วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เริ่มต้นไปกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ...ภาคปฏิบัติ – ตอนที่ 2 ‘Library ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง’


‘เริ่มต้นไปกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ...ภาคปฏิบัติ’ ในตอนแรกได้เริ่มต้นไปแล้วในส่วนที่เกี่ยวกับตัวเครื่องและอุปกรณ์ ที่เราเรียกรวมๆ ว่าฮาร์ดแวร์ ทีนี้ก็เหลือในส่วนที่เกี่ยวกับซอฟต์แวร์ซึ่งยังแบ่งแยกออกไปได้อีกว่าเป็นซอฟต์แวร์ส่วนที่เกี่ยวกับการ playback หรือโปรแกรมเล่นเพลง และซอฟต์แวร์ส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลไฟล์เพลงหรือโปรแกรมที่ใช้ริปแผ่นซีดี (CD ripping) โปรแกรมที่ใช้ใส่ข้อมูลในไฟล์เพลง (tagging) ตลอดจนเรื่องของการซื้อเพลงแบบดาวน์โหลดออนไลน์ซึ่งมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้พูดถึงอีกพอสมควร

‘เริ่มต้นไปกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ...ภาคปฏิบัติ’ ตอนที่ 2 นี้ ผมจะเขียนเล่าเรื่องในส่วนหลังก่อนครับ นั่นคือซอฟต์แวร์ส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลไฟล์เพลงนั่นเอง เนื่องจากส่วนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บข้อมูลไฟล์เพลงอย่างมีคุณภาพ เพราะผมเชื่อเสมอว่าเริ่มต้นดีย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง



เรื่องไฟล์ ไฟล์
พูดถึงเรื่องไฟล์เพลงและคุณภาพของไฟล์เพลง ผมว่าผมน่าจะเขียนหรือพูดเรื่องนี้มากกว่า 20 วาระได้แล้วกระมังครับ นั่นเป็นเพราะว่านี่คือหัวใจของการเล่นเพลงจากไฟล์คอมพิวเตอร์เลยล่ะครับ คุณภาพของตัวไฟล์เพลงเองมีผลกับคุณภาพเสียงอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการริปเพลงออกมาจากแผ่นซีดี อย่าว่าแต่การริปออกมาเป็นไฟล์ประเภทใดเลยครับ แค่ริปด้วยโปรแกรมอะไรก็ให้เสียงแตกต่างกันได้แล้ว เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องไฟล์นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่นๆ ที่จะมองข้ามกันได้เลยครับ

แต่ก่อนจะว่ากันถึงเรื่องของโปรแกรมริปแผ่นซีดี เรามาคุยให้เข้าใจตรงกันก่อนเรื่องฟอร์แมตของไฟล์เพลงหรือประเภทของไฟล์เพลงกันก่อนครับ ประเภทไฟล์เพลงเราสามารถแบ่งประเภทได้คร่าวๆ เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ไฟล์เพลงที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูล (Uncompressed audio format), ไฟล์เพลงที่มีการบีบอัดข้อมูลแบบมีการสูญเสียข้อมูล (Lossy compression audio format) และ ไฟล์เพลงที่มีการบีบอัดข้อมูลแบบไม่มีการสูญเสียข้อมูล (Lossless compression audio format)

  • ไฟล์เพลงที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูล (Uncompressed audio format)
    ไฟล์เพลงประเภทนี้คือการเก็บบันทึกข้อมูลเสียงในรูปแบบที่ไม่มีการลดทอน ตัดทอน หรือทำให้จำนวนบิตข้อมูลลดลงไปเลย เรียกว่าข้อมูลมีอยู่เท่าไรก็เก็บมันเอาไว้ทั้งหมด ไฟล์ข้อมูลจึงมีขนาดใหญ่แต่มีข้อดีในแง่ของคุณภาพที่สามารถการันตีได้ว่าไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งตกหล่นไปแน่นอน ไฟล์เพลงหรือไฟล์เสียงประเภทนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในนามสกุลไฟล์ .wav หรือ .aiff ถ้าเปรียบเทียบกับไฟล์ถ่ายดิจิตอลก็เทียบได้กับฟอร์แมตไฟล์ประเภท RAW

    ในการริปแผ่นซีดีอย่างมีคุณภาพนั้น ไม่ว่าจะสั่งให้ริปเป็นไฟล์ฟอร์แมตใดตัวโปรแกรมริปแผ่นซีดีจะทำการริปเป็นไฟล์ลักษณะนี้ก่อนเสมอหลังจากนั้นจึงค่อยแปลงเป็นไฟล์เสียงตามฟอร์แมตที่เลือกตั้งค่าไว้ เนื่องจากเป็นการริปแบบที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูลไฟล์เสียงที่ได้จากการริปแผ่นซีดีด้วยฟอร์แมตนี้จึงมีขนาดไฟล์ใหญ่เท่าข้อมูลในแผ่นซีดีเพลงแต่ละแผ่น คือประมาณตั้งแต่ 200-650 เมกะไบต์ (MB) แล้วแต่ปริมาณข้อมูลเพลงในแผ่นซีดี

