วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เริ่มต้นไปกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ...ภาคปฏิบัติ – ตอนที่ 4 ‘Audirvana Plus โปรแกรมเล่นเพลงเสียงดีสำหรับ Macintosh’

เริ่มต้นไปกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ...ภาคปฏิบัติ ในตอนที่แล้วผมได้เขียนถึงซอฟต์แวร์โปรแกรมเล่นเพลงของฝั่ง Windows อย่าง JRiver Media Center 19 ไปแล้ว รายละเอียดนั้นมีค่อนข้างมาก เนื่องจากตัวโปรแกรมมีลูกเล่นเยอะมาก คนที่ชอบปรับแต่ง ออกแบบหน้าตาของโปรแกรมให้ใช้งานถนัดมือ มีความเป็นเฉพาะตัวคงถูกใจเป็นพิเศษ เป็นโปรแกรมที่จ่ายเงินซื้อแล้วเรียกว่าใช้งานได้คุ้มค่ามากที่สุดตัวหนึ่ง

เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมสำหรับกลุ่มคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ Macintosh ในเล่มนี้ผมจะแนะนำโปรแกรมเล่นเพลงสำหรับสาวกคอมพิวเตอร์ Mac กันบ้าง โปรแกรมเล่นเพลงตัวที่จะแนะนำนี้เขาทำมาเอาใจคนที่ชอบอะไรเรียบๆ ง่ายๆ และเน้นที่ภาคเสียงเป็นหลัก ไม่เอามีเดียไฟล์ประเภทอื่นมายุ่งเกี่ยวด้วย


อันที่จริงถ้าพูดถึงโปรแกรมเล่นเพลงใน Mac ว่าไปแล้วดูเหมือนตัวเลือกจะมีมากกว่าของ Windows เสียอีกนะครับ แม้จะให้จำเพาะเจาะลงไปอีกว่าเป็นโปรแกรมเล่นเพลงที่เน้นคุณภาพเสียงด้วยก็ถือว่ายังมีตัวเลือกให้ต้องพิจารณาอยู่หลายตัวเลยทีเดียว โปรแกรมเล่นเพลงเหล่านี้มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไปตามปกติ แต่มีอยู่ตัวหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่ากำลังได้รับความนิยมอย่างสูง อันเนื่องมาจากจุดเด่นหลายๆ ประการของมัน โปรแกรมตัวนี้มีชื่อ Audirvana Plus (อ่านว่า ออ-เดอ-วา-น่า-พลัส) หรือเรียกอย่างย่อว่า A+



ทำไมต้องเป็น Audirvana Plus
อย่างที่ได้เรียนไว้ล่ะครับว่าฝั่งคอมพิวเตอร์ Mac นั้นเขามีโปรแกรมเล่นเพลงที่โด่งดังระดับขาใหญ่อยู่แล้วหลายตัว ที่ชื่อคุ้นหูเป็นพิเศษก็อย่างเช่น Amarra หรือ Pure Music ตัวแรกนั่นเป็นซอฟต์แวร์เล่นเพลงที่ได้รับการยอมรับนับถือมานาน เป็นที่นิยมใช้กันตามสตูดิโอบันทึกเสียง ให้ออพชั่นมาเอื้อกับการใช้งานในสตูดิโอแบบจัดเต็ม ราคาสูงกว่าใครเพื่อน เพิ่งมาเห็นแยกย่อยเป็นหลายเวอร์ชั่นเพื่อทำราคาให้ต่ำลงเมื่อไม่นานมานี้ ส่วน Pure Music นั้นเป็นซอฟต์แวร์ประเภทปลั๊กอินทำงานร่วมกับอินเตอร์เฟสของโปรแกรม iTunes คุณสมบัติและความสามารถถือว่าอยู่ในระดับหัวแถวแต่ไม่โดดเด่นเท่า Audirvana Plus ซึ่งได้รับความนิยมแบบพุ่งพรวดแซงล้ำหน้าขึ้นมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

