วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อยากดูดิจิตอลทีวี ทำไงอ่ะ?

ตามกำหนดการ ระบบดิจิตอลทีวีในประเทศไทยหลังจากซ้อมออกอากาศทั้งซ้อมเล็ก ซ้อมใหญ่ มาหลายเดือนแล้ว วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2557 ที่ผ่านมาก็ได้ฤกษ์ออกอากาศอย่างเป็นทางการเสียที แม้ว่าในช่วงแรกความพร้อม ความสมบูรณ์อาจจะยังไม่ถึงกับเต็มร้อย แต่ก็สร้างความตื่นเต้นได้พอสมควรให้กับบรรดากองเชียร์ที่อยากเห็นดิจิตอลทีวีแจ้งเกิดในประเทศไทยทัดเทียมบรรดาอารยประเทศกับเขาบ้าง

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่สนใจในระบบดิจิตอลทีวี หลังจากหมกมุ่นอยู่กับมันมาสักพัก ผมก็ได้คำตอบในเบื้องต้นสำหรับหลายๆ คนที่มักจะมีคำถามเกี่ยวกับดิจิตอลทีวีว่า “ถ้าอยากดูดิจิตอลทีวีกับเขาบ้าง ต้องทำอย่างไร?” คุณอาจจะเคยอ่านเรื่องประมาณนี้มาจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ เหมือนกับที่ผมเคยอ่านมา แต่ข้อมูลที่คุณจะได้อ่านต่อไปจากนี้คือข้อมูลที่มาจากภาคปฏิบัติมากกว่า 90% นั่นหมายความว่าคุณเองก็สามารถทำตามหรือนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกันครับ

สิ่งที่คุณต้องสนใจและรู้จัก หากจะดูดิจิตอลทีวี


  1. ทีวีที่รับสัญญาณดิจิตอลทีวีได้โดยตรง จากการสำรวจตลาดผมว่ามันเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนะครับ ไปเดินห้างตอนนี้เกือบทุกยี่ห้อเลยมั้งครับที่พยายามโชว์ว่าทีวีของตัวเองรับสัญญาณดิจิตอลทีวีได้แล้ว ถ้าให้มั่นใจก็มองหาสัญลักษณ์ตรารับรองของกสทช.ด้วยก็ได้ครับ หรือไปส่องดูรอบๆ ทีวีก็ได้ครับถ้าเห็นคำว่า 'DVB-T2' เป็นอันใช้ได้

    DVB-T2 มาจากคำเต็มว่า Digital Video Broadcasting - 2nd Generation Terrestrial ... ซึ่งเป็นมาตรฐานการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลที่ก้าวหน้า ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน และเป็นมาตรฐานที่กสทช.นำมาใช้กับระบบดิจิตอลทีวีบ้านเราครับ

    ใครมีทีวีแบบนี้แล้ว แค่เสียบเสาอากาศกับที่ด้านหลังทีวีแล้วจูนหาสัญญาณดิจิตอลทีวีได้เลยครับ
  2. ถ้าไม่มีข้อที่ 1. แต่ที่บ้านคุณมีทีวีเครื่องเดิมที่มีอินพุต AV หรือ HDMI (แบบหลังจะดีกว่า) ก็สามารถดูดิจิตอลทีวีแท้ๆ ได้เหมือนกันครับ เพียงแค่ไปซื้อกล่อง set top box ที่รับดิจิตอลทีวีได้ มาต่อกับทีวีเครื่องเก่าของเราเท่านั้นเอง (1 กล่องต่อทีวี 1 เครื่อง) ตอนนี้กล่องที่ว่านี้ผมเห็นมีขายกันเกินสิบยี่ห้อแล้วนะครับ ในอนาคตคิดว่าจะมีออกมาอีก หรือเป็นรุ่นใหม่ๆ ของยี่ห้อเดิมที่ออกมาในตอนนี้ก็เป็นได้ ราคามีตั้งแต่ไม่ถึงหนึ่งพันบาทจนถึงสองสามพันบาทแล้วแต่สเปคฯ คุณสมบัติและโปรโมชัน

