วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

Review - Createch CT-1

ขณะที่หลายคนรอคูปองส่วนลดซื้อกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีจาก กสทช. แต่อีกหลายคนตัดสินใจ 'ไม่รอ' เพราะไม่ทราบว่าต้องรอจนถึงเมื่อไร ผมเองเป็นประเภทหลังครับ ขณะที่เขียนรีวิวอยู่นี่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องคูปองเสียที


หลังจากหาข้อมูลอยู่พักหนึ่ง ก็พบว่ามีกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีราคาน่าคบหาอยู่ 2-3 ยี่ห้อ/รุ่น เป็นยี่ห้อ/รุ่นที่มีคนพูดถึงหรือใช้งานมันอย่างแพร่หลายพอสมควร เท่ากับว่าสอบผ่านขั้นแรกเรื่องของความนิยมรวมทั้งบริการหลังการขายที่น่าจะไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง ในที่สุดแล้วตัวเลือกของผมก็ไปลงเอยที่กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีของยี่ห้อครีเอเทค (Createch) รุ่น CT-1 โดยไปซื้อมาจากห้างเพาเวอร์บาย สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ เท่ากับว่ามันน่าจะสอบผ่านอีกเรื่องคือ หาซื้อได้ไม่ยาก



มีอะไรบ้างใน Createch CT-1
ในภาพยังขาดสาย AV
ที่มีแถมมาให้ด้วยในกล่อง
กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี (DTV Set-Top-Box) รุ่นนี้มาพร้อมกับอะแดปเตอร์ไฟเลี้ยงแบบเสียบเข้าปลั๊กไฟโดยตรง, รีโมตคอนโทรลอินฟราเรด, สาย HDMI และสายสัญญาณ AV ที่แถมมาให้ด้วยในกล่อง ก็เรียกว่าให้มาพร้อมใช้งานเลยทีเดียว จะขาดก็แต่เสาอากาศที่ผู้ใช้ต้องไปจัดหามาใช้งานเอาเอง

กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีรุ่นนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ขนาดกว้างกว่าฝ่ามือผมนิดเดียวและหนาราว 1 นิ้วไม่ขาดไม่เกิน ตัวกล่องทำจากพลาสติกสีดำมีการเจาะช่องอากาศเพื่อระบายความร้อนในบริเวณด้านข้างและฐานล่างของตัวเครื่องเล็กน้อย ทำให้ไม่ค่อยน่าห่วงเรื่องฝุ่นละอองจะเข้าไปสะสมในเครื่องสักเท่าไร

ด้านหน้าเครื่องไม่มีจอแสดงผลใดๆ มีเพียงไฟ LED 2 ดวงแสดงสถานะเปิด (ไฟสีเขียว) หรือสแตนด์บายเครื่อง (ไฟสีแดง) และพอร์ต USB สำหรับเสียบใช้งานกับอุปกรณ์ media storage ทั้งหลายเพื่อใช้งานฟังก์ชันเล่นไฟล์มีเดีย และบันทึกรายการด้วยฟังก์ชัน PVR หรือ Timeshift

ขั้วต่อด้านหลังเครื่อง
มุมบนด้านซ้ายค่อนมาทางหน้าเครื่องมีปุ่มกดเล็กๆ อยู่ 3 ปุ่มเท่านั้น ทำหน้าที่เปิด/ปิดเครื่องและเลื่อนเปลี่ยนช่องสถานีโทรทัศน์เท่านั้น ปุ่มควบคุมแบบใช้งานได้ครบทุกฟังก์ชันจะไปอยู่ที่รีโมตทั้งหมด ดังนั้นห้ามทำรีโมตหาย ไม่เช่นนั้นแล้วจะทำได้แค่เปิด-ปิดเครื่องและเปลี่ยนช่องเท่านั้น

ขณะที่กล่องบางรุ่นในตลาดเวลานี้ อาจจะมีจอแสดงผลช่องโทรทัศน์และปุ่มกดที่ตัวเครื่องมากกว่านี้ ขณะที่บางรุ่นก็อาจจะไม่มีทั้งจอแสดงผลและปุ่มกดใดๆ ที่ตัวเครื่องเลย แต่สิ่งเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่ออพชันที่มีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้ตัดสินคุณภาพที่แท้จริงของตัวเครื่องได้

