วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ดิจิตอลทีวี ดียังไง ?

แต่ก่อนแต่ไรมาระบบการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินของประเทศไทยนั้นเป็นระบบอะนาล็อก หมายความว่าสัญญาณภาพและเสียงจากสถานีส่งจะถูกนำไป modulate หรือรวมเข้ากับสัญญาณพาห์ที่ความถี่ต่างๆ (ความถี่ละช่อง 3, 5, 7, 9...) เช่นเดียวกับสัญญาณวิทยุ AM/FM แต่ระบบการออกอากาศของทีวีจะอาศัยความถี่ในย่านกว้างคือครอบคลุมตั้งแต่ LHF, VHF และ UHF (สิ้นเปลือง) ในส่วนการรับสัญญาณที่เครื่องรับไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือวิทยุก็จะต้องมีเสาอากาศเป็นตัวคอยดักจับคลื่นความถี่พาห์ที่ส่งมา จากนั้นเราก็ค่อยไปจูนที่ตัวเครื่องอีกทีว่าจะให้รับสัญญาณความถี่ของช่องสถานีใด แล้วก็ตั้ง preset เอาไว้ ในโทรทัศน์นั้นที่เราเรียงช่องเป็น 3, 5, 7, 9, ... เพราะว่าระบบการจูนคลื่นอัตโนมัติมันจะเรียงจากความถี่พาห์ที่มีความถี่ต่ำกว่าไปเรื่อยๆ เราจึงเจอช่อง 3 ก่อน เพราะว่าสมัยก่อนช่อง 3 ใช้ความถี่พาห์ต่ำกว่าเพื่อนคือย่าน UHF ใครเคยจูนทีวีรุ่นเก่าๆ เองคงทราบดี ภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้ UHF


ระบบการออกอากาศกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ภาคพื้นดินของบ้านเราเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่ผมเริ่มจำความได้จนถึงวัยทำงาน ตั้งแต่ทีวียังออกอากาศเป็นขาวดำจนมาเป็นทีวีสี ตั้งแต่ทีวีที่บ้านเรายังเป็นจอตู้ใหญ่ๆ จนมาถึงยุคทีวีจอแบน แม้ว่าระบบตัวเครื่องรับทั้งวิทยุและทีวีในปัจจุบันจะพัฒนาไปเป็นระบบดิจิตอลกันหมดแล้ว แต่การออกอากาศกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ภาคพื้นดินของบ้านเราก็ยังเป็นระบบอะนาล็อกที่ใช้กันมานานหลายสิบปี



เนื่องจากระบบอะนาล็อกนั้นถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมได้ง่าย แค่ถูกตึกใหญ่บังหรือสะท้อนผนังอาคารสัญญาณก็วูบวาบไปมา ถูกรบกวนได้ง่าย และเนื่องจากระบบอะนาล็อกนั้นใช้ความถี่พาห์ในย่านกว้าง หากต้องการรับสัญญาณให้ชัดเจนทุกช่องก็จำเป็นต้องใช้เสาอากาศต้นใหญ่มีกิ่งก้านสาขารุงรัง อย่างที่เรารู้จักกันดีว่าเสาแบบก้างปลา และต้องตั้งเสาอากาศไว้ในที่สูง เช่นบนดาดฟ้า เพื่อให้รับได้ชัดๆ ติดตั้งก็ว่ายากแล้วเวลามันเกิดล้มหักเสียหาย การปีนขึ้นไปเซอร์วิสก็สาหัสไม่แพ้กัน


ตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมา จากที่ได้ไปรับทราบข่าวสารมาจากต่างประเทศก็ทำให้ทราบว่าในประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีทั้งหลายนั้นเขาเริ่มเปลี่ยนผ่านระบบการออกอากาศกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ของเขา จากระบบอะนาล็อกมาเป็นระบบดิจิตอลกันหมดแล้ว วิทยุเขาหันไปใช้ระบบ DAB (Digital Audio Broadcasting) ซึ่งในปัจจุบันบ้านเราก็ยังคงไม่มีใช้ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าไม่จำเป็นแล้วกระมังเพราะเทคโนโลยีมันข้ามไปเป็น Internet Radio กันแล้ว


สำหรับระบบการออกอากาศกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์แบบดิจิตอลนั้นมีทั้งระบบที่ออกอากาศทางภาคพื้นดินและทางระบบดาวเทียม ดังนั้นใครที่คิดว่าดิจิตอลทีวีบ้านเรานั้นเพิ่งจะมี คงต้องปรับจูนความเข้าใจเสียใหม่นะครับ เพราะระบบจานดาวเทียมทั้งจานดำ จานทึบ ไม่ว่าจะเป็นสีไหน ที่เห็นมีใช้งานกันเต็มบ้านเต็มเมืองของเรานั้นก็นับว่าเป็นระบบดิจิตอลทีวีเหมือนกันครับ เพียงแต่มันอาศัยการอัพลิงค์สัญญาณให้ขึ้นไปสะท้อนกับดาวเทียม (ไทยคม) ไม่ได้อาศัยระบบการกระจายสัญญาณทางภาคพื้นดิน ด้านภาครับก็แค่ใช้จานดาวเทียมตั้งมุมองศาให้ตรงกันเพื่อให้รับสัญญาณได้ชัดเจนที่สุด สัญญาณที่จานดาวเทียมรับมานั้นจะเป็นสัญญาณดิจิตอลเหมือนกัน และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราจำเป็นต้องมี set top box เพื่อถอดรหัสก่อนต่อเข้าจอทีวีที่บ้าน


ที่จริงแล้วข้อดีของระบบดาวเทียมนั้นมีมากอยู่นะครับ โดยเฉพาะเรื่องของพื้นที่ที่สามารถครอบคลุมได้กว้างมากครอบคลุมได้ทั้งประเทศ ครอบคลุมเลยไปจนถึงเพื่อนบ้านของเราเลยล่ะครับ และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้การออกอากาศบางรายการของเราถูกระงับสัญญาณส่วนที่เป็นดาวเทียมจนเกิดปรากฏการณ์ ‘จอดำ’ ด้วยเหตุผลเรื่องลิขสิทธิ์ที่จำกัดให้รับชมเฉพาะบางพื้นที่นั่นเอง


ใครที่ใช้งานระบบดาวเทียมอยู่คงทราบดีว่าระบบดิจิตอลนั้นดีอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนในการรับสัญญาณ (มีแค่รับได้หรือไม่ได้ ไม่มีภาพล้มหรือภาพมีจุดซ่า), มีจำนวนช่องมากกว่าระบบอะนาล็อกหลายสิบเท่า (แม้ว่าจะหาที่รายการดีๆ ได้แค่ไม่กี่ช่องก็ตาม) หรือจะเป็นเรื่องของระบบภาพความคมชัดสูงที่มีผู้ให้บริการหลายรายแล้ว แต่ต้องไม่ลืมว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ก็ยังคงรับชมช่องที่เป็นฟรีทีวีหลักเดิมๆ แค่ไม่กี่ช่อง มากกว่าช่องอื่นๆ แม้ว่าช่องเหล่านั้นจะถูกรวมเข้ากับระบบดาวเทียมทำให้เราสามารถดูฟรีทีวีทุกช่องได้จากระบบดาวเทียมเช่นกัน แต่ก็เป็นเพียงแค่การมัดรวมสัญญาณจากทีวีอะนาล็อกซึ่งความคมชัดของภาพและเสียงก็ยังทำได้แค่เท่าที่ระบบอะนาล็อกจะทำได้


สำหรับข้อเสียของระบบดาวเทียมนั้นเชื่อว่าหลายคนทราบดีอยู่แล้วว่าระบบนี้กลัวฟ้าปิดมาก เพราะการส่งสัญญาณจำเป็นต้องอาศัยการสะท้อนจากดาวเทียมซึ่งอยู่นอกชั้นบรรยากาศโลกดังนั้นถ้าวันไหนฟ้าปิด ฟ้ามืดครึ้มฝนตก จานดาวเทียมโดยเฉพาะจานทึบใบเล็กๆ เตรียมใจไว้ได้เลยว่าอาจจะอดดู ส่วนใครที่ใช้จานดำใบใหญ่อาจจะเจอปัญหานี้น้อยกว่า แต่ก็มีปัญหาเช่นกัน หรือถ้าเป็นระบบทีวีในรถยนต์หากเข้าที่ร่มหรือชั้นใต้ดินก็หมดสิทธิ์รับชมระบบดาวเทียมด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เช่นกัน