    จุดที่แนะนำให้พิจารณาดูคือ กล่องนั้นต้องมีเอาต์พุตที่ต่อกับทีวีเครื่องเก่าของเราได้ ถ้าทีวีของคุณเป็นพวก LCD TV, LED TV ที่เป็น Full HD แนะนำให้ดูกล่องที่มีเอาต์พุต HDMI และปล่อย Full HD 1080p ได้ด้วยนะครับ แต่ถ้าทีวีของเก่าของคุณได้รับมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยคุณปู่ยังหนุ่มๆ เป็นทีวีที่มีเฉพาะขั้วต่อ RF อยู่ด้านหลังเครื่อง อย่างนี้ต้องขอแสดงความเสียใจด้วยที่มันไม่ได้ไปต่อครับ ถึงเวลาที่คุณต้องหาซื้อทีวีเครื่องใหม่แล้วล่ะ
  3. เสาอากาศสำหรับดิจิตอลทีวี (Digital TV Antenna) เป็นอีกส่วนที่สำคัญมากๆ เพราะว่าเราจะรับดิจิตอลทีวีได้ชัดแค่ไหน รับได้เสถียรหรือไม่ รับได้ครบทุกช่องหรือเปล่า เสาอากาศนี่แหละครับจะเป็นตัวแปรสำคัญ

    เสาอากาศที่สามารถใช้รับสัญญาณดิจิตอลทีวีได้คือ

    3.1 เสาหนวดกุ้ง หนวดแมว หรืออะไรก็ตามแต่ที่เป็นเสาอากาศแบบง่ายๆ ราคาไม่แพง เป็นเทคโนโลยีใช้กับทีวีรุ่นเก่ามาตั้งแต่สมัยคุณปู่ยังหนุ่มๆ มาจนถึงทุกวันนี้ เสาประเภทนี้ถ้าหากจะใข้รับสัญญาณดิจิตอลทีวีได้ อย่าลืมดูสเปคฯ ว่ารับสัญญาณย่านความถี่ UHF ได้ด้วยนะครับ

    ข้อดีของเสาประเภทนี้มีอย่างเดียวคือราคาถูก แต่ข้อเสียเต็มไปหมด เพราะมันมีความไวในการรับสัญญาณที่ต่ำกว่าเพื่อน ระยะทางที่รับได้ก็น้อยกว่าเพื่อน เพราะสำหรับคนที่บ้านอยู่ข้างสถานีส่ง หรือห่างกันแค่สองสามกิโลเมตรเท่านั้น แถมรอบข้างต้องไม่โดนอาคารใหญ่บังสัญญาณด้วย แน่นอนว่าความเสถียรเป็นรองแบบอื่นแน่และอาจจะรับสัญญาณได้ไม่ครบทุกช่อง... not recommended

    3.2 เสาก้างปลา หรือเสาอากาศนอกอาคารอันใหญ่ๆ ที่ติดอยู่บนดาดฟ้าของบ้านนั่นแหละครับ นี่ก็ใช้กันมานานนม ไม่แพ้เสาหนวดกุ้ง มาเริ่มเสื่อมความนิยมในยุคที่จานดาวเทียมเข้ามาบูม แต่เวลานี้เขากลับมาแล้วครับ ใครยังไม่รื้อทิ้งขอแสดงความยินดีด้วย อ้อ อย่าลืมว่าเสาก้างปลาของคุณต้องมีคุณสมบัติรับย่านความถี่สัญญาณย่าน UHF ได้ด้วยนะครับ

    ข้อดีของเสาประเภทนี้คือ มันรับสัญญาณได้ไกลกว่าเพื่อนและไม่ค่อยกลัวเรื่องอับสัญญาณเท่าพวกเสาที่อยู่ในอาคาร เหมาะกับบ้านที่อยู่ห่างไกลจากสถานีส่งเกิน 30-50 กิโลเมตรเป็นต้นไป แต่ข้อเสียคือขนาดใหญ่เทอะทะ การติดตั้งปรับจูนยุ่งยากกว่าเสาแบบในอาคาร และถ้าหากบ้านอยู่ไกลสถานีส่งมากๆ สัญญาณที่รับมาจะไม่เข้มข้นเท่าที่ควร ต้องไปขวนขวายติดบูสเตอร์เพิ่มเอา ทำให้การติดตั้งและปรับจูนยุ่งยากขึ้นไปอีก จากปกติที่ยุ่งยากอยู่แล้ว