ด้านหลังเครื่อง Createch CT-1 มีขั้วต่อให้มาครบถ้วนตามมาตรฐานของ กสทช. ได้แก่ขั้วต่อเสาอากาศพร้อมทั้งขั้วต่อ Loop Out ให้พ่วงสัญญาณจากเสาอากาศออกไป, ขั้วต่อ HDMI สำหรับต่อใช้งานกับ TV รุ่นใหม่ๆ ที่มีขั้วต่อประเภทนี้, ขั้วต่อสัญญาณ AV Out สำหรับทีวีรุ่นเก่าที่ไม่มีขั้วต่อ HDMI



การใช้งานทั่วไปและเมนูปรับตั้งของกล่อง
ขนาดเล็กกะทัดรัด
ผมได้ลองใช้งาน CT-1 กับทั้งทีวีและมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์ โดยทีวีนั้นเป็น LED TV Full HD ขนาด 32 นิ้วของ Samsung และ 48 นิ้วของ TCL ส่วนมอนิเตอร์คอมพิวเตอร์เป็นมอนิเตอร์ LED Full HD ขนาด 24 นิ้วของ Samsung ทั้งหมดต่อใช้งานทางช่อง HDMI


เสาอากาศที่ต่อเข้ากับกล่อง CT-1 ใช้เสาอากาศภายในแบบแอคทีฟรุ่น D1A ของยี่ห้อสามารถ (Samart) ซึ่งเป็นเสาอากาศสำหรับดิจิตอลทีวีที่ผมได้ลองใช้งานแล้วรู้สึกประทับใจ

เมนูแรกเมื่อเริ่มใช้งาน
CT-1 เหมือนกล่องรับ DTV ทั่วไปที่ครั้งแรกในการเปิดใช้งาน เมนูบนหน้าจอจะนำพาคุณเข้าสู่การค้นหาช่องสถานีโดยอัตโนมัติ และการตั้งค่าภาษาของเมนูที่จะใช้กับตัวเครื่อง (ผมมักจะตั้งเป็นภาษาอังกฤษเพราะงงกับคำศัพท์เทคนิคเวลาที่แปลเป็นภาษาไทย)

ระหว่างการค้นหาช่องสถานีอัตโนมัติ บนหน้าจอจะมีแถบแสดงความคืบหน้าของการค้นหา และช่องสถานีที่ค้นพบแล้วปรากฏขึ้นมา เมนูและการใช้งานในภาพรวมถือว่าทำความเข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับกล่องรับสัญญาณดาวเทียมหรือกล่องเล่นไฟล์หนังประเภท media box อยู่แล้ว เรียกว่าใช้โดยไม่ต้องอ่านคู่มือเลยก็ยังพอไหว การเข้าถึงเมนูต่างๆ ถือว่ามีความรวดเร็วพอสมควร กดแล้วไม่ต้องรอกันนาน ยกเว้นตอนเปิดเครื่องที่ต้องใช้เวลาบูตอยู่ราว 15-20 วินาที ก่อนจะเริ่มใช้งานได้ การค้นหาช่องสถานีอัตโนมัติใช้เวลาพอสมควร ซึ่งก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ถ้าไม่เทียบกับกล่องที่ทำงานในส่วนนี้ได้เร็วกว่าอย่าง Soken DB-234

ขณะค้นหาช่องแบบอัตโนมัติ
เมนูหลักที่แนะนำให้เข้าไปปรับตั้งได้แก่เมนูปรับภาพที่รองรับรายละเอียดสูงสุดถึงระดับ Full HD (1080p 50Hz) และสัดส่วนหน้าจอที่มีให้เลือกทั้ง wide screen 16:9, 4:3 และโหมดอื่นๆ ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ในเครื่องเล่นดีวีดี, เครื่องเล่นบลูเรย์หรือเครื่องเล่นประเภท media box

ในการใช้งานช่วงแรกเมนูที่คุณอาจจะได้ใช้งานบ่อยเป็นพิเศษก็คือ 'Channel Search' ที่สามารถใช้ค้นหาช่องแบบอัตโนมัติเหมือนครั้งแรกที่เปิดใช้งาน หรือค้นหาแบบ manual ในกรณีที่รับบางสถานีไม่ได้ คุณก็แค่เข้ามาในโหมดนี้แล้วป้อนค่าช่องหรือความถี่สถานีแล้วไปปรับเสาอากาศจนกว่าจะแถบแสดงความเข้มและคุณภาพของสัญญาณจะอยู่ในเกณฑ์ที่รับสัญญาณได้ (มากกว่า 20-30 และไม่วูบวาบ)
เมนูในส่วนของการค้นหาช่อง

