วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Review - Soken DB-234


ผมได้รับกล่อง DTV STB รุ่นใหม่ล่าสุดของโซเคน (Soken) ชื่อรุ่นว่า DB-234 มาก่อนที่สินค้าจริงจะวางตลาดเล็กน้อย ครั้งแรกที่เห็นเรียนตามตรง... ผมคิดว่ามันเป็นรุ่นประหยัด! คือกะทำออกมาขายแบบสู้ราคาว่าอย่างนั้นเถอะ

ก่อนหน้านี้ถ้าคุณติดตามตลาดของ DTV STB จะทราบว่าโซเคนเขามีสินค้าวางตลาดอยู่แล้วรุ่นสองรุ่น รุ่นเหล่านั้นมีตัวเครื่องที่ใหญ่กว่า มีจอแสดงผลและปุ่มกดต่างๆ ที่หน้าเครื่อง ขั้วต่อด้านหลังเครื่องก็ให้มามากกว่า.. แล้วลองหันไปดูรุ่นใหม่อย่าง DB-234 สิครับ ตัวเครื่องที่ทำด้วยพลาสติกสีดำเจาะรูพรุนไปทั่วมีขนาดเล็กนิดเดียว ลำพังแค่ฝ่ามือผมวางทาบลงไปก็แทบจะบังเครื่องจนมิดแล้ว ด้านหน้าก็โล่งๆ ขั้วต่อด้านหลังเครื่องก็มีมาให้ใช้งานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

แต่ลองดูป้ายราคาเทียบกันสิครับ มันกลับเป็นตรงกันข้ามเลย DB-234 เป็นกล่อง DTV STB ที่โซเคนติดป้ายราคาเอาไว้สูงกว่าเพื่อนนั่นคือ 1,690 บาท ถ้าเทียบ DTV STB ที่มีจำหน่ายในบ้านเราตอนนี้ก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มระดับบน (>1,500 บาท)



มีอะไรในกล่อง
ในแพคเกจกล่องกระดาษที่ดูไม่แตกต่างจาก DTV STB อีก 3-4 รุ่นที่ผมเคยได้ลองเล่นมา หน้ากล่องระบุรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเครื่องเอาไว้ชัดเจนตั้งแต่เรื่องของสัญญาณภาพแบบ Full HD, รองรับสัญญาณ Dolby Digital, รองรับภาษาไทยเต็มรูปแบบ และระบบ Standby เครื่องที่ใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำกว่า 1 วัตต์

อันหลังนี้คงถูกใจแม่บ้านเป็นพิเศษ เพราะคุณพ่อบ้านเราส่วนใหญ่เวลาปิดทีวีก็กดปิดเอาจากรีโมตเนี่ยแหละ ไม่ค่อยปิดเครื่องแบบ full shut-down หรือดึงปลั๊กออกกันสักเท่าไร.. จริงไหม

เมื่อเปิดกล่องออกก็ยังพบกับอุปกรณ์มาตรฐานที่ดูไม่แตกต่างจาก DTV STB ทั่วไปอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสายสัญญาณ HDMI และ AV เกรดพอใช้งานได้, คู่มือที่มีภาษาไทย, รีโมตอินฟราเรด, อะแดปเตอร์ไฟเลี้ยง และใบรับประกัน โซเคนรุ่นนี้รับประกัน 2 ปีครับ เท่ากับ Createch CT-1 ที่ผมได้รีวิวไปก่อนหน้า

รีโมตที่ให้มาสะดุดตาด้วยภาษาไทยที่กำกับมาในแต่ละปุ่มกด อันนี้แหละที่ไม่ได้มีในกล่อง DTV STB ทั่วไป... ว่าแต่ทำไมตัวหนังสือมันเล็กจัง คุณพ่อคุณแม่ผมจะมองเห็นไหมหนอ ?

