วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ติดตั้งและเซ็ตอัพดิจิตอลทีวี... ทำเองก็ได้ง่ายจัง


ปัญหาหนึ่งของคนที่ยังลังเลว่าจะเริ่มลงทุนเพื่อดูดิจิตอลทีวีได้หรือยัง เท่าที่ผมคุยมาคือเรื่องของการติดตั้งและเซ็ตอัพ หลายคนกลัวว่ามันจะยาก แต่ที่จริงแล้วมันง่ายมากครับ คุณก็ทำเองได้ ไม่เชื่อลองดูตามบทความนี้สิครับ


STEP 1. การเชื่อมต่อระบบ
กล่อง DTV STB สำหรับทีวีที่รับ
ดิจิตอลทีวีโดยตรงไม่ได้
ถ้าคุณใช้ทีวีที่สามารถรับสัญญาณดิจิตอลทีวีได้ในตัวหรือ iDTV การเชื่อมต่อระบบเพื่อดูดิจิตอลทีวีนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าการเสียบสายสัญญาณของเสาอากาศเข้าที่ขั้วต่อเสาอากาศ (RF IN) ด้านหลังทีวี

สำหรับคนที่ใช้กล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี (DTV STB) อาจจะมีงานต้องทำเพิ่มมากกว่าอีก 1 ขั้นตอน นอกจากการเสียบสายสัญญาณของเสาอากาศเข้าที่ขั้วต่อเสาอากาศ (RF IN) ด้านหลังกล่องนั่นคือการต่อสัญญาณเอาต์พุตจากกล่องไปยังทีวี

กล่อง DTV STB ทุกรุ่นที่ได้รับการรับรองจาก กสทช. จะมีขั้วต่อสัญญาณภาพและเสียงแบบ HDMI และ AV Out มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ถ้าทีวีของคุณมีอินพุต HDMI ต่อสาย HDMI ไปเส้นเดียวก็เรียบร้อยครับเชื่อมต่อถึงกันแล้วทั้งภาพและเสียง

แต่ถ้าทีวีของคุณไม่มีอินพุต HDMI คุณจำเป็นต้องต่อสายสัญญาณภาพและเสียงจากช่อง AV Out ออกไปเข้าที่อินพุต AV ของทีวี
ขั้วต่อมาตรฐานในกล่อง DTV STB

ใครที่จะต่อผ่านชุดเครื่องเสียงโฮมเธียเตอร์ประเภทเอวีรีซีฟเวอร์แนะนำให้ใช้เอวีรีซีฟเวอร์รุ่นใหม่ที่มีอินพุต HDMI แต่ถ้าเป็นรุ่นเก่าที่รับสัญญาณดิจิตอลทางช่อง Coaxial อาจจะมีข้อจำกัดมากสักหน่อยเพราะกล่อง DTV STB เพียงบางรุ่นเท่านั้นที่มีขั้วต่อเอาต์พุตสัญญาณเสียงแบบ Coaxial เช่น Aconatic รุ่น AN-2301T2 หรือ Soken รุ่น DB-231



STEP 2. เมนูการปรับตั้งพื้นฐาน
สำหรับการปรับตั้งพื้นฐานใน iDTV นั้นในภาพรวมจะไม่มีอะไรมากเนื่องจากตัวจูนเนอร์ DVB-T2 นั้นถูกออกแบบมาให้แมตช์กับตัวทีวีเองตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว แต่สำหรับกล่อง DTV STB อาจจะมีส่วนที่ต้องปรับตั้งให้เหมาะสมกับทีวีที่ต่อใช้งานด้วย รูปแบบของการปรับตั้งพื้นฐานก็ไม่มีอะไรมากครับ เพราะใกล้เคียงกับปรับตั้งเมนูในเครื่องเล่นบลูเรย์, เครื่องเล่นดีวีดี, เครื่องเล่นประเภท media player หรือกล่องรับสัญญาณดาวเทียมทั่วไป เช่น การปรับค่าสัญญาณภาพและเสียงที่จะส่งออกไปทางเอาต์พุต

เมนูส่วนตั้งค่ารายละเอียดภาพที่จะส่งไปให้ทีวี
ถ้าเป็นทีวี FULL HD ตั้งไว้ที่ 1080i หรือ 1080p
ถ้าเป็นทีวีจอแก้วรุ่นเก่าตั้งไว้ที่ 576i หรือ 576p ครับ

เมนูส่วนตั้งค่าสัดส่วนจอภาพ
ถ้าใช้ TV แบบ wide screen ตั้งไว้ที่ 16:9
ถ้าใช้ TV แบบหน้าจอธรรมดา ไม่ใช่จอไวด์
ตั้งไว้ที่ 4:3PS (Pan & Scan) หรือ 4:3LB (Letter Box)