เมนูสำคัญอีกส่วนคือ 'System' ที่คุณสามารถเข้าไปดูค่าพื้นฐานของตัวเครื่อง รวมทั้งเป็นช่องการเข้าถึงระบบอัพเดตเฟิร์มแวร์ด้วยครับ สำหรับเมนูในส่วนของการเล่นมีเดียไฟล์ ฟังก์ชัน PVR และ Timeshift จะพูดถึงอีกครั้งในหัวข้อ 'การใช้งานช่อง USB'


การรับชมดิจิตอลทีวี
ดิจิตอลทีวีของประเทศไทย ณ วันที่ผมเขียนรีวิวอยู่นี้สามารถรับช่องสถานีได้สูงสุด 38 ช่อง ซึ่ง CT-1 กับเสาอากาศ D1A ก็สามารถรับสัญญาณได้ครบทุกช่อง ระบบดิจิตอลทีวีนั้นแตกต่างจากอะนาล็อกทีวีแบบเดิม ภาพที่ปรากฏกับช่องสถานีที่สามารถรับสัญญาณได้จะปราศจากสัญญาณรบกวนประเภทภาพเหลื่อมซ้อน หรือ noise ที่เป็นลักษณะจุดหรือเป็นขีดซ่าๆ บนจอภาพ ส่วนเรื่องของความคมชัดนั้นยังไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับประเภทของช่อง (SD หรือ HD) และคุณภาพของคอนเทนต์เอง ซึ่งยังพบว่ามีความแตกต่างกันมากแม้แต่ช่องที่เป็น HD แต่ละรายการก็ยังให้คุณภาพของภาพและเสียงที่แตกต่างอยู่พอสมควร นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกได้จากการรับชมดิจิตอลทีวีของไทยผ่านกล่อง CT-1

ช่องรายการที่แสดงขึ้นมาเมื่อกดปุ่ม OK 
ตัวอย่างภาพจากช่อง 7 HD
ตัวอย่างภาพจาก ThairathTV

การรับชมดิจิตอลทีวีกับกล่องรุ่นนี้ให้ประสบการณ์ที่ทั้งเหมือนและไม่เหมือนการรับชมจากกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ที่เหมือนคือการสั่งงานฟังก์ชันต่างๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนช่องที่สามารถทำได้ทั้งการเลื่อนไปทีละช่อง กดปุ่มเลขช่องโดยตรงหรือกดเรียกรายชื่อช่องที่รับสัญญาณได้ขึ้นมาดูบนหน้าจอ, การปรับเพิ่ม-ลดความดังเสียง, การเรียกเมนู Audio ขึ้นมาเพื่อเลือกระบบเสียง, การกด Info เพื่อดูรายละเอียดของการรับสัญญาณช่องนั้นๆ ตลอดจนการเรียกดูผังรายการทีวี (EPG) ของช่อง ที่ทำให้ทราบว่าหลายๆ ช่องยังไม่มีความพร้อมในส่วนนี้

ช่องดิจิตอลทีวีที่ผมได้รับชมผ่านกล่องรุ่นนี้แล้วรู้สึกว่าให้ค่าเฉลี่ยคุณภาพของภาพและเสียงค่อนข้างดีได้แก่ ไทยรัฐทีวี, ช่อง 7 HD, PPTV, One HD และ ThaiPBS HD สำหรับช่อง MCOT HD นั้นโดยส่วนใหญ่ให้ภาพที่รู้สึกได้เลยว่าไม่เป็น HD สมชื่อยกเว้นเวลาเขาถ่ายทอดสดรายการแข่งรถระดับนานาชาติหรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีก จึงได้รับชมภาพได้สมกับเป็นช่อง HD จริงๆ