เพราะเหตุใดโปรแกรมอย่าง Audirvana Plus ถึงได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างพรวดพราดขึ้นมาได้ จุดเด่นประการแรกต้องบอกว่าเป็นเรื่องของคุณสมบัติพื้นฐานที่พึงควรมีในโปรแกรมเล่นเพลงชั้นดี โปรแกรมตัวนี้จัดมาให้แบบครบๆ ไม่ต้องแบ่งออพชั่นกันให้วุ่นวาย และหนึ่งในคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ ‘คุณภาพเสียง’ ที่โดดเด่นสะดุดหู ประการที่สองคือการใช้งานที่แสนจะสะดวกง่ายดาย สามารถใช้งานได้แบบสมถะเรียบง่ายหรือจะใช้งานแบบสวยงามหรูหราอู้ฟู่ก็เลือกได้ตามชอบใจ ประการสุดท้ายคือราคาที่สมเหตุสมผลและการ support หลังการขายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอัพเดตโปรแกรมเพื่อแก้ bug ข้อบกพร่องต่างๆ หรือการปรับปรุงความสามารถ โดยทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่เรื่องของคุณภาพเสียงค่อนข้างมากเป็นพิเศษ

Audirvana Plus เป็นโปรแกรมเล่นเพลงที่มีเฉพาะบนแพลตฟอร์มของคอมพิวเตอร์ Mac เขียนขึ้นโดยโปรแกรมเมอร์ชื่อ Damien Plisson ด้านคุณสมบัติเฉพาะตัวนั้นเจาะจงทำมาตอบโจทย์งานออดิโอโดยเฉพาะ ไม่มีการเล่นไฟล์วิดีโอใดๆ ออพชั่นทุกอย่างตั้งใจทำมาเพื่อคุณภาพเสียงเพื่อคนเล่นเครื่องเสียงระดับออดิโอไฟล์โดยเฉพาะ โดดเด่นด้วย Graphic User Interface (GUI) ที่มีหน้าตาดูเหมือนเครื่องเล่น มีปุ่มกด มีหน้าจอดิสเพลย์เหมือนเครื่องเล่นซีดี แสดงภาพปกและข้อมูลต่างๆ ของเพลงที่เล่นได้ ตัวโปรแกรมจะมี Audirvana เวอร์ชั่น Free เป็นโปรแกรมตัวแจกฟรีที่มีลูกเล่นและคุณภาพเสียงด้อยกว่าให้เลือกใช้ด้วย แต่ปัจจุบันน่าจะเริ่มลองเล่นที่ตัว Plus ไปเลยจะดีกว่า เพราะคุณสมบัติและเสียงที่ได้ห่างไกลกันมาก เรียกว่าคนละเรื่องกันเลยทีเดียว

Audirvana Plus สามารถเล่นไฟล์เพลงนามสกุลยอดนิยมและไม่ค่อยนิยมทั้งหลายได้แทบทุกฟอร์แมต ตั้งแต่ไฟล์ uncompress, lossless compression, lossy compression พูดง่ายๆ ว่าให้บอกว่ามันเล่นไฟล์นามสกุลไหนได้บ้างนั้นยากกว่าการบอกว่ามันเล่นไฟล์อะไรไม่ได้ รองรับการเล่นไฟล์ฟอร์แมต high-resolution PCM แทบทุกฟอร์แมตที่มีบนโลกนี้ รวมทั้งฟอร์แมต DSD (.dsf, .dff, .dst) ที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นมากในขณะนี้ แถมยังเล่นได้แม้กระทั่งไฟล์อิมเมจ .iso ที่ริปมาจากแผ่น SACD ด้วยต่างหากครับ นอกจากนั้นแล้วยังรองรับไฟล์ประเภท Cue และการเล่นแบบ Gapless Playback ด้วยครับ เรียกว่าความสามารถให้มาแบบไม่มีกั๊กไว้เลยทีเดียว

นอกจากความสามารถในการรองรับไฟล์ประเภทต่างๆ แล้ว Audirvana Plus ยังอ้างว่าจุดเด่นของเขามีตั้งแต่การประมวลผลแบบ 64 บิต ซึ่งจะดึงเอาความสามารถของคอมพิวเตอร์สมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่กว่า มีโหมด Direct และ Integer ซึ่งสามารถทำให้ระบบเสียงของ OS X เชื่อมต่อกับ DAC ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากกว่า สามารถเข้าถึงเล่นไฟล์ที่ native resolution แท้ๆ เพื่อการเล่นแบบ bit perfect ได้ดีกว่า มีการใช้ซอฟต์แวร์ volume control เทคโนโลยี MBIT+ dithering ที่อ้างว่าคุณภาพดีที่ไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพเสียง

ระบบ Full memory play ของ Audirvana Plus เป็นการโหลดเพลงเข้าหน่วยความจำแล้วจัดการถอดรหัสหรือแปลงฟอร์แมตให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงทำการเล่นจริง ซึ่งเทคนิคการเล่นไฟล์ด้วยวิธีนี้มักพบได้ในโปรแกรมเล่นเพลงคุณภาพสูง รวมถึงเทคโนโลยีการแปลง sample rate ที่เลือกใช้ซอฟต์แวร์คุณภาพสูงของ 'iZotope' ซึ่งมักจะมีใช้อยู่ในโปรแกรมเล่นเพลงชั้นดี

อีกความน่าสนใจหนึ่งคือ Audirvana Plus สามารถใช้งานในโหมด 'iTunes integration' ได้ด้วยครับ กล่าวคือในโหมดนี้โปรแกรมจะสร้างข้อมูลส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นมาเพื่อหลอกอาศัย GUI สวยๆ ของ iTunes ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับเรา จะสั่งเล่นเพลง เลือกเพลง ก็ใช้งานได้เหมือนใน iTunes เลยครับ ซึ่งสะดวกและสวยงามมากมาย แต่ในส่วนของการ playback จริงนั้นตัว Audirvana Plus จะจัดการเองทั้งหมดโดยไม่ให้ iTunes เข้ามายุ่มย่ามกับการเล่นเลย พูดง่ายๆ ว่าเวลาเราจะเล่นเพลงมันให้อารมณ์เหมือนเล่นด้วย iTunes เปี๊ยบแต่เสียงจะออกมาเหมือนเล่นด้วย Audirvana Plus นั่นเอง

ใครที่สนใจ Audirvana Plus สามารถเข้าไปดูรายละเอียดที่ audirvana.com สามารถดาวน์โหลดตัวทดลองใช้ซึ่งสามารถใช้งานได้เหมือนปกติทุกอย่างแต่มีเวลาให้ลองใช้งานนาน 15 วัน หลังจากนั้นโปรแกรมจะล็อคการทำงานไม่สามารถใช้งานได้ต่อ ถ้าถูกใจอยากใช้ต่อก็เพียงแค่สั่งซื้อรหัสปลดล็อคในหน้าเว็บของเขาโดยจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (แนะนำให้ใช้ Paypal) หรือถ้ามั่นใจในคุณภาพกันแล้วก็ไม่ต้องเสียเวลาลองสั่งซื้อเลยตั้งแต่ต้นก็ทำได้เช่นกัน โปรแกรมนี้แบบ Full License ราคา $74 หรือตกราวๆ 2,300-2,400 บาทเท่านั้นเองครับ



System Requirement
System Requirement หรือความต้องการในทรัพยากรคอมพิวเตอร์ที่เหมาะสมกับโปรแกรม Audirvana Plus ก็ไม่มีอะไรซับซ้อนมากครับ ขอแค่เป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Mac OS X 10.6, 10.7, 10.8 หรือ 10.9 (ได้ข่าวว่า 10.10 กำลังจะมาในเร็วๆ นี้) หน่วยความจำ RAM อย่างน้อย 2GB แต่ถ้าจะให้ดีควรจะเป็น 4GB หรือมากกว่านั้นนะครับ ส่วนตัวผมแนะนำระดับ 8GB ขึ้นไปเลยดีกว่านะครับ เพราะมันจะทำให้คุณเล่นไฟล์ High Resolution ทั้ง PCM และ DSD ได้อย่างราบรื่นกว่าครับ

Audirvana Plus เวอร์ชั่นที่พัฒนาล่าสุดในปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่น 1.5.12 ลำดับการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงในแต่ละเวอร์ชั่นสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://audirvana.com/delivery/audirvanaplus_releasenotes.html



การปรับตั้งค่าและการใช้งานขั้นพื้นฐาน
ขั้นตอนการใช้งาน Audirvana Plus นั้นค่อนข้างง่ายและตรงไปตรงมาพอสมควร การออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้งานจริงสำหรับงานออดิโอเป็นหลักทำให้การปรับตั้งค่าของโปรแกรมตัวนี้ง่ายกว่า JMC19 อยู่พอสมควร ใครที่เคยปรับตั้ง JMC19 มาก่อนแล้ว ถ้าได้มาเล่น A+ จะบอกเลยว่าหมูมาก