ทีนี้ก็มาถึงพระเอกของเราแล้วล่ะครับระบบ ‘ดิจิตอลทีวี’ ที่ทางกสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายเพิ่งทำคลอดเป็นรูปเป็นร่างออกมาเมื่อไม่นานนี้ การมาของดิจิตอลทีวีที่กำลังเป็นที่ฮือฮากันอยู่ในปัจจุบันขอให้เข้าใจตรงกันนะครับว่าหมายถึง ระบบการออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิตอลทาง ‘ภาคพื้นดิน’ ซึ่งอาศัยการกระจายสัญญาณทางแนวระนาบเช่นเดียวกับสัญญาณวิทยุ AM/FM หรือระบบเก่าที่เป็นอะนาล็อกนะครับ เพียงแต่ตอนนี้สัญญาณที่ส่งออกมาจะเป็นสัญญาณดิจิตอลซึ่งมีข้อดี ข้อได้เปรียบมากกว่าระบบอะนาล็อกมากมายหลายประการคล้ายกับระบบดาวเทียม โดยเฉพาะเรื่องของจำนวนช่องที่มากกว่าระบบอะนาล็อกหลายเท่าเนื่องจากระบบดิจิตอลสามารถบริหารจัดการแบนด์วิดธ์หรือช่องสัญญาณได้ง่ายกว่าระบบอะนาล็อกด้วยเทคนิคมัลติเพลกซิ่ง (สลับกันส่งสัญญาณ) ทำให้มันมี ‘ช่องว่าง’ เหลือมากพอสำหรับออกอากาศสัญญาณที่มีคุณภาพสูงได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นระบบภาพหรือระบบเสียง หลายช่องจึงเลือกออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง (High Definition, HD) และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตอาจจะสามารถออกอากาศระบบเสียงเซอร์ราวน์ทางฟรีทีวีได้ด้วยครับ ผมเห็นบางช่องอย่างเช่น ไทยรัฐทีวี เขาทดลองอยู่นะครับ


นอกจากข้อดีต่างๆ ทางด้านเทคนิคแล้ว การมาของ ‘ดิจิตอลทีวี’ ในบ้านเรา ยังช่วยลดปัญหาการผูกขาดของฟรีทีวีในปัจจุบันเนื่องจากมีจำนวนช่องที่มากถึง 48 ช่อง ทำให้มีการแข่งขันระหว่างช่องมากขึ้น คนดูฟรีทีวีมีทางเลือกมาขึ้น มีโอกาสได้ดูรายการดีๆ มากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งระบบดาวเทียมที่อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเสมอไป


ดังนั้นระบบดิจิตอลทีวีที่เป็นของใหม่อยู่ ณ เวลานี้ จึงเป็นอะไรที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น ‘ดิจิตอลทีวีมหาชน’ เป็นเสมือนของขวัญให้กับประชาชนทั่วไป ที่จะมีโอกาสได้เข้าถึงรายการฟรีทีวีที่มีคุณภาพมากขึ้น มีทางเลือกในการรับชมมากกว่าฟรีทีวีระบบเดิมๆ เป็นการเปิดโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นเจาะลึกลงไปถึงผู้คนทุกๆ กลุ่มก้อน


พูดถึงตรงนี้ก็อยากจะฝากไปยังเจ้าของสัมปทานช่องทั้ง 48 ช่องและผู้ผลิตรายการทั้งหลายนะครับว่า ประชาชนคนทั่วไปอย่างผมเขาคาดหวังนะครับว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นกับฟรีทีวีบ้านเรา รายการประเภทสุกเอาเผากิน เนื้อหาครึ่งชั่วโมงโฆษณาชั่วโมงครึ่ง เพลาๆ ลงบ้างก็ดี รายการประเภทหลอกลวงมอมเมาทั้งหลายที่เกลื่อนในช่องดาวเทียมอย่าให้ตามมาในดิจิตอลทีวีนะครับ แค่ในช่องดาวเทียมก็มีมากเกินพอแล้ว


... ด้วยรักและขอบคุณจากใจ