ตัวเครื่องที่ทำจากพลาสติกสีดำเมื่อได้จับต้องตัวจริงกันแล้วต้องบอกว่าให้ฟิลลิงที่ดีพอสมควรครับ งานผลิตและงานประกอบก็เรียบร้อยดี วัสดุดีไม่ใช่พลาสติกรีไซเคิลเกรดถ้วย ถัง กาละมังราคาถูก บนตัวเครื่องมีสติกเกอร์รับรองคุณภาพมาตรฐานจาก กสทช. แสดงไว้ชัดเจน

เทียบขนาดกับ Createch CT-1
(Soken DB-234 อยู่ด้านบน)
ขั้วต่อสัญญาณต่างๆ ด้านหลังเครื่องให้มาครบถ้วนตามกล่อง DTV STB ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นขั้วต่อเสาอากาศพร้อมทั้งขั้วต่อ Loop Out ให้พ่วงสัญญาณจากเสาอากาศออกไป, ขั้วต่อ HDMI สำหรับต่อใช้งานกับ TV รุ่นใหม่ๆ ที่มีขั้วต่อประเภทนี้, ขั้วต่อสัญญาณ AV Out สำหรับทีวีรุ่นเก่าที่ไม่มีขั้วต่อ HDMI

DTV STB รุ่นนี้ไม่มีจอแสดงผลและปุ่มกดใดๆ ที่ตัวเครื่องนะครับ หน้าเครื่องมีแค่ไฟ LED 2 ดวงและพอร์ต USB 2.0 ที่รองรับการเชื่อมต่อกับ External Storage (Flash Memory, HDD) สำหรับใช้งานฟังก์ชันเล่นไฟล์มีเดีย, ฟังก์ชัน PVR, ฟังก์ชัน Timer และฟังก์ชัน TimeShift

นั่นหมายความว่า เมื่อเสียบไฟเข้าอะแดปเตอร์ไฟเลี้ยงที่เชื่อมต่ออยู่กับตัวเครื่อง มันก็พร้อมทำงานทันที จะ Standby หรือ Power On ก็แล้วแต่กรณี การควบคุมสั่งงานทั้งหมดต้องกระทำจากรีโมตคอนโทรลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น...

ดังนั้นคุณผู้ชายที่มีภรรยา ห้ามเมาแล้วเผลอทำรีโมตหายโดยเด็ดขาด! ... มิเช่นนั้นแล้วภรรยาที่กำลังรอดูละครยุงชุมหลังข่าวหรือซีรียส์เกาหลีเรื่องโปรดอาจจับท่านประหารชีวิตได้ อันนี้ขอเตือนด้วยความปรารถนาดี



การใช้งานทั่วไปและเมนูปรับตั้งของกล่อง
สภาพแวดล้อมของการทดสอบใช้งาน Soken DB-234 ยังคงเหมือนกับเมื่อคราวที่ รีวิว Createch CT-1 จะบอกว่าแค่เปลี่ยนลงไปแทนที่กันก็ยังได้ครับ เมื่อเปิดใช้งานครั้งแรกกล่องรุ่นนี้ก็เหมือนกล่อง DTV STB อื่นๆ ตรงที่มีเมนูพาเราเข้าไปตั้งค่าพื้นฐานเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นภาษา, พื้นที่ประเทศที่รับสัญญาณ, รายละเอียดและสัดส่วนของจอรับภาพ






แต่ที่แปลกตาไปเล็กน้อยคือ นอกจากจะเลือกประเทศให้เป็นประเทศไทยได้แล้ว กล่องรุ่นนี้ยังสามารถเลือกขอบเขตพื้นที่การรับสัญญาณได้ด้วย เช่น กรุงเทพฯ, พัทยา, ...  แต่บังเอิญผมยังไม่มีโอกาสได้เอาไปลองต่างพื้นที่นอกจากกรุงเทพฯ ก็เลยไม่ทราบว่ามันมีผลอะไรหรือไม่ แต่เท่าที่เห็นในกล่องรุ่นอื่นๆ ที่ลองมาจะไม่มีให้เลือกพื้นที่ได้ละเอียดอย่างนี้

สำหรับคนที่ใช้เสาอากาศแบบแอคทีฟ เปิดกล่องรุ่นนี้มาครั้งแรกอย่าเพิ่งตกใจที่เห็นว่าความเข้มและคุณภาพการรับสัญญาณ (Signal Intensity และ Signal Quality) อยู่ในระดับที่ต่ำมากหรือรับสัญญาณไม่ได้เลย เพราะค่า default ของกล่องรุ่นนี้จะไม่เปิดไฟเลี้ยงเสาอากาศเอาไว้ ดังนั้นถ้าเปิดมาเจอเมนูแรกรับเช่นนี้ แนะนำให้กดปุ่ม Menu เพื่อเข้าไปเปิดไฟเลี้ยงเสาอากาศเสียก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มให้กล่องสแกนหาช่องสถานีแบบอัตโนมัติ รายละเอียดของการติดตั้งและสแกนหาช่องสถานีที่เป็นเรื่องพื้นฐานผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้เพราะคุณสามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความ 'ติดตั้งและเซ็ตอัพดิจิตอลทีวี... ทำเองก็ได้ง่ายจัง'