  • ไฟล์เพลงที่มีการบีบอัดข้อมูลแบบมีการสูญเสียข้อมูล (Lossy compression audio format)
    สืบเนื่องจากข้อด้อยในแง่ของขนาดไฟล์เพลงในฟอร์แมตที่ไม่มีการบีบอัดข้อมูล ในยุคก่อนหน้านี้ที่อุปกรณ์เก็บไฟล์ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ยังถูกจำกัดไว้ด้วยขนาดความจุและราคาต้นทุน จึงมีคนพยายามคิดค้นวิธีทำให้ไฟล์ข้อมูลนั้นมีขนาดเล็กลง โดยยอมให้มีการสูญเสียข้อมูลบางส่วนที่พิจารณาแล้วคิดว่าไม่มีผลหรือมีผลน้อยมากกับการฟัง อย่างเช่น รายละเอียดเสียงเบาๆ ความถี่เสียงทุ้มลึกมากหรือเสียงแหลมสูงมาก หรือในส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกของเสียง ทำให้ไฟล์ที่บีบอัดแล้วนั้นมีขนาดไฟล์ลดลงอย่างมาก ซึ่งขนาดไฟล์ที่ลดลงอาจจะอยู่ที่ประมาณ 10-20 เท่าได้เลยทีเดียว ไฟล์ฟอร์แมตนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในนามสกุล .mp3, .wma (lossy) หรือ m4a (lossy)

    นอกจากขนาดไฟล์แล้วแน่นอนว่าสิ่งที่ลดลงตามไปด้วยก็ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของคุณภาพเสียง อย่างไรก็ดีไฟล์ฟอร์แมตบีบอัดนี้ยังดีพอที่จะใช้ในงานที่ไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพเสียงมากนัก อย่างเช่นงานที่ต้องใช้คลิปเสียง หรือการสตรีมผ่านระบบออนไลน์ เช่น อินเตอร์เน็ตเรดิโอ เพลงแบบสตรีมมิ่งเซอร์วิส หรือตัวอย่างเพลงให้ลองฟังในเว็บขายเพลงแบบดาวน์โหลดออนไลน์

  • ไฟล์เพลงที่มีการบีบอัดข้อมูลแบบไม่มีการสูญเสียข้อมูล (Lossless compression audio format)
    เนื่องจากไฟล์เสียงแบบบีบอัดข้อมูลปกตินั้นเน้นหนักไปที่เรื่องของขนาดไฟล์มากกว่าคุณภาพเสียง จึงมีผู้พยายามคิดค้นวิธีการบีบอัดข้อมูลอีกรูปแบบหนึ่งที่อ้างว่าไม่มีการสูญเสียของข้อมูล หมายความว่าในขั้นตอนการบีบอัดจะไม่มีการตัดทอนข้อมูลใดๆ ออกไปเลย แต่จะอาศัยการเทียบบิตข้อมูลที่เหมือนกันแล้วจัดการแพ็คมันใหม่ให้กะทัดรัดมากขึ้นทำให้ขนาดไฟล์โดยรวมมีขนาดเล็กลงได้ สามารถเล็กลงได้ตั้งแต่ 2-4 เท่าโดยประมาณขึ้นอยู่กับรายละเอียดและความซับซ้อนของเนื้อหาในไฟล์เพลงนั้นๆ วิธีนี้เทียบได้กับการบีบอัดข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่หลายคนรู้จักกันดีอย่างไฟล์ .zip หรือ .rar

    ไฟล์เพลงบีบอัดแบบไม่มีการสูญเสียนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดในนามสกุล .flac ซึ่งย่อมาจาก free lossless audio codec นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้คิดค้นอัลกอรึธึมแบบเดียวกันนี้ออกมาด้วยครับ แต่อาจจะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไฟล์ flac อย่างเช่น Apple Lossless (.m4a) ของบริษัท Apple ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แมคอินทอชและโทรศัพท์มือถือที่มีคนใช้มากที่สุดในโลกอย่างไอโฟน หรือไฟล์ .ape ของค่าย Monkey Audio เป็นต้น

(คลิ้กที่ภาพเพื่อขยายขนาด)
ในแง่ของคนเล่นเครื่องเสียงและนักฟังเพลงที่เน้นคุณภาพของเสียง ไฟล์ lossless นั้นถือว่ามีคุณภาพดีอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ในชุดเครื่องเสียงไฮไฟทั่วไปเราอาจจะได้ยินความแตกต่างระหว่างไฟล์ .wav และ .flac ได้น้อยมากแต่ในบางซิสเตมก็พบว่ามันมีความแตกต่างกันอยู่ เป็นสิ่งที่รับรู้และได้ยินจริงได้ แตกต่างกันมากหรือน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่ที่การตีความตลอดจนทักษะการฟัง

แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามถ้าเราให้น้ำหนักเรื่องคุณภาพเสียงมาก่อนก็ต้องถือว่าไฟล์ Uncompressed นั้นเข้าวินมาก่อน โดยมีไฟล์ Lossless ตามมาแบบหายใจรดต้นคอ ส่วนไฟล์ Lossy จำพวก .mp3 ทั้งหลายนั้นถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานการยอมรับสำหรับไฮไฟเราก็แล้วกันครับ...  Forget it!



ริปซีดียังไงให้เสียงดี
“ริปซีดียังไงให้เสียงดี?”