เมนูเลือกระบบเสียงใน CT-1

สรุปเฉพาะในส่วนที่เกียวข้องกับการรับชมดิจิตอลทีวีในประเทศไทย ณ เวลานี้ ผมคิดว่ากล่องรุ่นนี้ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาอะไร ตัวเครื่องสามารถเปิดติดต่อกันได้เป็นเวลานานหลายชั่วโมงโดยมีความร้อนสะสมที่ตัวเครื่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะแยกภาคจ่ายไฟเอาไว้นอกเครื่อง การที่ตัวเครื่องไม่มีจอแสดงผลใดๆ ที่หน้าเครื่อง ส่วนตัวแล้วผมไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา เพราะผมมักจะเปลี่ยนช่องรายการโดยการกดดูรายชื่อช่องบนหน้าจออยู่แล้ว ความไวในการรับสัญญาณจากรีโมตทำได้ค่อนข้างดี ไม่ต้องถึงกับเล็งรีโมตไปให้ตรงหน้าเครื่องก็สามารถสั่งงานได้ การจัดเรียงช่องสถานีสามารถทำได้ถูกต้องตามการกำหนดของ กสทช. (เปิดฟังก์ชัน LCN)

LCN ย่อมาจากคำเต็มว่า Logical Channel Number หมายถึง หมายเลขช่องที่ได้ถูกกำหนดไว้จากแม่ข่ายกระจายสัญญาณ หรือหมายเลขช่องที่ได้ถูกกำหนดไว้ตามประกาศของกสทช.ซึ่งจะใช้เหมือนกันทั่วประเทศ ต่างจากระบบอะนาล็อกทีวีแบบเดิมที่เมื่อเราทำ auto search หรือ auto scan คลื่นความถี่ของช่องใดที่ค้นพบก่อนก็จะได้หมายเลขก่อนตามลำดับความถี่ที่ค้นพบ



การใช้งานช่อง USB
เมนูเล่นไฟล์มีเดีย
ช่อง USB ในกล่องรุ่นนี้ สามารถใช้งานได้กับทั้งอุปกรณ์ storage ที่ฟอร์แมตเป็น FAT32 และ NTFS ใช้งานได้ทั้งกับ Flash Drive (Thumb Drive หรือ SD ที่เสียบกับ reader) และ External HDD (Hard Disc Drive) ในโหมดเล่นไฟล์มีเดียสามารถเข้าถึงได้โดยการเข้าไปในเมนูหลักของเครื่องแล้วเข้าไปที่เมนู USB > Multimedia ไฟล์มีเดียที่เล่นได้มีทั้งไฟล์ภาพนิ่ง วิดีโอและเสียง ซึ่งไฟล์ที่สามารถเล่นได้ส่วนใหญ่ก็เป็นไฟล์ฟอร์แมตยอดนิยมทั่วไปล่ะครับ เล่นได้แม้แต่ไฟล์ .mkv หรือไฟล์ .vob ที่ริบมาจากแผ่นดีวีดี

เมนูตั้งค่าความจุสำหรับ Timeshift
ทว่าการใช้งานในโหมด media player นี้อย่าได้คาดหวังอะไรมากนะครับ เพราะเท่าที่ได้ลองเล่นผมว่ามันยังสู้เครื่องเล่นประเภท media box สายพันธุ์แท้ไม่ได้ ทั้งเรื่องของคุณภาพภาพและเสียง การรองรับไฟล์เสียงที่แนบมากับวิดีโอ หรือการรองรับซับไตเติล ที่ยังทำได้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และให้ประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจเอาเสียเลย

ประโยชน์แท้จริงที่ผมรู้สึกได้กับช่อง USB ในกล่องตัวนี้คือฟังก์ชัน บันทึกรายการทีวี (PVR) และ Timeshift มากกว่าครับ สำหรับการใช้งานฟังก์ชัน PVR การใช้งานก็ตรงไปตรงมาครับ ขณะรับชมอยากบันทึกรายการไหนเอาไว้ก็กดปุ่ม Record (ปุ่มจุดสีแดงบนพื้นสีเทาที่รีโมต) เครื่องเริ่มบันทึกรายการลง storage ที่เราต่อไว้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสั่งหยุดโดยการกดปุ่ม Stop (ปุ่มสี่เหลี่ยมสีขาวบนพื้นสีเทาที่รีโมต)