ระหว่างการค้นหาช่องแบบ Auto Scan

เปรียบเทียบเวลาในการ Auto Scan จนได้ช่องรายการครบทุกช่อง
ของกล่องแต่ละรุ่น จะเห็นว่า DB-234 ใช้เวลาน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ภาครับสัญญาณใช้ชิพ Demodulator จาก SONY

จุดเด่นแรกที่ต้องชมเชยสำหรับกล่องรุ่นนี้คือการสแกนหาช่องสถานีที่ทำงานได้รวดเร็วกว่า Createch CT-1 อย่างเห็นได้ชัด การค้นหาช่องให้ได้ครบทั้ง 38 ช่องในเวลานี้ สามารถทำได้รวดเร็วกว่ากันน่าจะเป็นเท่าตัวเลยทีเดียวครับ นั่นรวมถึงขั้นตอนการเปิดเครื่อง บูตเครื่อง รวมทั้งการเข้า-ออกเมนูหรือฟังก์ชันต่างๆ ด้วยครับ อาจจะเป็นเพราะใช้โปรเซสเซอร์หรือชิพถอดรหัสที่ทำงานได้รวดเร็วกว่าด้วยหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะเมื่อเปิดใช้งานด้วยระยะเวลาพอๆ กันตัวกล่องของ Soken จะร้อนกว่าแม้ว่าจะเป็นเครื่องที่แยกภาคจ่ายไฟออกไปข้างนอกเหมือนกันก็ตาม มันทำให้ผมหายสงสัยเลยว่า ทำไมเขาถึงเจาะช่องระบายความร้อนที่ตัวกล่องมามากมายอย่างนั้น ดังนั้นถ้าใช้กล่องรุ่นนี้อย่าลืมหาที่วางที่สามารถระบายความร้อนได้ดีด้วยนะครับ อย่าวางบนผ้าหรือพรมเพราะมันร้อนเอาเรื่องเลยทีเดียว

และที่แน่ๆ ภาครับสัญญาณของ DB-234 ใช้ชิพถอดรหัสหรือชิพ Demodulator ของ SONY ครับ ซึ่งก็เป็นชื่อที่คุ้นหูและมั่นใจได้มากกว่า ขณะที่กล่อง DTV STB อย่าง Createch CT-1 หรืออีกหลายรุ่นที่ขายในบ้านเราตอนนี้ใช้ชิพมหาชนของยี่ห้อ M Star ซึ่งก็เป็นที่ยี่ห้อที่เห็นว่าเอาดีทางนี้เหมือนกัน เพียงแต่ชื่อชั้นยังไม่ถึงขั้นที่ SONY เขาสร้างชื่อเอาไว้

สำหรับเมนูตั้งค่าพื้นฐานก็ทั่วไปครับ ตั้งวันที่และเวลา เปิดใช้งานฟังก์ชันที่จำเป็นเช่น LCN หรือฟังก์ชันเรียงเลขช่องสถานี รายละเอียดภาพสามารถเลือกปล่อยสัญญาณเป็น Full HD 1080p สำหรับทีวีรุ่นใหม่ๆ หรือ 576i สำหรับทีวีรุ่นเก่าได้ด้วย สัดส่วนจอภาพก็มีให้เลือกทั้งแบบ 4:3 รูปแบบต่างๆ และไวด์สกรีน 16:9 เอาเป็นว่ารองรับทีวีที่จำหน่ายทั่วไปได้แทบทุกรุ่น