เมนูตั้งค่าทั่วไป

การตั้งค่า Audio System

การปรับตั้งค่าจะเริ่มต้นจากในเมนู Preferences ซึ่งเมนูแรกคือเมนูการตั้งค่าทั่วไป เมนูนี้ไม่ได้มีผลกับคุณภาพเสียงโดยตรง เราสามารถใช้ค่าเดิมของโปรแกรมได้เลยหรือจะปรับแต่งให้ใช้งานตามที่เราถนัดในภายหลังก็ได้ครับ สำหรับเมนูแรกที่เราจะสนใจคือ 'Audio System' ในส่วนนี้จะเป็นการเลือกตั้งค่าที่เกี่ยวข้องกับตัว DAC หรือ Audio Device ของเราโดยตรง จะว่าไปตั้งแต่การเลือก DAC ในหัวข้อ 'Preferred Audio Device' ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยกดปุ่ม ‘Change’ เพื่อเข้าไปเลือก เมื่อเลือกได้แล้วสังเกตว่าในหัวข้อ 'Active Audio Device' ที่อยู่ถัดลงมาจะบอกข้อมูลทันทีว่า DAC ของเรารองรับไฟล์ที่ resolution เท่าไรได้บ้าง รวมถึงไฟล์ฟอร์แมต DSD ซึ่งเราสามารถตั้งค่าตรง 'Native DSD Capability' เป็นค่าแบบเลือกอัตโนมัติหรือจะเลือกเป็นค่าจำเพาะของตัว DAC ที่เราใช้งานอยู่เลยก็ได้ถ้าหากทราบว่าต้องตั้งค่าเป็นอะไร ในส่วนนี้ถ้า DAC ของคุณไม่รองรับไฟล์ฟอร์แมต DSD โดยตรง (native) ให้เลือกเอาไว้ที่ ‘None: convert to PCM’ เมื่อเล่นไฟล์ที่เป็นฟอร์แมต DSD ตัวโปรแกรมจะแปลงไฟล์ลงมาให้อยู่ใน resolution ที่ตัว DAC สามารถเล่นได้

หัวข้อ 'Low level playback options' นี่เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะตรงนี้จะเป็นการตั้งค่าเพื่อให้โปรแกรมสามารถติดต่อสื่อสารกับตัว DAC ได้อย่างเที่ยงตรงที่สุด ลดความซับซ้อนในกระบวนการส่วนเกินใดๆ ของตัว Operating System ลงให้เหลือน้อยที่สุด แต่ออพชั่นทั้งหมดนี้อาจจะไม่รองรับใน DAC บางตัว จึงออกแบบให้สามารถเลือกใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ซึ่งในกรณีที่ใช้ DAC สมัยใหม่ที่ออกแบบมาดีมากอย่างเช่น Mytek Digital STEREO192-DSD DAC ที่ผมลองใช้งานอยู่นี้ก็จะรองรับการเล่นในโหมดนี้ทั้งหมด ส่วนที่ถัดลงมาเป็นการเลือกหน่วยความจำที่จะมาใช้งานเวลาเล่นเพลงบน Audirvana Plus ในรูปแบบของ memory play ส่วนนี้ผมแนะนำให้ตั้งค่าไว้ให้เกิน 50% ของหน่วยความจำ RAM ที่คอมพิวเตอร์เรามีอยู่ ในที่นี้ Mac mini ของผมมี RAM อยู่ 8GB เลยตั้งเอาไว้ที่ 6GB กว่า

