วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อภิธานศัพท์เกี่ยวกับดิจิตอลทีวี (ฉบับผู้ใช้งาน)


DVB-T2
เป็นตัวย่อมาจากคำเต็มว่า Digital Video Broadcasting - 2nd Generation Terrestrial หมายถึงมาตรฐานการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอลที่ก้าวหน้า ทันสมัย มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน และเป็นมาตรฐานที่ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำมาใช้กับระบบดิจิตอลทีวีบ้านเรา


MUX
เป็นตัวย่อมาจากคำเต็มว่า Multiplexer ซึ่งมีความหมายตามบริบทของระบบดิจิตอลทีวีว่า 'ผู้บริหารโครงข่ายดิจิตอลทีวี' โครงข่ายตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่รวบรวมบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือบริการสัญญาณอันใดที่จำเป็นเพื่อส่งหรือถ่ายทอดผ่านช่องสัญญาณเดียวพร้อมกัน

ระบบ Multiplex ในดิจิตอลทีวีถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความสิ้นเปลืองช่วงความถี่ในระบบอะนาล็อกทีวีเดิมที่หนึ่งช่วงความถี่สามารถส่งได้เพียงช่องเดียว ไม่เพียงพอต่อความต้องการในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ยุคใหม่

การแพร่สัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลแบบใหม่จึงแก้ปัญหานี้โดยการบีบอัดสัญญาณโทรทัศน์ให้มีขนาดเล็กลง และจับสัญญาณโทรทัศน์หลายๆ ช่องมา “มัดรวม” ให้อยู่ในคลื่นความถี่ชุดเดียวกัน  คลื่นที่ส่งออกไปจึงประกอบด้วยสัญญาณโทรทัศน์หลายช่องรวมกัน ช่วยประหยัดแบนด์วิดธ์ของสัญญาณลงได้มาก

ในปัจจุบัน MUX ที่ออกอากาศแล้วมีรายละเอียดดังนี้
MUX1 PRD ช่องความถี่ 26 ความถี่ 514 MHz
MUX2 TV5mux2 ช่องความถี่ 36 ความถี่ 594 MHz
MUX3 MCOT ช่องความถี่ 40 ความถี่ 626 MHz
MUX4 TPBS ช่องความถี่ 44 ความถี่ 658 MHz
MUX5 TV5mux5 ช่องความถี่ 52 ความถี่ 722 MHz


iDTV 
ย่อมาจากคำเต็มว่า Integrated Digital Television หมายถึงเครื่องรับโทรทัศน์แบบมีจอภาพแสดงผล (ทีวี) ที่มีภาครับสัญญาณดิจิตอลทีวีในตัว


HD และ SD
HD และ SD ย่อมาจากคำเต็มว่า High-Definition ซึ่งมีความหมายว่า มาตรฐานความคมชัดสูง และ Standard Definition ซึ่งมีความหมายว่า มาตรฐานความคมชัดปกติ ตามลำดับ

HD ในระบบดิจิตอลทีวีของประเทศไทยจะให้รายละเอียดภาพที่มีความคมชัดสูงในระดับ 720P หรือ 1080i และ SD จะให้รายละเอียดภาพที่มีความคมชัดระดับ 576i, 576P เทียบเท่าฟรีทีวีระบบอะนาล็อกในปัจจุบัน


LCN
ย่อมาจากคำเต็มว่า Logical Channel Number หมายถึง หมายเลขช่องที่ได้ถูกกำหนดไว้จากแม่ข่ายกระจายสัญญาณ หรือหมายเลขช่องที่ได้ถูกกำหนดไว้ตามประกาศของกสทช.ซึ่งจะใช้เหมือนกันทั่วประเทศ ต่างจากระบบอะนาล็อกทีวีแบบเดิมที่เมื่อเราทำ auto search หรือ auto scan คลื่นความถี่ของช่องใดที่ค้นพบก่อนก็จะได้หมายเลขก่อนตามลำดับความถี่ที่ค้นพบ


EPG
ย่อมาจากคำเต็มว่า Electronic Program Guide หมายถึงผังรายการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกอบไปด้วย
- วัน เดือน ปีและเวลาปัจจุบัน
- เวลาเริ่มรายการปัจจุบัน (now/present) และรายการถัดไป (next/follow)
- เวลาจบรายการปัจจุบัน (now/present) และรายการถัดไป (next/follow)
- หมายเลขช่อง (LCN)
- ชื่อตอน และ/หรือ ชื่อเรื่องของรายการ
- คําอธิบายโดยย่อ
- ประเภทรายการ

ทั้งนี้เครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลจะต้องสามารถเก็บและแสดงผลผังรายการอิเล็กทรอนิกส์ล่วงหน้าได้ไม่น้อยกว่า 7 วัน (24 ชั่วโมงต่อวัน)


Strength และ Quality
Strength และ Quality หมายถึงความเข้มสัญญาณและคุณภาพสัญญาณ ตามลำดับ เป็นข้อมูลที่พบเจอได้ในส่วนของเมนูที่เกี่ยวกับการรับสัญญาณ รายละเอียดเพิ่มเติมดูในหัวข้อ ‘การติดตั้ง ค้นหาและตั้งค่าช่องสถานีดิจิตอลทีวี’


PVR
ย่อมาจากคำเต็มว่า Personal Video Recorder หมายถึงฟังก์ชันในการบันทึกรายการทีวีเก็บเป็นไฟล์ข้อมูลดิจิตอลเพื่อเอาไว้รับชมในภายหลัง โดยมากจะเป็นการบันทึกลงหน่วยบันทึกข้อมูลไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์หรือแฟลชเมมมอรี่ผ่านพอร์ต USB ฟังก์ชันนี้พบได้ใน DTV STB บางรุ่นและไม่ได้เป็นข้อกำหนดของกสทช.


TimeShift
เป็นฟังก์ชันบันทึกรายการทีวีล่วงหน้าพร้อมทั้งรับชมรายการในขณะเดียวกัน ฟังก์ชันนี้พบได้ใน DTV STB บางรุ่นและไม่ได้เป็นข้อกำหนดของกสทช. รายละเอียดเพิ่มเติมดูในบทความ ‘Timeshift ฟังก์ชันหยุดเวลา ... ดูรายการทีวีได้เหมือนเปิดดูจากแผ่น’