นอกจากการตั้งค่ารายละเอียดภาพและสัดส่วนจอภาพแล้ว กล่องรุ่นนี้ยังมีเมนูปรับแต่งภาพมาให้ใช้งานด้วยครับ ได้ใช้หรือไม่นั้นก็อีกเรื่องหนึ่งเพราะส่วนมากเราจะนิยมปรับภาพที่ตัวทีวีกันเสียมากกว่า แต่มีมาให้ก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่กล่อง DTV STB บางรุ่นจะไม่มีส่วนนี้ ระบบ OSD หรือ On Screen Display สามารถเลือกตั้งค่าระยะเวลาที่แสดงและความโปร่งของสีพื้นได้

เก็บตกอีกเล็กน้อยในเมนู Tools ที่สามารถเรียกดูข้อมูลของเครื่องได้ บอกกันชัดๆ แบบไม่มีเม้มเลยว่าสเปคฯ เครื่องเป็นอย่างไร นอกจากนั้นเมนูนี้ยังสามารถพาเข้าถึงการอัพเดตเฟิร์มแวร์ได้ทั้งทาง OTA และ USB (อันนี้เป็นสเปคฯ ของ กสทช.) และที่น่ารักน่าชังคือในเมนูนี้ยังมีเกมง่ายๆ มาให้เล่นแกเหงาด้วยครับ (เผื่ออยากจะเล่นอ่ะนะ)

สำหรับเมนูในส่วนของการเล่นมีเดียไฟล์ ฟังก์ชัน PVR และ Timeshift จะพูดถึงอีกครั้งในหัวข้อ 'การใช้งานช่อง USB'



การรับชมดิจิตอลทีวี
Soken DB-234 กับเสาอากาศ Samart D1A สามารถทำงานเข้ากันได้ดี และรับสัญญาณดิจิตอลทีวีของประเทศไทยได้ครบทั้ง 38 ช่อง (สูงสุดในปัจจุบัน) ในขณะที่กดปุ่ม Info เพื่อดูสถานะของการรับสัญญาณในแต่ละช่องรายการ หรือการเข้าไปค้นหาช่องรายการแบบ Manual Scan ผมสังเกตว่ากล่องรุ่นนี้แจ้งผลการรับสัญญาณเอาไว้ค่อนข้างสอดคล้องกับความเป็นจริง ระดับความเข้มและคุณภาพของสัญญาณ สอดคล้องกับคุณภาพของสัญญาณภาพที่ปรากฎอยู่บนหน้าจอทีวี ขณะที่กล่อง DTV STB อีกหลายรุ่นจะพยายามแสดงระดับความเข้มที่ดูดีเกินจริง ขณะที่คุณภาพของสัญญาณนั้นดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกันเอาเสียเลย

การเรียงช่องตาม LCN
เมนู EPG
 การเลือกระบบเสียงที่จะรับชม

ดิจิตอลทีวีของประเทศไทย ณ วันที่ผมเขียนรีวิวอยู่นี้คุณภาพของภาพทั้งช่อง SD และ HD ต้องบอกว่ายังผีเข้าผีออกอยู่นะครับ นอกจากมีความแตกต่างกันมากในแต่ละช่องรายการ แม้แต่ในช่องเดียวกันก็ยังมีคุณภาพของภาพที่ต่างกันมากในแต่ละคอนเทนต์ด้วยครับ

ช่องดิจิตอลทีวีที่ผมได้รับชมผ่านกล่องรุ่นนี้แล้วรู้สึกว่าให้ค่าเฉลี่ยคุณภาพของภาพและเสียงค่อนข้างดีได้แก่ ไทยรัฐทีวี, ช่อง 7 HD, PPTV, One HD, ช่อง 3 HD และ ThaiPBS HD สำหรับช่อง MCOT HD นั้นโดยส่วนใหญ่ให้ภาพที่รู้สึกได้เลยว่าไม่เป็น HD สมชื่อยกเว้นเวลาเขาถ่ายทอดสดรายการแข่งรถระดับนานาชาติหรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีก จึงจะได้รับชมภาพที่สมกับเป็นช่อง HD จริงๆ

ผมเคยเข้าใจว่ากล่อง DTV STB ระดับราคาพันกว่าบาทที่ขายในบ้านเราแต่ละรุ่นไม่น่าจะให้ภาพที่แตกต่างกันมากมาย เมื่อต่อใช้งานกับทีวี Full HD คุณภาพดีกล่องรุ่นนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับกล่อง Createch CT-1 ของผมได้