นี่เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผมเจอบ่อยมากถึงมากที่สุด หลายคนคิดถึงตัวฮาร์ดแวร์มาก่อน หลายคนให้ความสำคัญกับตัวซอฟต์แวร์ริปแผ่นซีดี แต่นึกไม่ถึงว่าเรื่องพื้นฐานธรรมดาสามัญนี่แหละครับที่มีผลต่อคุณภาพการริปไฟล์เสียงออกมาจากแผ่นซีดี

เรื่องแรกคือการเก็บรักษาแผ่นซีดีให้อยู่ในสภาพดีที่สุด เชื่อไหมครับว่าแผ่นซีดีเพลงแผ่นแรกในชีวิตผม จนป่านนี้เวลาผ่านมาเป็นสิบๆ ปีแล้วตัวแผ่นยังไม่มีริ้วรอยใดๆ เลย ผมเก็บแผ่นเข้ากล่องหลังเลิกเล่นทุกครั้ง ผมเลี่ยงการเก็บแผ่นในซองที่วางซ้อนๆ กันหรือต้องเสียบแผ่นเข้าไปในซอง ผมเลี่ยงการนำแผ่นไปเล่นกับลิ้นชักดูดแผ่นแบบ slot load (เป็นช่องให้แหย่แผ่นเข้าไป) ผมเลี่ยงการใส่แผ่นซีดีเอาไว้ในรถที่จอดตากแดดร้อนๆ ทั้งหมดนี้สรุปรวมง่ายๆ ก็คือทำให้แผ่นซีดีของคุณอยู่ในสภาพที่เหมือนใหม่มากที่สุดนั่นแหละครับ

จริงอยู่ว่าโปรแกรมริปแผ่นซีดีหลายตัวมีความสามารถในการจัดการกับความผิดพลาดหรือ error ต่างๆ ได้ดีมาก แต่จะดีกว่ากันไหมครับถ้าเราป้องกันไม่ให้มันต้องไปแก้ error ใดๆ ตั้งแต่ต้น

เรื่องต่อมาอาจจะเกี่ยวกับตัวฮาร์ดแวร์โดยตรง ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่ถ้าเลือกได้ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจกว่า นั่นคือการเลือกใช้ตัวไดร์ฟอ่านแผ่นซีดีครับ แนะนำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะคนที่ใช้คอมพิวเตอร์แบบพกพาได้หรือพวกโน้ตบุ๊ค แล็ปท้อปทั้งหลาย อย่าไปใช้ไดร์ฟที่มาในตัวเครื่องเลยครับ ทั้งช้าทั้งไม่ทนทานเอาเสียเลย ผมแนะนำให้ใช้ external drive แบบตัวใหญ่ต้องเสียบไฟเลี้ยงต่างหากจะดีกว่าครับ ไม่ใช่แบบตัวเล็กที่ใช้ไฟเลี้ยงจากพอร์ต USB โดยตรงนะครับ เหตุผลหรือครับก็เพราะมันแข็งแกร่งกว่าน่ะสิ แข็งแกร่งกว่าทั้งในส่วนของหัวอ่านที่ทนทานกว่า อ่านข้อมูลได้ดีกว่า หรือส่วนของระบบโครงสร้างที่แน่นหนากว่า ทำให้การหมุนแผ่นด้วยความเร็วสูงในระหว่างการริปทำได้ถูกต้องแม่นยำกว่า อีกทั้งตัวไดร์ฟขนาดใหญ่ยังมักจะสามารถริปแผ่นได้ที่ความเร็วต่ำมาก แม้ว่าจะทำให้เสียเวลาในการริปสักหน่อยแต่ก็แลกกลับมาด้วยคุณภาพไฟล์เพลงที่ดีกว่านะครับ

ปัจจุบันไดร์ฟซีดีแบบ external ขนาดใหญ่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ทางพอร์ต USB ราคาเหลือแค่หลักพันบาทบวกลบแล้วแต่ยี่ห้อและแหล่งผลิต แตกต่างจากสมัยเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ราคาตัวละเป็นหมื่น ลงทุนซื้อเครื่องแบบนี้มาริปแผ่นเถอะครับ นั่งคิด ยืนคิด ตีลังกาคิดยังไงก็คุ้ม

ก่อนการริปถ้าไดร์ฟของคุณวางอยู่ในที่ที่มีฝุ่นละอองมาก แนะนำให้ทำความสะอาดหัวอ่านสักหน่อยครับ จะใช้แผ่นทำความสะอาดหรือวานให้เพื่อนที่มีความรู้ด้านฮาร์ดแวร์เขาเปิดฝาตัวไดร์ฟออกมาจัดการให้ก็ได้แล้วแต่สะดวก ตำแหน่งที่วางตัวไดร์ฟให้มั่นใจว่าวางได้นิ่งและมั่นคง อย่าวางใกล้พวกอุปกรณ์มอเตอร์หรืออุปกรณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้ และที่สำคัญอย่าวางตัวไดร์ฟแบบตะแคงตั้งขึ้น จริงอยู่ครับว่าไดร์ฟหลายตัวยังทำงานได้เพราะเขาออกแบบมาให้มันทำงานได้ แต่เชื่อเถอะครับว่ามันทำให้ประสิทธิภาพการอ่านข้อมูลจากแผ่นแย่ลงแน่นอนเมื่อเทียบกับการวางในแนวนอนตามปกติ ข้อดีมีอย่างเดียวคือมันประหยัดพื้นที่บนโต๊ะแค่นั้นแหละ