การตั้งค่า Audio Filters

ในกรณีที่ต้องการเล่นกับการแปลง sample rate

เมนูต่อไปที่เราจะให้ความสนใจคือ 'Audio Filters' ส่วนนี้จะเป็นเรื่องของการตั้งค่าต่างๆ เมื่อเล่นกับการอัพแซมปลิ้งสัญญาณ หลักๆ คือให้เลือก Converter เป็น 'iZotope 64-bit SRC' และเลือก Quality เป็น ‘Best’ ในส่วนของหัวข้อ 'Forced Upsampling' เป็นการเลือกเล่นกับการอัพแซมปลิ้งไฟล์เพลงที่เราจะเล่น ถ้าจะเล่นเพลงตาม native resolution ของไฟล์นั้นๆ ให้เลือกเอาไว้ที่ ‘None’ ตัวเลือกอื่นๆ จะเป็นการเล่นแบบอัพแซมปลิ้งในแต่ละรูปแบบซึ่งก็มีให้เลือกตั้งแต่การอัพเป็นตัวคูณลงตัวเท่าตัว เช่น คูณสอง, คูณสี่,... คือเป็นตัวคูณที่ลงตัว หรือจะเป็นการอัพไปที่ resolution สูงสุดเท่าที่ DAC จะรับได้โดยไม่ต้องสนใจว่าจะเป็นตัวคูณความถี่ sample ที่ลงตัวหรือไม่ (ไม่แนะนำ) หรือจะเป็นการอัพแบบคูณสองเท่าของความถี่ sample ของไฟล์ข้อมูลเท่านั้น

ตัวเลือกสุดท้ายในหัวข้อ ‘Custom’ จะเป็นเลือกอัพแบบตั้งค่าเองตามแต่ละ resolution ส่วนนี้เหมาะจะใช้ในกรณีที่ตัว DAC รองรับ resolution ได้ไม่สูงมาก เมื่อเล่นไฟล์ที่มี resolution สูงๆ จึงต้องปรับให้โปรแกรมช่วย down sample ลงมาเพื่อให้ DAC สามารถเล่นได้ จากภาพตัวอย่างที่นำมาแสดงเป็นการปรับเพื่อใช้งานกับ DAC ที่รองรับ resolution สูงสุดแค่ 24/96 อย่าง Audioquest : DragonFly จะเห็นว่าที่ sample rate ไม่เกิน 96kHz จะตั้งค่าของอินพุต (ซ้ายมือ) และเอาต์พุต (ขวามือ) ให้ตัวเลขตรงกันเพื่อเล่นแบบ bit-perfect แต่ที่ความถี่ sample สูงกว่า 96kHz เราจะตั้งค่าด้านขวามือให้โปรแกรมช่วย down sample ลงมาเป็นสัดส่วนลงตัวที่ความถี่ sample ไม่เกิน 96kHz เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

การตั้งค่า Audio Volume

เมนู Audio Units 

เมนู System Optimizer

สำหรับเมนู 'Audio Volume' เป็นการเลือกว่าจะใช้ volume control จากส่วนใด โดยมากถ้าหากเน้นที่คุณภาพจะเลือกใช้ volume ในตัว DAC เองมากกว่า volume ของโปรแกรมนะครับ สำหรับเมนู 'AudioUnits' นั้นจะเป็นการเล่นกับส่วนของระบบ DSP ที่เป็นเอฟเฟ็กต์ต่างๆ ให้เลือกเอาไว้ที่ No Effect ให้หมดหรือติ๊กเครื่องหมายถูกออกจากหัวข้อ 'Use AudioUnits effects'

ถัดไปในเมนู 'SysOptimizer' จะเป็นการเลือกปิดเซอร์วิสต่างๆ ที่มีผลกับคุณภาพเสียง ถ้าเราไม่ได้ใช้งานในแต่ละหัวข้อที่เขามีให้เลือกแล้วผมแนะนำให้เลือกปิดเซอร์วิสทั้งหมดเลยนะครับ แล้วเลือก ‘Audirvana Plus priority’ เอาไว้ที่ ‘Extreme’ เพื่อให้ทรัพยากรทั้งหมดของเครื่องเป็นประโยชน์กับตัวโปรแกรมเล่นเพลงของเรามากที่สุด สำหรับเซอร์วิสต่างๆ ที่เราเลือกปิดไปนั้นไม่ต้องห่วงนะครับ เมื่อเราปิดโปรแกรม Audirvana Plus เซอร์วิสต่างๆ เหล่านั้นจะกลับทำงานได้ตามปกติโดยอัตโนมัติครับ

เมนูตั้งค่าที่เกี่ยวกับ iTunes

เมนูสุดท้ายที่เราจะสนใจคือ 'iTunes' ตัวเลือกนี้จะได้ใช้ประโยชน์เมื่อเราเล่น Audirvana Plus ในโหมด iTunes Integrated Mode ส่วนนี้จะเลือกปิดออพชั่นต่างๆ ที่เป็นของ iTunes เพื่อให้การเล่นเพลงของ Audirvana Plus ถูกรบกวนน้อยที่สุด