ถ้าคุณใช้เสาอากาศแบบแอคทีฟ
อย่าลืมเปิดไฟเลี้ยงเสาด้วยนะครับ

หลักๆ แล้วก็มีตั้งแต่ระบบภาษาที่ใช้แสดงผลบนหน้าจอ (On Screen Display, OSD) จนถึงการตั้งค่าเอาต์พุตรายละเอียดของภาพให้เข้ากับทีวี สัดส่วนของภาพให้เข้ากับหน้าจอทีวี ถ้าเป็น LCD TV หรือ LED TV เลือกไว้ที่ 1080p / 16:9 ได้เลยครับ สำหรับการปล่อยสัญญาณเสียงจากล่องออกไปยังทีวีถ้าต่อเข้าจอทีวีโดยตรงให้เลือกเอาไว้ที่ LPCM หรือ PCM ก็ได้ครับ

ในระบบดิจิตอลทีวีอาจมีเมนูบางหัวข้อที่คุณจำเป็นต้องให้ความสำคัญเพิ่มเติม เช่น การตั้งเวลาให้กับกล่อง DTV STB เพื่อให้สอดคล้องกับระบบแสดงรายการทีวีล่วงหน้า (Electronic Program Guide, EPG) หรือระบบแสดงเลขช่องตามที่ กสทช. ได้กำหนดไว้ (Logical Channel Numbers, LCN) ค่าเหล่านี้ให้เปิดใช้งาน (ON) ไว้ให้หมดครับ


STEP 3. การจูนหาคลื่นและช่องสถานีดิจิตอลทีวี
การจูนหาคลื่นและช่องสถานีดิจิตอลทีวีสามารถทำได้จากการเข้าที่เมนูค้นหาช่องสถานีของ iDTV หรือ DTV STB โดยเฉพาะ DTV STB ครั้งแรกที่เปิดเครื่องเมนูนี้จะแสดงก่อนเป็นลำดับแรก คุณสามารถเริ่มจูนคลื่นและสถานีได้ตั้งแต่ตอนนั้นเลยหรือจะเข้าไปในเมนูค้นหาช่องในภายหลังก็ได้


DTV STB เกือบทุกรุ่น ถ้าเปิดใช้งานเป็นครั้งแรก
เมนูหลักจะพาเข้าสู่การค้นหาช่องรายการแบบค้นหาอัตโนมัติ

หลังจากการเปิดใช้งานครั้งแรก เราสามารถเข้าไป
ค้นหาช่องสถานีได้เองในภายหลังโดยเข้าไปที่เมนูหลัก
แล้วเลือก Auto Scan หรือ Manual Scan ได้เอง

การจูนหาคลื่นและช่องสถานีดิจิตอลทีวี แนะนำให้ใช้ฟังก์ชันค้นหาอัตโนมัติ (auto search) ก่อนเป็นลำดับแรก เครื่องจะทำการค้นหาช่องสถานีทั้งหมดที่มีให้โดยอัตโนมัติ ซึ่ง ณ เวลาปัจจุบันที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น (เดือนพฤษภาคม 2557) ระบบดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะค้นหาสถานีได้สูงสุด 38 สถานี จากผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) จำนวนทั้งหมด 5 MUX ได้แก่

- MUX1 PRD ที่ช่องความถี่ 26 ความถี่ 514 MHz
- MUX2 TV5mux2 ช่องความถี่ 36 ความถี่ 594 MHz
- MUX3 MCOT ช่องความถี่ 40 ความถี่ 626 MHz
- MUX4 TPBS ช่องความถี่ 44 ความถี่ 658 MHz
- MUX5 TV5mux5 ช่องความถี่ 52 ความถี่ 722 MHz


การค้นหาช่องดิจิตอลทีวีด้วยระบบอัตโนมัติ

ถ้าหากคุณไม่สามารถรับสัญญาณได้ครบทุกสถานี มีความเป็นไปได้ 2 กรณีคือ

1.เกิดปัญหาที่ผู้ให้บริการโครงข่าย
2.เสาอากาศรับสัญญาณได้ไม่ดีพอ ซึ่งโดยมากจะเป็นในกรณีหลัง วิธีแก้ไขคือให้เข้าไปที่การเมนูค้นหาช่องอีกครั้งโดยเข้าไปที่เมนูค้นหาด้วยตัวเอง (manual search) แทนที่จะเป็น auto search จากนั้นให้ป้อนช่องความถี่ของผู้ให้บริการโครงข่ายที่เราไม่สามารถรับสัญญาณได้เข้าไปเพื่อดูระดับของสัญญาณที่รับได้

ระดับของสัญญาณที่ภาครับ DVB-T2 รับได้จะแสดงผลเป็นแถบแสดงสัญญาณ 2 ส่วนด้วยกันนั่นคือ

- ความเข้มสัญญาณ (strength บ้างก็ใช้คำว่า intensity)
- คุณภาพสัญญาณ (quality)

โดยทั่วไปทั้ง 2 ค่านี้จำเป็นต้องมีระดับที่สูงเกินกว่า 1-2 ใน 3 ส่วนและมีเสถียรภาพที่ดีคือ นิ่ง ไม่วูบวาบไปมา ภาครับจึงจะตีค่าว่าสามารถรับสัญญาณได้