โปรแกรมริปแผ่นซีดีในดวงใจ
ในหัวข้อที่แล้วผมได้เกริ่นนำไปเล็กน้อยเกี่ยวกับโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่เราจะใช้ริปไฟล์เสียงออกมาจากแผ่นซีดี ว่าไปแล้วส่วนนี้ก็สำคัญเหมือนกันนะครับ ใช่ว่าจะมองข้ามไปได้หรอกครับ โปรแกรมริปแผ่นซีดีมีผลกับคุณภาพเสียงแน่นอนครับ คุณลองใช้ Windows Media Player ริปแผ่นซีดีเทียบกับ iTunes สิครับ ให้ริปออกมาเป็นฟอร์แมตเดียวกันหรือเทียบเคียงกันด้วย แล้วลองเอามาเปิดฟังสิครับ คุณอาจจะตกใจว่าทำไมมันถึงเสียงไม่เหมือนกัน นี่ยังไม่นับเรื่องของระบบ tag หรือข้อมูลที่เกาะติดมากับไฟล์เพลงนะครับ รับรองได้เลยว่ามันมีความสวยงาม มีความถูกต้องของข้อมูลแตกต่างกันแน่นอน

นั่นเป็นเพราะว่าโปรแกรมแต่ละตัวนั้นมีกระบวนการวิธีดึงข้อมูลจากแผ่นซีดีออกมาแตกต่างกันนั่นเอง เราไม่ต้องไปสนใจในรายละเอียดหรอกครับว่ามันแตกต่างกันยังไง ขอให้เข้าใจตรงกันว่ามันให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันเท่านั้นพอ จากที่ผมและทีมงานในกองบรรณาธิการได้ลองเล่นกันมา เราสรุปตรงกันแล้วครับว่า iTunes นั้นเวลาใช้ริปเพลงมันเด่นมากในแง่ของฐานข้อมูล จะเป็นอัลบั้มเพลงท้องถิ่นหรือไม่คุ้นหูยังไง ฐานข้อมูลของมันรู้จักแทบทั้งหมด ซึ่ง iTunes นั้นใช้ฐานข้อมูลของ GraceNote ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดในโลก ซึ่งก็ดีจริง แต่มันไม่รองรับไฟล์ flac และคุณภาพเสียงของไฟล์ที่ได้ยังเป็นรองโปรแกรมตัวอื่น

โปรแกรมริปแผ่นยอดนิยมเข้าขั้นขวัญใจมหาชนอีกตัวคือ EAC หรือ Exact Audio Copy โปรแกรมตัวนี้เป็นฟรีแวร์เช่นเดียวกันกับ iTunes แต่อินเตอร์เฟสนั้นธรรมดาสามัญมาก แถมยังมีฐานข้อมูลที่เข้าขั้นห่วยขั้นเทพ อีกทั้งยังไม่รองรับระบบ tag ข้อมูลโดยตรง แต่มีข้อดีที่หลายคนชมตรงกันนั่นคือมันเสียงดีกว่าการริปด้วย iTunes นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โปรแกรม OTOP ตัวนี้ผงาดขึ้นมายืนทาบรัศมีโปรแกรมอย่าง iTunes ได้มาเนิ่นนาน

อย่างไรก็ดีเหนือฟ้ายังมีฟ้าเพราะโปรแกรมอย่าง dBPoweramp CD Ripper นั้นถูกสร้างขึ้นเหมือนกับรู้ว่ามีคนรอคอยการรวมข้อดีของ iTunes และ EAC เข้ามาไว้ด้วยกันอยู่ แถมยังเพิ่มความสามารถให้เทพขึ้นไปอีกขั้น แน่นอนว่าคุณสมบัติปั้นกันมาหล่อเหลาขนาดนี้เขาจึงต้องคิดเงินผู้ใช้สักหน่อย ดังนั้นโปรแกรมที่ผมจะแนะนำตัวนี้จึงไม่ใช่ฟรีแวร์หรือของฟรีแล้วล่ะครับ $39 หรือประมาณหนึ่งพันสามร้อยบาทสำหรับเวอร์ชั่นล่าสุดในปัจจุบัน (version 15) ราคานี้เมื่อเทียบกับคุณสมบัติที่คุณจะได้ทราบต่อจากนี้ไปบอกได้เลยว่าคุ้มมากทั้งในแง่ของการใช้งานและคุณภาพเสียงของไฟล์ที่ได้



