูทูธ เสียงเหมือนกันไหม ถ้าไม่เหมือน อย่างไหนเสียงดีกว่ากัน?

คำตอบคือ ไม่เหมือนครับ เล่นเพลงทางการต่อสายสัญญาณเสียงดีกว่า บลูทูธถ้าคุณภาพดีพอ (เล่นจากเครื่องรุ่นใหม่ๆ หรือรุ่นสูงๆ ) ก็ยังเป็นรองเล็กน้อย แต่ถ้าเล่นจากเครื่องราคาถูกหรือรุ่นเก่าแล้วส่งบลูทูธออกมา เสียงที่ได้จากบลูทูธจะด้อยกว่าการต่อสายสัญญาณมากๆ ครับ

สรุป ณ เทคโนโลยีทุกวันนี้ ทางบลูทูธ คุณภาพเสียงยังเป็นรองการต่อสายสัญญาณ แต่ใน source (หมายถึง smart phone, tablet หรือ DAP ที่มีบลทูธ) รุ่นดีๆ บลูทูธให้คุณภาพเสียงได้ใกล้เคียงการต่อด้วยสายสัญญาณมากแล้วครับ ในอนาคตอาจทำได้ใกล้เคียงกว่านี้หรือดีกว่า แต่ในเวลานี้ยังเป็นรองครับ


เก็บตกและเพิ่มเติมเนื้อหา (4 ก.ค. 57)


ล่าสุดทราบว่า Marshall Stanmore ออกสีใหม่เป็นสีน้ำตาลมาให้เลือกด้วยนะครับ ดูนุ่มนวลคลาสิคดีครับ เป็นทางเลือกใหม่สำหรับคนที่ชอบโทนสีกลางๆ อีกหนึ่งโทน



.....................................................................................................................
ขอบคุณ บริษัท KOAN ประเทศไทย ที่เอื้อเฟื้อให้ยืมสินค้าสำหรับการรีวิว