ไฟล์ที่บันทึกไว้จะอยู่ใน Folder ชื่อ 'HBPVR' มีนามสกุลไฟล์เป็น .mts (สามารถนำไปเล่นได้ในคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมอย่าง PotPlayer หรือ VLC หรือจะเล่นจากตัวกล่องเองก็ได้)  และจะถูกตั้งชื่อไฟล์เป็นฟอร์แมตดังนี้ 'ชื่อช่อง - วันที่บันทึก - เวลาที่บันทึก.mts' เช่น 'ThairathTV_HD_ON_MCOT-05252014-1448.mts' หรือ 'Workpoint_TV-05252014-1451.mts' เป็นต้น

ไฟล์วิดีโอที่บันทึกไว้จะมีคุณสมบัติของภาพและเสียงตามคุณภาพของรายการนั้นๆ เช่น ถ้าบันทึกจากช่อง SD หรือ HD ไฟล์ที่บันทึกมาก็เป็น SD หรือ HD ตามลำดับ เสียงก็เช่นกันกรณีที่ผมบันทึกจากช่องไทยรัฐทีวีที่ปล่อยสัญญาณ Dolby Digital ด้วย และเลือกเสียงในขณะรับชมและบันทึกเป็น Dolby Digital ไฟล์วิดีโอที่ PVR บันทึกมาได้ก็จะมีเสียงเป็น Dolby Digital ด้วยครับ

และถ้าจะให้ได้ไฟล์คุณภาพดี ผมแนะนำให้คุณใช้ External HDD ที่ภายในเป็น HDD แบบไฮสปีด 5400-7200rpm มีภาคจ่ายไฟของตัวเองได้ยิ่งดีมาต่อกับช่อง USB ของกล่อง เพราะไดร์ฟพวกนี้จะมี transfer rate ที่สูงพอสำหรับวิดีโอ HD การบันทึกรายการเป็นไฟล์จะราบรื่นและได้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า Thumbdrive ทั่วไป

ผมลองบันทึกรายการทีวี 3 ช่องเป็นเวลา 10 นาที เพื่อดูขนาดของไฟล์
- ช่องแรกเป็น ThairathTV HD เลือกระบบเสียง Dolby Digital ขนาดไฟล์ 469 MB
- ช่องที่สองเป็น 3 HD ระบบเสียงสเตริโอ ขนาดไฟล์ 413 MB
- ช่องที่สามเป็น Workpoint TV SD ระบบเสียงสเตริโอ ขนาดไฟล์ 109 MB

ในกรณีที่จะบันทึกเป็นเวลานานก็อย่าลืมคำนวณขนาดของฮาร์ดดิสก์เผื่อให้พอกับความจุของไฟล์ด้วยนะครับ จะได้ไม่มีปัญหาในระหว่างการบันทึก

ในระหว่างการบันทึกคุณสามารถเปลี่ยนไปรับชมช่องอื่นได้ด้วยนะครับ แต่ต้องเป็นช่องที่อยู่ใน MUX เดียวกันเท่านั้น ระหว่างนั้นบนหน้าจอก็จะมีกรอบเล็กๆ บอกช่องที่เราบันทึกรายการอยู่และเวลาที่ใช้บันทึกไปแล้ว แต่ถ้าหากเปลี่ยนช่องที่อยู่คนละ MUX บนหน้าจอเป็นแบคกราวน์สีพื้น มีคำว่า RECORD อยู่กลางจอ พร้อมทั้งกรอบที่บอกรายละเอียดการบันทึกดังกล่าว

ผมได้ลองบันทึกรายการจากช่อง HD เป็นคลิปสั้นๆ แล้วอัพโหลดไว้ที่ YouTube คุณสามารถเข้าไปลองชมได้ที่ PPTV HD sample file  และ ThairathTV_HD sample file อย่าลืมเลือกไปที่ 1080p HD จะเห็นว่ามีความคมชัดมากกว่าระบบอะนาล็อกทีวีเดิมมากจริงๆ ครับ

หน้าจอระหว่างใช้งานฟังก์ชัน Timeshift

สำหรับฟังก์ชัน Timeshift ผมจะไม่อธิบายอะไรมากนอกจากบอกว่ากล่องรุ่นนี้ออกแบบให้คุณตั้งความจุของ Timeshift ได้สูงสุด 4GB และสามารถใช้งานได้จริง สำหรับรายละเอียดของฟังก์ชันนี้คุณสามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ 'Timeshift ฟังก์ชันหยุดเวลา ... ดูรายการทีวีได้เหมือนเปิดดูจากแผ่น'