เมื่อตั้งค่าต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ทีนี้เรามาดูในส่วนของการเล่นเพลงแบบพื้นฐานกันบ้างครับ ในโหมดนี้เราจะเรียกว่า ‘Playlist Mode’ เป็นโหมดการเล่น Audirvana Plus ในรูปแบบที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาที่สุด อินเตอร์เฟสหลักของโปรแกรมจะมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นแผงหน้าจอดิสเพลย์แสดงรายละเอียดต่างๆ ของเพลงที่เล่นและปุ่มกดเพื่อเล่น หยุด ข้ามเพลง รวมถึงปุ่มหมุนปรับความดัง (ถ้าตัว DAC มีให้ใช้งาน)

อีกส่วนหนึ่งคือกรอบ playlist ซึ่งจะแสดงไฟล์เพลงที่เราเลือกมารอไว้เตรียมเล่น ซึ่งสามารถเพิ่มหรือลดเพลงใน playlist ได้อย่างอิสระ สามารถกดปุ่มเพิ่มเพลงได้ทีละเพลง ทีละหลายเพลง หรือทีละ Folder ได้เลย หรือจะลากเพลงที่เราจะฟังมาใส่ในกรอบ playlist นี้เลยก็ได้ครับ ถ้าจะเอาเพลงออกจาก playlist ก็กดลบทีละเพลง ทีละหลายเพลงก็ได้ด้วยเช่นกัน ด้านล่างของกรอบใกล้ๆ ปุ่มกดเพิ่มหรือลดเพลงที่จะฟังยังมีปุ่มกดสั่งเล่นเพลงแบบเล่นวนหรือเล่นแบบสุ่มเพลงมาให้ด้วย

หน้าโปรแกรมเวลาใช้งานในโหมด Playlist ตามปกติ

ในโหมดการเล่นตามปกตินี้ถือว่า Audirvana Plus ทำได้เรียบง่ายไม่มีอะไรซับซ้อนวุ่นวาย ว่ากันตรงไปตรงมา และถือว่ามีความเสถียรในการใช้งานมากเลยทีเดียว ด้านคุณภาพเสียง Audirvana Plus นั้นถือว่ายืนอยู่ในลำดับต้นๆ เด่นมากเรื่องของเวทีเสียงที่กว้าง เสียงโปร่งใสแต่ไม่บาง ลักษณะเสียงอย่างนี้นักเล่นเขาเรียกว่า transparency คือใสสะอาดแต่มีเนื้อแน่น มีความชุ่มฉ่ำของเสียง ไม่มีลักษณะใหญ่แต่ภายนอกทว่าเนื้อในกลวงโบ๋ ผมเองเคยลองโปรแกรมเล่นเพลงใน Mac มาหลายตัว แต่พอมาลอง Audirvana Plus ก็ชอบเสียงที่ได้จากมันเลยครับ มันทำให้เสียงของโปรแกรมตัวอื่นฟังดูขุ่นมัวจนถึงขั้นสกปรกไปได้ น่าทึ่งจริงๆ



iTunes Integrated Mode กับการเล่นแบบสบายหูสบายตา
นอกจากการเล่นในโหมดปกติแล้ว จุดเด่นหนึ่งของโปรแกรม Audirvana Plus คือการใช้งานในลักษณะปลั๊กอินผนวกเอาความสามารถด้านอินเตอร์เฟสของ iTunes มาใช้ร่วมกันได้อย่างลงตัว การใช้งานในโหมดนี้ให้ที่เมนูหลักไปที่ 'iTunes Integrated Mode' โปรแกรม iTunes จะถูกเปิดขึ้นมาด้วยโดยอัตโนมัติ โลโก้ของ Audirvana Plus ที่แถบ dock launcher จะมีโลโก้ iTunes ปรากฏขึ้นมาเคียงข้างกันด้วย