    3.3 เสาอากาศภายในอาคารระบบแอคทีฟ (มีเกนขยาย) เสาแบบนี้เป็นแบบที่ส่วนตัวผมเลือกใช้เพราะมันตอบโจทย์ของผมทุกประการ เพราะมันถูกออกแบบมาให้ใช้กับพื้นที่ที่อับสัญญาณแต่อยู่ไม่ห่างไกลจากเสาส่งสัญญาณ ถ้าเป็นพื้นที่เขตกทม.และปริมณฑลทราบว่าเสาส่งสัญญาณดิจิตอลทีวีจะรวมอยู่ที่ตึกใบหยก 2 ลองให้ Google Map ช่วยคำนวณก็พบว่ามันห่างจากบ้านผมราวๆ 15 กิโลเมตรเท่านั้นเอง เรื่องอับสัญญาณค่อนข้างมั่นใจเพราะโดยรอบบ้านถูกล้อมด้วยอาคารที่สูงกว่าทั้ง 3 ด้าน ถ้าใช้เสาอากาศที่ไม่มีเกนขยายรับรองว่าไม่รอดเพราะเคยลองมาแล้วกับเสาอากาศรับวิทยุ FM แบบหนวดกุ้ง

    จุดเด่นของเสาอากาศประเภทนี้คือมันจะมีวงจรขยายสัญญาณในตัว วงจรนี้ใช้ไฟเลี้ยงจากกล่อง set top box โดยตรง (ตั้งค่าได้ในเมนูปรับตั้งของกล่อง set top box) แต่ถ้าใช้กับทีวีที่มีจูนเนอร์ดิจิตอลทีวีในตัว ประสิทธิภาพการรับสัญญาณของเสาอากาศจะลดลงไปมาก เนื่องจากจูนเนอร์ของทีวีส่วนใหญ่ไม่มีไฟเลี้ยงในตัวเหมือนกับกล่อง set top box ระบบแอคทีฟเพิ่มความไวสัญญาณของเสาอากาศจึงไม่ทำงาน ทางแก้ไขคือให้พ่วงกล่องจ่ายไฟที่เรียกว่า 'Power Insert' เข้าไปคั่นระหว่างทีวีและเสาอากาศ เพื่อให้เสาอากาศประเภทนี้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (บางยี่ห้อให้มากับเสาอากาศแล้ว)

จากประสบการณ์ส่วนตัว หลังจากพบว่าเสาก้างปลาที่อยู่บนดาดฟ้าของบ้านไม่สามารถรับสัญญาณดิจิตอลทีวีบางช่อง บางความถี่ได้ ผมก็ได้ลองใช้เสาอากาศภายในอาคารระบบแอคทีฟรุ่น D1A ของยี่ห้อ สามารถ (SAMART) เจ้าพ่อเสาอากาศของไทยที่สร้างชื่อมาช้านาน ก็พบว่ามันรับสัญญาณได้ดีกว่าเสาก้างปลานอกอาคาร แถมยังรับได้ครบทุกช่องด้วยครับหลังจากใช้เวลาหาตำแหน่งและทิศทางจัดวางอยู่เพียงไม่นาน

เสารุ่นนี้ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่เทอะทะ (เล็กกว่าเครื่องทำน้ำอุ่นหน่อยเดียว) และราคาแพงกว่าเสาอากาศภายในแบบแอคทีฟของจีนที่มีขายทั่วไป (ลักษณะเป็นแท่ง ยาวแค่คืบกว่า) แต่ก็รับสัญญาณได้ดีกว่า แม่นยำกว่า แสดงถึงกึ๋นของทางทีมออกแบบของบ.สามารถ เขา ผมลองหาตำแหน่งวางในชั้นล่างของบ้านอยู่ 2 จุดตามตำแหน่งที่วางทีวี พบว่าเสาสามารถ เขาสามารถสมชื่อจริงๆ... highly recommended เลยครับ

ถ้าใช้เสาอากาศแบบในอาคาร การขยับหาตำแหน่งสำคัญมากต่อผลกการรับสัญญาณ การเปลี่ยนตำแหน่งเพียงแค่ไม่กี่นิ้วมีผลต่อคุณภาพการรับสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญ ถึงแม้ว่าเสาอากาศที่ใช้จะเป็นแบบแอคทีฟแล้วก็ตาม