แนะนำ dBPoweramp CD Ripper
dBPoweramp CD Ripper เป็นผลงานของทีมโปรแกรมที่เรียกตัวเองว่า ‘illustrate’ ซอฟต์แวร์ตัวนี้เป็นโปรแกรมหนึ่งในชุดโปรแกรมชื่อว่า dBpoweramp Reference R15 มาพร้อมกับโปรแกรมน่าใช้อีกตัวในชุดที่มีชื่อว่า dBPoweramp Music Converter ทำหน้าที่แปลงฟอร์แมตของไฟล์เสียง


dBPoweramp CD Ripper ถูกออกแบบมาให้ใช้กับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เท่านั้น สามารถทดลองดาวน์โหลดไปใช้งานก่อนได้เป็นเวลา 21 วัน หรือจะซื้อเลยก็ได้โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ www.dbpoweramp.com/cd-ripper.htm หลังจากติดตั้งแล้วคุณจะได้โปรแกรม 2 ตัวนั่นคือ dBPoweramp CD Ripper และ dBPoweramp Music Converter โปรแกรมตัวหลังนั้นจะแนบเข้าไปกลมกลืนอยู่กับการ Browse ไฟล์ของวินโดวส์โดยตรง ทำให้การแปลงไฟล์สามารถทำได้โดยง่ายและสะดวกรวดเร็วมาก เพียงแค่คลิกขวาที่ไฟล์แล้วเลือกฟอร์แมตเสียงที่จะสั่งให้แปลงเท่านั้นเอง แถมยังรองรับการสั่งงานแบบเป็นชุดหรือ batch ด้วยต่างหากครับ (สำหรับแปลงไฟล์ครั้งละเยอะๆ หลายๆ Folder) ได้ลองแล้วจะชอบครับ ที่สำคัญเสียงดีซะด้วย

ในแง่ของการทำงานเป็นโปรแกรมริปเพลงจากแผ่นซีดี dBPoweramp CD Ripper มีคุณสมบัติของโปรแกรมที่ดีครบถ้วน น่าจะครบถ้วนที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จักและลองเล่นมาก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการริปซีดีที่อ้างว่าทั้งแม่นยำและรวดเร็วฉับไวจากเทคโนโลยี Rip Secure & Fast และ AccurateRip ที่ใช้ประโยชน์จาก CPU ของคอมพิวเตอร์อย่างเต็มที่ (ใช้งาน CPU แบบมัลติคอร์ได้สูงสุดถึง 16 คอร์) หรือส่วนของซอฟต์แวร์เข้ารหัสที่รองรับไฟล์เสียงครบถ้วนมากที่สุดเพราะมีทั้ง mp3, m4a (AAC iPod & iTunes), Windows Media Audio (WMA), Ogg Vorbis, FLAC, Apple Lossless (ALAC) รวมถึงฟอร์แมตยิบย่อยอีกจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันยังสามารถสั่งริปทีเดียวแล้วให้เอาต์พุตไฟล์ออกมาครั้งละมากกว่า 1 ฟอร์แมตหรือ Multi-Encoder ได้ด้วยครับ นอกจากนั้นยังมีซอฟต์แวร์ส่วนที่เป็น Digital Signal Processing (DSP) ที่ใส่คุณสมบัติพิเศษต่างๆ เพิ่มเข้าไปในไฟล์เสียงของเราได้ด้วย อย่างเช่น การเข้ารหัส HDCD, การเปลี่ยนแปลงค่า sample rate หรือ bit depth

สำหรับเรื่องของฐานข้อมูล meta data ของแผ่นซีดี แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ของ GraceNote อย่างใน iTunes แต่ก็ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า PerfectMeta คือการนำฐานข้อมูลจาก 5 แหล่งใหญ่มาเลือกใช้ได้แก่ All Media Guide, SonataDB (เน้นเพลงคลาสสิก), GD3, MusicBrainz และ freedb



Step by Step กับ dBPoweramp CD Ripper

ก่อนเริ่มใช้งานริปแผ่นซีดี แนะนำให้เข้าไปตั้งค่าที่ ‘dBPoweramp Configuration’ ก่อนครับ
ทางเข้าอยู่ใน Start Bar ของวินโดวส์ ค่าที่เราสนใจคือค่า ‘Text Encoding’
ที่อยู่ในแต่ละหัวข้อที่เกี่ยวกับการ Tagging ตั้งค่านี้ให้เป็น Unicode-16 ทั้งหมดนะครับ
ไม่เช่นนั้นแล้วไฟล์ที่เราริปมาจะแสดงภาษาท้องถิ่น อย่างเช่นภาษาไทยไม่ได้


นี่เป็นหน้าโปรแกรมหลักของ dBPoweramp CD Ripper
ให้เลือก Drive ที่เราจะใช้ริป ซึ่งในที่นี่ไดร์ฟของผมคือไดร์ฟ G: ครับ


จากนั้นให้เข้าไปเลือกเอาต์พุตฟอร์แมตไฟล์ที่เราต้องการ สังเกตว่าตัวโปรแกรม
มีเอาต์พุตฟอร์แมตให้เลือกเยอะมาก ในที่นี้ผมเลือกเป็นไฟล์ .wav
ซึ่ง dBPoweramp CD Ripper เป็นริปเปอร์เพียงไม่กี่ตัวที่สามารถ tag ไฟล์ .wav
ได้โดยตรงครับ จากนั้นก็เลือก Path ที่จะเก็บไฟล์ที่เราริปแล้ว และเลือกตั้งชื่อไฟล์
ตาม tag ก็ได้ด้วยนะครับ ส่วนตัวผมนิยมตั้งค่าตามในภาพที่เห็นนั่นแหละครับ