ความแตกต่างของความเข้มสัญญาณ (strength) และคุณภาพสัญญาณ (quality)  คือ ความเข้มจะบอกระดับความเข้มของสัญญาณที่ภาครับตรวจจับได้ ส่วนคุณภาพจะเป็นตัวบอกว่าสัญญาณที่ภาครับตรวจจับได้นั้นมีคุณภาพของสัญญาณมากน้อยเพียงใด

นั่นเป็นเพราะว่ากว่าที่สัญญาณเดินทางออกจากเสาส่งมายังเสาอากาศของเรานั้นต้องผ่านการถูกบดบังด้วยสิ่งกีดขวางต่างๆ ทำให้สัญญาณนั้นอ่อนกำลังลง หรือถูกสะท้อน เบี่ยงเบน หรือถูกรบกวนจนทำให้มันผิดเพี้ยนไปจากสัญญาณต้นทางได้ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้จะมีผลโดยตรงกับคุณภาพของสัญญาณ (quality)

ดังนั้นถ้าเสาอากาศรับสัญญาณมาได้ด้วยคุณภาพที่ต่ำ (low quality) หรือมีลักษณะของคุณภาพที่วูบวาบขึ้นๆ ลงๆ ถึงเราจะพยายามใช้วงจรบูสเตอร์เพิ่มเกนขยายสัญญาณเพื่อเพิ่มความเข้ม (strength) ของสัญญาณให้มากขึ้นสักเท่าไรก็เปล่าประโยชน์ เพราะสัญญาณที่ได้มานั้นก็ยังเป็นสัญญาณความเข้มสูงที่มีคุณภาพต่ำอยู่ดี

เมนู Manual Scan ใช้ในเวลาที่รับช่องได้ไม่ครบ
เข้าเมนูนี้แล้วใส่ช่องหรือความถี่ของ MUX เข้าไป
แล้วปรับตำแหน่งเสาอากาศจนกว่ารับสัญญาณได้ดี

ดังนั้นถ้าหากว่ายังไม่สามารถรับสัญญาณของผู้ให้บริการโครงข่ายใดได้ ให้เข้าไปที่ manual scan แล้วปรับตำแหน่งของเสาอากาศ จนกว่าจะได้ความเข้มและคุณภาพของสัญญาณในระดับที่ดีพอ (ส่วนมากจะได้มาด้วยกัน) ถ้าเป็นเสาอากาศภายนอกส่วนมากผู้ผลิตจะแนะนำให้กันเสาอากาศไปยังทิศของสถานีส่ง และตั้งเสาให้สูงเพื่อลดการถูกบดบัง

ขณะที่เสาอากาศแบบในอาคารก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบธรรมดาหรือระบบแอคทีฟ การขยับหาตำแหน่งและทิศทางของเสาอากาศสำคัญมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  ... ต่อผลการรับสัญญาณ การเปลี่ยนตำแหน่งเพียงแค่ไม่กี่นิ้ว หรือหมุนหาทิศทางเพียงไม่กี่องศา ก็มีผลต่อคุณภาพการรับสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าเสาอากาศที่ใช้จะเป็นแบบแอคทีฟที่มีเกนขยายในตัวแล้วก็ตาม

สำหรับคนที่พักอาศัยอยู่บนที่สูงประเภทคอนโดฯ ไม่ห่างไกลจากตัวเมืองซึ่งมักจะเป็นตำแหน่งของสถานีส่ง และไม่ถูกล้อมด้วยตึกที่สูงกว่าจะค่อนข้างได้เปรียบครับ ตัวอย่างเช่น ที่ออฟฟิศของ GM2000 ซึ่งอยู่บนชั้น 4 ของอาคารจีเอ็มกรุ๊ป เขตดุสิต หลังจากหมุนหาตำแหน่งเพียงครู่เดียวผมก็สามารถรับดิจิตอลทีวีได้ครบทั้ง 38 ช่องโดยอาศัยเพียงแค่เสาหนวดกุ้งราคาถูกๆ เท่านั้นเองครับ

แต่จากการทดสอบที่บ้านของบุคคลในกองบรรณาธิการซึ่งเป็นบ้านทาวเฮาส์ 2 ชั้นทั่วไปทั้งในบริเวณชานเมือง เสาหนวดกุ้งราคาถูกนั้นแทบไม่สามารถรับสัญญาณได้เลย ต้องใช้เสาอากาศในอาคารแบบแอคทีฟคุณภาพดีอย่างเช่น SAMART D1A จึงจะสามารถรับได้ครบทุกสถานี (แนะนำให้วางสูงและหมุนหาทิศที่รับสัญญาณได้ดี)

.............................................

เพื่อความเข้าใจคำศัพท์ต่างๆ ในบทความนี้มากขึ้น แนะนำให้คุณคลิ้กเข้าไปอ่านที่ บทความนี้ ประกอบด้วยนะครับ

ไม่พลาดทุกบทความ อัพเดตทุกข่าวสาร และรีวิว เข้าไปกด Like ที่แฟนเพจ Live With Tech ได้นะครับ :)