ภาพจากช่อง SD จากคอนเทนต์ที่มีคุณภาพดีพอสมควร
ภาพจากการถ่ายทอดสดแบบ HD
โฆษณาที่เป็นระบบภาพแบบ HD
ภาพ HDจากช่อง ThaiPBS
ภาพ HDจากข่าวช่อง ThaiPBS
ภาพ HD จากช่อง 3 HD

ในช่องรายการ HD ที่ให้ภาพออกมาค่อนข้างดี กล่องของ Soken จะให้ภาพใสกว่า ไดนามิกดีกว่า สว่างและเนียนตากว่า ทำให้ภาพที่เห็นดูมีมิติตื้น-ลึกดีกว่า การเคลื่อนไหวของภาพก็มีลักษณะที่ราบรื่นกว่าจนสามารถมองเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

นอกจากนั้นในสภาวะที่คุณภาพสัญญาณไม่ค่อยดีนักอย่างในช่วงนี้ที่บาง MUX ยังมีการทดสอบและเปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ ที่ใช้ในการออกอากาศอยู่ ในช่วงเวลาเดียวกัน ช่องเดียวกัน สภาพแวดล้อมเดียวกัน กล่อง Soken DB-234 จะรับสัญญาณได้เสถียรกว่า คุณภาพของสัญญาณที่รับได้ (Signal Quality) โดยเฉลี่ยดีกว่ากันอย่างชัดเจน

อย่างเช่นกรณีที่บางครั้งกล่องของ Createch แจ้งว่ารับความเข้มสัญญาณได้ที่ 100% แต่คุณภาพของสัญญาณกลับมีอาการวูบวาบ แกว่งไปมาขึ้นๆ ลงๆ หรือภาพวูบหายไปเพราะถอดรหัสไม่ได้ ขณะเดียวกันกล่องของ Soken จะแจ้งว่ารับความเข้มสัญญาณได้ที่ระดับ 80-90% เท่านั้น แต่คุณภาพของสัญญาณจะรับได้สูงกว่าและนิ่งกว่า ทำให้ภาพรวมของการรับสัญญาณดีกว่ากันอย่างชัดเจน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เด่นมากของกล่อง DTV STB รุ่นใหม่จาก Soken ตัวนี้


เปรียบเทียบการรับสัญญาณของ DB-234 (บน) และ CT-1 (ล่าง)

การใช้งานปุ่มควบคุมพื้นฐานต้องบอกว่าใกล้เคียงกับกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ใครที่คุ้นชินกับกล่องดาวเทียมอยู่แล้ว มาใช้งานกล่องตัวนี้ก็คงไม่มีอะไรน่าปวดหัว ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนช่องแบบกดเลื่อนไปทีละช่อง กดปุ่มเลขช่องโดยตรงหรือกดเรียกรายชื่อช่องที่รับสัญญาณได้ขึ้นมาดูบนหน้าจอ, การปรับเพิ่ม-ลดความดังเสียง, การเรียกเมนู Audio ขึ้นมาเพื่อเลือกระบบเสียง, การกด Info เพื่อดูรายละเอียดของการรับสัญญาณช่องนั้นๆ ตลอดจนการเรียกดูผังรายการทีวี (EPG) ของช่อง

นอกจากที่ว่ามาแล้ว กล่องรุ่นนี้ยังมีฟังก์ชัน ค้างหน้าจอรายการทีวีที่เรารับชมอยู่ได้ด้วยโดยการกดปุ่ม pause ที่รีโมต คราวหน้าเวลารายการมีเบอร์โทรหรือที่อยู่ให้ส่งชิงโชคอะไรก็ไม่ต้องรีบจดแล้วครับ กดปุ่มหยุดหน้าจอให้แช่ภาพค้างไว้ได้เลย หรือจะเป็นรายการสอนทำอาหาร เวลาเขาบอกสูตรก็เอาฟังก์ชันนี้ไปใช้ได้เช่นกัน อ้อ... แต่ในขณะที่เราแช่ภาพ รายการก็ยังดำเนินไปตามปกตินะครับ พอเรากด pause อีกทีเพื่อกลับมารับชมรายการตามปกติ มันจะไม่ต่อเนื่องกันเหมือนการใช้ฟังก์ชัน TimeShift นะครับ