เมื่อเราใส่แผ่นซีดีเข้าไปในไดร์ฟและออนไลน์อินเตอร์เน็ตเอาไว้
โปรแกรมวิ่งไปหา meta data ของแผ่นนั้นๆ มาให้เองอัตโนมัติเลยครับ
ซึ่งฐานข้อมูลที่โปรแกรมตัวนี้ใช้นั้นมีหลากหลายแหล่งเลย สำหรับภาพปกแผ่น
หรือ Album Art นั้นถ้าไม่มีหรือไม่ถูกต้องสามารถ drag & drop
ไฟล์ภาพปกที่ถูกต้องมาใส่แทนได้เลยครับ สะดวกและง่ายมาก


อย่าลืมกดเข้าไปที่ปุ่ม Options เพื่อตั้งค่าการริปเป็นโหมด Secure 

และคลิกเลือกที่ AccurateRip ด้วยครับ



กดปุ่มเริ่มทำการริปได้เลยครับ หน้าตาของโปรแกรมระหว่างทำการริปจะเป็นดังภาพนี้


เมื่อริปเสร็จแล้วโปรแกรมจะแสดง log สรุปผลการริปมาให้ดูทีละแทรคด้วยครับ
ตรงไหนสมบูรณ์ดีหรือไม่สมบูรณ์ยังไงก็จะแจ้งให้ทราบกันตรงนี้เลย

ไฟล์ที่เราริปไว้แล้ว แนะนำให้ย้ายไปเก็บใน External HDD นะครับ ด้วยเหตุผลตามที่บอกเอาไว้ในตอนที่แล้ว วิธีการตั้งชื่อ Folder ถ้าเป็นมาตรฐานทั่วไป จะให้ชื่อศิลปินเป็น Folder หลัก ตามด้วย Folder ย่อยที่ป็นชื่ออัลบั้มของศิลปินนั้นๆ อย่างเช่นในกรณีนี้ผมก็จะเก็บไฟล์เพลงเป็น Music\Michael Ruff\Speaking in Melodies เวลาเรามีไฟล์จำนวนมากๆ การจัดเก็บจะเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ปะปนกันมั่วครับ ส่วนแผ่นที่เป็นรวมเพลงหลากหลายศิลปินก็ให้ไปรวมกันอยู่ใน Music\Various Artists เป็นต้น



การซื้อเพลงแบบดาวน์โหลดออนไลน์
นอกจากเราจะสร้าง library เพลงได้จากการริปแผ่นซีดีของตัวเองแล้ว ในปัจจุบันนอกเหนือไปจากการซื้อเพลงผ่าน iTunes Store ของ Apple แล้ว การซื้อเพลงโดยการดาวน์โหลดไฟล์แบบออนไลน์ก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น หลายๆ เว็บไซต์มีให้บริการกันชนิดที่ว่าอยู่ตัวแล้วมีเพลงดีๆ มาขายจำนวนมาก บ้างก็เป็นค่ายเล็กๆ เพลงเล็กๆ ที่เพลงอาจจะไม่เด่นนักแต่เน้นที่คุณภาพงานเป็นพิเศษ บ้างก็มีขายไฟล์เพลงแบบรายละเอียดสูงหรือ high resolution ด้วยครับ

ในฐานะของคนที่มีโอกาสได้ซื้อไฟล์เพลงเหล่านั้นผมว่ามันสะดวกมาก แถมเมื่อเทียบกับแผ่นซีดีออดิโอไฟล์แล้วไฟล์รายละเอียดสูงเหล่านี้บางครั้งยังราคาถูกกว่าด้วยต่างหากครับ

เว็บไซต์แรกที่ผมจะแนะนำคือ HDTracks เว็บนี้เจ้าของคือคุณ David Chesky แห่ง Chesky Records จากอเมริกานั่นเอง เว็บนี้ขายเพลงทั้งของค่ายเชสกี้เองและเพลงของค่ายอื่นๆ โดยเฉพาะค่ายเมเจอร์หลักอย่างเครือ Warner, Sony, Universal, Verve ฯลฯ งานอัลบั้มดังๆ ส่วนมากจะมีขายที่เว็บนี้ล่ะครับ มีทั้งเวอร์ชั่นปกติและที่เป็นไฟล์รายละเอียดสูง ถ้าพูดถึงเรื่องของปริมาณ ความเป็นที่รู้จักของเพลงและเรื่องของเพลงแบบ high resolution แล้ว ผมว่า HDTracks นี่แหละครับ มีเพลงให้เลือกซื้อเยอะและหลากหลายที่สุดแล้ว แค่ยังไม่มีไฟล์ฟอร์แมต DSD ขายเท่านั้นเอง ใครที่สนใจเว็บนี้ผมแนะนำให้สมัคร mailing list ของเขาไว้นะครับ เขาจะส่งรหัสส่วนลดหรือข่าวอัพเดตงานเพลงชุดใหม่ๆ ที่มีขายมาให้อย่างสม่ำเสมอในอีเมล สะดวกดีครับ