ระบบตั้งเวลาเปิด-ปิดเพื่อรับชมหรือบันทึกรายการล่วงหน้าอัตโนมัติ
กล่องรุ่นนี้นอกจากที่เราจะใช้งานมันไปตามปกติแล้ว เรายังสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดเครื่องล่วงหน้า เพื่อเพื่อรับชมรายการหรือเพื่อบันทึกรายการโดยใช้งานร่วมกับฟังก์ชัน PVR บันทึกผ่าน USB แบบอัตโนมัติได้ด้วยครับ แต่เมนูที่จะเข้าถึงการใช้งานในส่วนนี้อาจจะซับซ้อนเล็กน้อย เพราะทีแรกผมหามันไม่เจอครับ ในคู่มือก็ไม่ได้บอกรายละเอียดเอาไว้ให้เข้าใจง่าย



การเข้าถึงเมนูนี้ให้เข้าไปที่ Menu > Program > EPG จากนั้นกดปุ่มสีแดง เข้าไปในหน้า Schedule แล้วกดปุ่มสีแดงอีกครั้งเพื่อเพิ่มโปรแกรมเข้าไป (Event Add) ในหน้า 'Event Add' คุณสามารถเลือกช่องรายการที่จะให้ทำงานเป็นอัตโนมัติ, ตั้งค่าวันและเวลาในการเริ่มเปิดและปิดการทำงาน, โหมดให้ทำซ้ำหรือเฉพาะครั้ง (Once / Daily / Weekly) และโหมดเปิดรับชมหรือให้บันทึก (View / Record) การใช้งานในโหมดนี้ต้องไม่ลืมด้วยครับว่าต้องตั้งเวลาของตัวกล่องให้ตรงกับความเป็นจริงด้วย โดยเข้าไปที่ Menu > Time > Time Offset เลือกเป็น Auto



สรุป : DTV Set-Top-Box คุณภาพคุ้มค่า ราคาเบาๆ
สรุปคุณสมบัติและความน่าใช้ของ Createch CT-1 ส่วนตัวผมให้คะแนนไปที่การรับชมดิจิตอลทีวีมากที่สุดครับ รวมถึงในส่วนของการบันทึกรายการจากฟังก์ชัน PVR และ Timeshift ด้วย คุณสมบัติตรงนี้ กับเนื้องานผลิตอย่างนี้และที่ราคา 1,190 บาท (ซื้อที่ Power Buy) ผมถือว่าคุ้มค่าการลงทุนครับ

การ support หลังการขายอยู่ในระดับน่าพอใจ เพราะมีทั้ง call center และ Facebook Page เอาไว้คอยบริการ การตอบปัญหาถือว่าไม่ได้ล่าช้าจนเกินควร แม้ว่า call center บางครั้งจะโทรติดยากบ้างก็ตาม คาดว่าน่าจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ในอนาคต

แต่ถ้าคุณตั้งใจจะซื้อมันมาเล่นไฟล์หนังเป็นหลัก บอกได้เลยว่าต้องผิดหวัง ไปหา media box มีเกรดมีหัวนอนปลายเท้าที่ถนัดงานตรงนี้โดยตรงเลยจะดีกว่าครับ รับรองว่าใช้งานได้ราบรื่น ไม่หงุดหงิดใจแน่นอน แต่นี่ไม่ใช่งานถนัดของกล่อง CT-1 ครับ

.........................................

บทความแนะนำให้อ่านประกอบรีวิวนี้
อภิธานศัพท์เกี่ยวกับดิจิตอลทีวี (ฉบับผู้ใช้งาน)



เก็บตกภาพประกอบรีวิว Createch CT-1

หน้าตารีโมตคอนโทรลแบบชัดๆ

Made in Thailand


แผงวงจรใน Createch CT-1


เมนูตั้งค่าระบบของเครื่อง


เมนูตั้งค่าส่วนที่เกี่ยวกับระบบภาพ

กดปุ่ม Info แสดงรายละเอียดของช่องสัญญาณ
และคุณภาพการรับสัญญาณ

ฟังก์ชันแสดงผังรายการทีวีใน CT-1

เฟิร์มแวร์กล่องที่ทำการรีวิว