พูดถึง GUI (Graphic User Interface) ของกล่องรุ่นนี้ไม่ว่าจะเป็นส่วนของเมนูตั้งค่าหรือหน้าต่างแสดงสถานะต่างๆ จะเห็นได้ว่ามันดูแตกต่างไปจากกล่อง DTV STB ส่วนใหญ่ที่ขายในบ้านเราที่มี GUI ดูคล้ายกันจนเหมือนจะคลอดมาจากโรงงานเดียวกัน แค่เอามาเปลี่ยนแถบสีหรือหน้าตานิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่โครงสร้างดูคล้ายๆ กันไปหมดทว่า GUI ของ DB-234 นั้นจะเป็นอะไรที่แตกต่างออกไปเลย

เจ้าหน้าที่ที่ดูแลผลิตภัณฑ์ของ Soken เคยบอกผมว่า GUI ในกล่อง DTV STB ของ Soken นั้นไม่ตามแบบใคร แต่ออกแบบใหม่ขึ้นมาเป็นของตัวเองเลย เห็นกับตาของตัวเองแล้วก็เป็นอย่างที่เขาคุยไว้จริงๆ นั่นล่ะครับ นอกจากไม่เหมือนใครแล้วมันยังใช้ง่าย เข้าใจง่าย มีสีสันที่สดใสและขนาดที่ใหญ่โตดูสบายตาด้วยต่างหากครับ



การใช้งานช่อง USB
แม้จะเป็นแค่ขั้วต่อ USB เหมือนกับกล่อง DTV STB รุ่นอื่นๆ แต่ขั้วต่อ USB ใน DB-234 มาพร้อมกับฟังก์ชันที่ทำให้ผมรู้สึกว่า "เฮ้ย มันเจ๋งอ่ะ"

ก่อนอื่นสังเกตไฟ LED แสดงผลที่หน้าเครื่องนะครับ LED หน้าเครื่องทั้ง 2 ดวง เป็น LED ที่มี 2 สีในหลอดเดียวกันคือไฟสีแดงและสีเขียว ดวงหนึ่งขณะ Standby จะเป็นสีแดงและเปลี่ยนเป็นสีเขียวตอนเปิดเครื่อง อีกดวงหนึ่งถ้าไม่มีการเสียบใช้งานช่อง USB มันจะไม่ติดสว่าง แต่ถ้าเสียบใช้งานช่อง USB มันจะติดสว่างเป็นสีเขียว และถ้าฟังก์ชัน PVR กำลังทำการบันทึก (Record) ไฟดวงนี้จะเปลี่ยนเป็นสีแดง


พอร์ต USB ของ DB-234 สามารถใช้งานได้กับทั้งอุปกรณ์ storage ที่ฟอร์แมตเป็น FAT32 และ NTFS ใช้งานได้ทั้งกับ Flash Drive (Thumb Drive หรือ SD ที่เสียบกับ reader) และ External HDD (Hard Disc Drive) ในโหมดเล่นไฟล์มีเดียสามารถเข้าถึงได้โดยการเข้าไปในเมนูหลักของเครื่องแล้วเข้าไปที่เมนู Media Player ไฟล์มีเดียที่เล่นได้มีทั้งไฟล์ภาพนิ่ง วิดีโอและเสียง ซึ่งไฟล์ที่สามารถเล่นได้ส่วนใหญ่ก็เป็นไฟล์ฟอร์แมตยอดนิยมทั่วไปล่ะครับ

จากที่ได้ลอง Soken DB-234 เล่น media file ต่างๆ โดยเฉพาะไฟล์วิดีโอได้ดีกว่า Createch CT-1 คือเล่นฟอร์แมตได้ภาพและเสียงได้มากกว่า ให้ภาพออกมาสวยกว่า แต่ก็ไม่รองรับไฟล์หลากหลายเท่าพวกเครื่องเล่นอย่าง media file โดยตรงอย่างยี่ห้อ Dune หรือ Dvico ทั้งเรื่องของการรองรับระบบภาพ ระบบเสียงและซับไตเติ้ล

สรุปคือแม้ว่า Soken DB-234 จะเล่นไฟล์ได้ดีกว่ากล่อง DTV STB อย่าง CT-1 แต่ขณะเดียวกันมันยังทำหน้าที่ส่วนนี้ได้ไม่ดีเท่าเครื่องเล่น media file โดยตรงด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่อยากให้คาดหวังในคุณสมบัตินี้มากเท่าคุณภาพการรับสัญญาณดิจิตอลทีวีครับ