อีกเว็บไซต์ที่ผมใช้บริการหลายครั้งแล้วคือ shop.dsdfile.com ของค่าย Opus 3 จากประเทศสวีเดน เพลงของค่ายนี้เป็นที่รู้จักกันในหมู่คนเล่นเครื่องเสียงมาเนิ่นนาน ส่วนมากเป็นเพลงแจ๊สและคลาสสิก มีโฟล์คกับคันทรีบ้างแต่ไม่มากเท่า เว็บนี้เน้นขายไฟล์เพลงในฟอร์แมต DSD เป็นหลักมีทั้งฟอร์แมต DSD64 และ DSD128 งานบางชุดเป็นการบันทึกใหม่ด้วยระบบดิจิตอล DSD โดยตรง หลายชุดแปลงมาจากต้นฉบับที่เป็นเทปรีลเสียงดีมาก ชุดที่เป็นรวมเพลงหรือ Showcase ของเขาขายราคาถูกชนิดที่ไม่ซื้อไม่ได้ ใครที่อยากเล่นไฟล์ฟอร์แมต DSD ผมว่าเว็บนี้มีอะไรให้เสียเงินเยะพอสมควรครับ

เว็บไซต์ล่าสุดที่ผมเริ่มเสียเงินให้เยอะแล้วคือ bluecoastrecords.com ของ Blue Coast Records จากอเมริกา เว็บนี้เจ้าของค่ายเป็นผู้หญิงครับ มีความสามารถเรื่องการบันทึกเสียงเลยเปิดค่ายของตัวเองเสียเลย เพลงส่วนใหญ่เป็นการบันทึกใหม่ด้วยระบบ DSD โดยใช้ศิลปินคุณภาพแต่ชื่ออาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก ส่วนแนวเพลงก็มีให้เลือกหลากหลายครับทั้งแจ๊ส ป๊อป คลาสสิก โฟล์ค คันทรี จุดเด่นของเว็บนี้คือมีไฟล์ฟอร์แมตขายทั้ง PCM High Resolution และ DSD ราคาขายอาจจะสูงกว่าเจ้าอื่นสักหน่อย แต่มักจะมีโปรโมชั่นลดราคาเป็นประจำ มีไฟล์ตัวอย่างให้ทดลองดาวน์โหลดไปฟังเล่นๆ แบบไม่คิดเงินก่อนด้วยครับ ใครสนใจงานของเจ้านี้แนะนำให้สมัคร mailing list ไว้เช่นกันครับ เขาจะอัพเดตงานเพลงและโปรโมชั่นต่างๆ มาให้ทางอีเมลเป็นประจำ

อีกเรื่องที่คุณจำเป็นต้องทราบไว้คือเว็บไซต์ขายเพลงเหล่านี้เขารับเงินแบบออนไลน์ครับ เท่าที่ผมใช้งานมาแนะนำให้คุณจ่ายเงินผ่าน PayPal น่าจะสะดวกที่สุดครับ PayPal คือบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับและจ่ายเงินระหว่างเรากับร้านค้าออนไลน์ทั่วโลก เป็นการจ่ายเงินแบบออนไลน์วิธีหนึ่งที่ค่อนข้างปลอดภัยและมีผู้นิยมใช้กันทั่วโลก คุณสามารถเข้าไปลงทะเบียนสมัคร PayPal ได้ที่ www.paypal.com/th/  ... อ้อ แต่คุณจำเป็นต้องมีบัตรเครดิตใช้งานด้วยนะครับ เพราะ PayPal จะช่วยเป็นตัวกลางในจ่ายเงินของคุณผ่านวิธีตัดบัตรเครดิตของคุณเองครับ

เมื่อจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว ไฟล์เพลงที่เราซื้อจากแต่ละเว็บที่ว่าเขาก็จะเริ่มให้เราเข้าไปดาวน์โหลดได้ ของ shop.dsdfile.com และ bluecoastrecords.com เขาจะมีลิงค์ให้เราเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์เพลงมาทีละไฟล์ ลิงค์ที่ให้จะมีช่วงเวลาที่จำกัดได้ลิงค์มาแล้วอย่ามัวแต่เอ้อระเหยครับ ส่วน HDTracks จะเป็นโปรแกรมดาวน์โหลดไฟล์ทั้งหมดให้แบบอัตโนมัติ ก็ค่อนข้างปลอดภัยดีแต่ความเร็วในการดาวน์โหลดไม่ได้แตกต่างกันมากนัก สำหรับความเร็วอินเตอร์เน็ตพื้นฐานในบ้านเราแนะนำให้ดาวน์โหลดตอนกลางคืนครับ พอตื่นเช้ามาก็ดาวน์โหลดเสร็จพอดี



Tag Editor เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล
ถ้าคุณเริ่มต้นริปแผ่นซีดีด้วย dBPoweramp CD Ripper หรือโปรแกรมอื่นที่มีความสมบูรณ์แบบของ meta data ที่ tag เข้าไปในไฟล์เพลงอยู่แล้ว คุณคงไม่ต้องมองหาโปรแกรม Tag Editor เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อมูลใดๆ แต่ถ้าคุณมีไฟล์เพลงที่เคยริปเอาไว้แล้วแต่ข้อมูล tag ของไฟล์มันไม่สมบูรณ์หรือผิดคุณคงต้องการโปรแกรมเหล่านี้มาช่วยแน่นอน แม้แต่ไฟล์เพลงที่ซื้อหามาแบบดาวน์โหลดผมก็ยังเคยเจอความไม่สมบูรณ์หรือความผิดพลาด meta data ในไฟล์เสียงที่ดาวน์โหลดมาเลยครับ