เมนูเลือกเล่นโหมด iTunes Integrated

ในครั้งแรกที่เราใช้งานในโหมด iTunes Integrated สิ่งที่ต้องทำก็คือการสร้าง library หลอกๆ ใน iTunes เนื่องจากการเล่นในโหมดนี้คือการเล่นผ่าน Audirvana Plus แล้วอาศัยแค่อินเตอร์เฟสของ iTunes เราจึงไม่ต้องสนใจเลยว่าต้องทำ library หรือฟอร์แมตไฟล์พิเศษที่เข้ากันได้กับ iTunes สิ่งเดียวที่ต้องทำคือการเพิ่มไฟล์เข้าไปสร้าง library หลอกๆ เพื่อให้อินเตอร์เฟสของ iTunes สามารถสั่งให้ Audirvana Plus เล่นไฟล์เพลงฟอร์แมตต่างๆ ที่ Audirvana Plus รู้จัก โดยการคลิกเข้าไปที่ 'Add files to iTunes ...' จะมีหน้าต่างของเมนูนี้โผล่ขึ้นมาจากนั้นก็เลือกเพลงที่เราจะเล่นในโหมดนี้ จะเลือกโดยการกดบวกเพิ่มเพลงหรือลากไฟล์มาใส่ก็ได้

การเพิ่มเพลงเพื่อเล่นผ่านอินเตอร์เฟสของ iTunes

สำหรับในหัวข้อที่ 2. Select the quality of the proxy files created for iTunes ตรงนี้เลือกไปที่ 'Proxy only No sound' เพื่อให้ตัวไฟล์มีขนาดเล็กที่สุด เพราะไฟล์ที่สร้างขึ้นนี้ไม่ใช่เพลงจริงที่เราจะเปิดฟังแต่จะเป็นแค่ป้ายบอกทางเหมือนตัวชี้เป้าบอก iTunes ว่าจะสั่งให้ Audirvana Plus ที่แอบทำงานอยู่เบื้องหลังไปเล่นจากไฟล์เพลงตัวจริง จากนั้นกดปุ่ม Start ได้เลยครับ library ใน iTunes จะมีอัลบั้มเพลงของเราไปอยู่ทันที จากนั้นก็เพียงแค่คลิกเล่นเพลงจากใน iTunes โปรแกรม Audirvana Plus ที่แอบอยู่ด้านหลังก็จะทำการเล่นเพลงนั้นให้ทันที

การใช้อินเตอร์ของ iTunes แต่เล่นด้วย Audirvana Plus

เท่าที่ได้ลองเล่นผมคิดว่าการออกแบบโหมดนี้ของ Audirvana Plus สร้างขึ้นมาได้ฉลาดแยบยลมาก มันทำให้เราสามารถใช้งานได้แบบสมาร์ทๆ บนอินเตอร์เฟสของ iTunes แต่ได้คุณภาพเสียงอย่างที่ควรจะได้จาก Audirvana Plus เป็นการผสานการทำงานที่ลงตัวมากๆ ครับ ยิ่งกว่านั้นในโหมดนี้เรายังสามารถใช้งานแอพพลิเคชั่น 'Remote' บนอุปกรณ์แท็บเล็ต/สมาร์ทโฟน iOS เพื่อควบคุมการเล่นบน iTunes ได้ด้วยครับ



เสียงดี ฟีเจอร์โดนใจ
เท่าที่ได้ลองใช้งาน Audirvana Plus มาหลายพักใหญ่โดยเฉพาะกับ DAC มากความสามารถอย่าง Mytek Digital STEREO192-DSD DAC ผมว่าโปรแกรมตัวนี้น่าใช้มากครับ มันมีส่วนดีอยู่ครบถ้วนเลยทั้งคุณภาพเสียงและการใช้งาน ยิ่งเมื่อเทียบคุณภาพที่ได้กับราคาขายที่ $74 แล้ว ผมว่าถ้าเงินจำนวนนี้สามารถเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ให้เป็นทรานสปอร์ตชั้นดีได้อย่างนี้ ผมยังมองไม่เห็นเลยว่ามันไม่น่าใช้ตรงไหน ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนที่เล่นคอมพิวเตอร์ Mac และอยากจะลองเล่นคอมพิวเตอร์ไฮไฟ นาทีนี้ Audirvana Plus คือตัวเลือกที่คุ้มค่ากับการลงทุนมากที่สุดแล้วล่ะครับ

…………..

คลิ้กที่นี่เพื่ออ่าน บทความตอนที่ 1
คลิ้กที่นี่เพื่ออ่าน บทความตอนที่ 2
คลิ้กที่นี่เพื่ออ่าน บทความตอนที่ 3