ระบบบันทึก PVR ที่สามารถสั่งหยุดอัตโนมัติได้ตามเวลาที่ตั้งไว้
ไฟล์รายการทีวีที่บันทึกเอาไว้ด้วยระบบ PVR

การใช้ฟังก์ชัน PVR บันทึกรายการทีวีแบบเบสิกที่สุดก็ไม่มีอะไรมากครับ อยากเริ่มบันทึกตรงไหนก็กดปุ่ม Record ที่รีโมตเลย และถ้ากดปุ่มนี้ซ้ำในระหว่างการบันทึกจะมีตัวตั้งเวลาขึ้นมาให้ตั้งเวลาได้ด้วยครับว่าจะให้บันทึกนานแค่ไหนเสร็จแล้วมันจะหยุดบันทึกเอง ไม่ต้องมากด stop เพื่อหยุดการบันทึกด้วยตัวเอง เอ้อ สะดวกดีครับ

ในระหว่างการบันทึกเรายังสามารถเปลี่ยนไปดูช่องอื่นที่อยู่ใน MUX เดียวกันได้ด้วยนะครับ เพียงแค่กดเลื่อนช่องหรือกดปุ่ม OK เพื่อเรียกช่องสถานีขึ้นมาดู มันจะปรากฏขึ้นมาเฉพาะช่องอยู่อยู่ใน MUX เดียวกับช่องที่กำลังบันทึกด้วยครับ ส่วนช่องที่เปิดดูไม่ได้ มันจะไม่สามารถเข้าถึงได้เลย ก็เป็นอะไรที่ชัดเจนดีครับ ไม่ทำให้ผู้ใช้ต้องสับสนว่าตกลงตอนกำลังบันทึกจะดูช่องไหนได้บ้าง ไม่ใช่ว่ายอมให้เปลี่ยนช่องไปแล้วดูไม่ได้

ไฟล์ที่บันทึกเอาไว้จะอยู่ใน folder ชื่อ 'ALIDVRS2' และมีชื่อไฟล์สอดคล้องกับช่องสถานีและวันเวลาที่ทำการบันทึก เป็นฟอร์แมตไฟล์นามสกุล .ts ขนาดไฟล์ที่บันทึกได้พอๆ กับไฟล์ที่บันทึกด้วยกล่อง Createch CT-1 นั่นคือในระยะเวลา 10 นาที ถ้าเป็นช่อง HD ขนาดไฟล์อยู่ที่ประมาณ 420-470 MB ถ้าเป็นช่อง SD ขนาดไฟล์จะอยู่ที่ประมาณ 100-110 MB จากการทดลองผมแนะนำให้ใช้ External HDD เป็นอุปกรณ์เพื่อการบันทึก ไฟล์ที่บันทึกได้จะราบรื่นดีกว่าอุปกรณ์ประเภท Flash Drive ทั่วไปซึ่งบางจังหวะไฟล์วิดีโอจะมีการสะดุดเนื่องจากการรับ-ส่งข้อมูลไม่รวดเร็วพอโดยเฉพาะการบันทึกจากช่อง HD

สำหรับ External HDD ที่เป็นฟอร์แมต FAT32 ไม่ต้องห่วงนะครับ กล่องรุ่นนี้ถ้าบันทึกเป็นระยะเวลานาน มันจะตัดแบ่งไฟล์ออกเป็นไฟล์ย่อยๆ ไฟล์ละไม่เกิน 1 GB ให้โดยอัตโนมัติ ไม่ต้องกลัวว่าจะเกินความจุที่ FAT32 จะรับได้ (4GB)

เมนู PVR Setting ใน Soken DB-234
การแสดง Info ระหว่างการบันทึก PVR
ระบบ TimeShift ที่สามารถใช้งานได้ระหว่างการบันทึก PVR

การใช้งานฟังก์ชัน PVR แบบ Advance ขึ้นไปอีกระดับ ให้เข้าไปตั้งค่าในเมนู PVR Setting หัวข้อย่อยแต่ละหัวข้อจะมีรายละเอียดดังนี้