หน้าตาของโปรแกรม Mp3tag

โปรแกรม Tag Editor ตัวหนึ่งที่ผมลองใช้แล้วคิดว่ามันน่าสนใจมีชื่อว่า ‘Mp3tag’ โปรแกรมตัวนี้เป็นฟรีแวร์มาจากโปรแกรมเมอร์ชาวเยอรมัน เห็นชื่อมีคำว่า Mp3 อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่ามันใช้ได้แต่กับไฟล์ Mp3 นะครับ มันรองรับไฟล์ตระกูล lossless และ lossy ยอดนิยมเกือบทั้งหมดแหละครับ (flac, ape, mp3) เป็นโปรแกรมใส่หรือแก้ไขข้อมูลในไฟล์เพลงที่ดีและใช้งานสะดวกสุดๆ ตัวหนึ่ง เพราะคุณสามารถสั่งมันเปลี่ยนชื่อไฟล์ตามข้อมูล tag ต่างๆ ในไฟล์ หรือกลับกันสั่งแก้ไขข้อมูล tag ตามชื่อไฟล์ก็ได้ สะดวกและคล่องตัวมากครับ มีฐานข้อมูลให้เลือกใช้อยู่จำนวนหนึ่งทั้งฐานข้อมูลในส่วนของ meta data หลักๆ และส่วนที่เป็น cover art หรือภาพปกแผ่นโดยเฉพาะ การใส่หรือเปลี่ยนภาพปกแผ่นทำได้ง่ายๆ แบบ drag & drop คือลากไฟล์ภาพของเราใส่ลงไปในช่องที่เขาเตรียมไว้ในหน้าเมนูหลักของโปรแกรมได้เลย สะดวกมากๆ เป็นโปรแกรมที่ผมเรียกใช้งานเป็นประจำเลยล่ะครับ บอกได้เลยว่านี่เป็นอีกหนึ่งของฟรีและดีที่มีจริงอยู่บนโลกนี้ครับ ข้อจำกัดของเขามีอยู่นิดเดียวคือไม่รองรับการ tag ไฟล์ .wav และใช้งานโปรแกรมได้เฉพาะกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เท่านั้น นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทุกวันนี้ผมยังคงต้องใช้งานคอมพิวเตอร์ทั้งสองค่ายคือแมคอินทอชและวินโดวส์อยู่ วินโดวส์เอาไว้ริปและ tag ใช้เล่นเพลงบ้างแต่ไม่เน้นเล่นเพลงมากเท่ากับคอมพิวเตอร์แมคอินทอช

สำหรับคนที่ใช้แต่คอมพิวเตอร์ค่ายแมคอินทอชไม่ต้องเสียใจครับ ผมพบว่ามีโปรแกรม Tag Editor น่าใช้อยู่หลายตัว หนึ่งในนั้นคือฟรีแวร์อย่าง ‘Tag’ ดาวน์โหลดมาใช้ฟรีได้ที่ sbooth.org/Tag/ โปรแกรมตัวนี้หลักๆ แล้วมีความสามารถใกล้เคียงกับ Mp3tag แต่อาจจะไม่ได้ใช้ง่ายหรือคล่องตัวเท่า (นานๆ จะเจอโปรแกรมที่บนวินโดวส์ทำแล้วใช้ง่ายกว่า) แต่มันถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับแมคอินทอชได้ ดังนั้นผมคิดว่าคนที่ใช้แต่คอมพิวเตอร์แมคอินทอชน่าจะชอบมัน ที่สำคัญคือมันฟรีด้วยล่ะครับ

ในช่วงก่อนหน้าที่ผมจะเขียนต้นฉบับนี้ไม่นาน ผมทราบว่ามีโปรแกรม Tag Editor น้องใหม่สำหรับคอมพิวเตอร์แมคอินทอชอีกตัวที่ฟอร์มมาดีมาก คือมันรองรับการ tag ไฟล์ที่ tag ยากๆ อย่าง .wav หรือแม้แต่ไฟล์ .dsf ของฟอร์แมต DSD ด้วยครับ …โอ้ว

โปรแกรมแอพพลิเคชั่นหรือแอพฯ ตัวนี้มีชื่อว่า ‘Yate Music Tagger’ ราคา $20 หรือประมาณ 6 ร้อยกว่าบาทครับ สามารถทดลองดาวน์โหลดไปใช้งานดูก่อนได้ 14 วัน ที่เว็บไซต์ 2manyrobots.com/yate/ รายละเอียดของโปรแกรมตัวนี้ต้องขอติดเอาไว้ก่อนนะครับ เอาไว้ผมได้ลองเล่นมากกว่านี้แล้วจะมาเขียนบอกเล่าให้อ่านกันอีกทีครับ ใครขี้เกียจรอคอยลองเล่นนำไปก่อนได้เลยเช่นกันครับผม

...............................

คลิ้กที่นี่เพื่ออ่าน บทความตอนที่ 1
คลิ้กที่นี่เพื่ออ่าน บทความตอนที่ 3
คลิ้กที่นี่เพื่ออ่าน บทความตอนที่ 4