Timeshift : ถ้าตั้งค่าเป็น ON ไว้ เครื่องจะเปิดการทำงานฟังก์ชัน TimeShift ตลอดเวลาที่เราเปิดชมรายการทีวี เรียกว่าพร้อมจะย้อนหลัง, หยุดชั่วขณะหรือเลื่อนไปข้างหน้า (หลังจากย้อนหลังไปแล้ว) อยู่เสมอเลยล่ะครับ ไม่ต้องไปกดสั่งงานฟังก์ชัน TimeShift เอาเองเหมือนอย่างใน Createch CT-1 หรือ DTV STB ทั่วไป

Jump : คือช่วงเวลาในการย้อนหลังหรือเลื่อนไปข้างหน้า เมื่อเรากดปุ่ม >>| หรือ |<< ขณะที่ TimeShift ทำงาน เป็นความสะดวกในการเลื่อนชมย้อนหลังหรือไปข้างหน้าเป็นช่วงๆ ไม่ต้องคอยกดแช่แบบปุ่ม >> หรือ <<

Timeshift to Record : คือ ฟังก์ชัน PVR ที่ไม่เพียงแค่ทำการบันทึกเฉพาะช่วงเวลาหลังจากที่เราได้กดปุ่ม Record แต่มันจะเริ่มบันทึกย้อนไปตั้งแต่จุดที่ Timeshift เริ่มทำงานด้วย (ถ้าหากหัวข้อ Timeshift ได้ ON ไว้)

PS Record : เป็นฟอร์แมตการบันทึกไฟล์ที่มีขนาดไฟล์เล็กกว่าไฟล์ .ts เล็กน้อย แต่เท่าที่ลองใช้งานดู มันไม่รองรับการเข้ารหัสสัญญาณดิจิตอลทีวีของไทยที่เป็นแบบ MPEG-4 AVC/H.264 ครับ สั่ง ON หัวข้อนี้แล้วระบบบันทึกก็ยังบันทึกเป็นไฟล์ .ts อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นช่องรายการแบบ SD หรือ HD



ระบบตั้งเวลาเปิด-ปิดเพื่อรับชมหรือบันทึกรายการล่วงหน้าอัตโนมัติ
ระบบ Timer หรือฟังก์ชั่นตั้งเวลาเปิด-ปิดเพื่อรับชมหรือบันทึกรายการล่วงหน้าอัตโนมัติของ Soken DB-234 ผมลองใช้แล้วต้องบอกว่าชอบเลยครับ มันใช้ง่ายและตรงไปตรงมาดีครับ ระบบ Timer ในกล่องรุ่นนี้สามารถตั้งเวลาเปิดเครื่องและเลือกได้ว่าจะเปิดที่ช่องไหน เลือกได้ว่าจะเปิดมาเพื่อชมหรือบันทึกรายการ และให้เปิดชมหรือบนทึกรายการเป็นระยะเวลานานแค่ไหน (Duration) เสร็จแล้วเครื่องจะปิดเองโดยอัตโนมัติ เป็นอะไรที่สะดวกมาก นอกจากนั้นแล้วยังสามารถตั้งรายการ Timer เป็นรายครั้งหรือรายวันได้ด้วยในกรณีที่รับชมเป็นประจำ

ระบบ Timer ที่สามารถเลือกตั้งค่าได้ตามลักษณะการใช้งาน
ระบบ Timer ที่สามารถเลือกโปรแกรมล่วงหน้าได้มากถึง 8 โปรแกรม
การใช้งาน Timer ก็เพียงแค่เข้าไปในเมนูหลักแล้วเข้าไปที่ MENU > System Setup > Timer Setting ในเมนู Timer Setting จะมีการตั้งค่าต่างๆ ซึ่งก็ใกล้เคียงกับกล่องรุ่นอื่นที่มีฟังก์ชันตั้งเวลาบันทึกล่วงหน้า แต่กล่องรุ่นนี้ของ Soken ต้องบอกว่าเขาทำเมนูมาใช้งานง่ายดีครับ ในเมนูจะมีรายละเอียดการตั้งค่าดังนี้

Timer Mode : เลือกได้ว่าจะให้การตั้งค่านี้เป็นการโปรแกรมสั่งเพียงครั้งเดียว (Once) หรือให้ทำเป็นประจำรายวัน (Daily)

Timer Service : หัวข้อนี้ให้คุณเลือกว่าจะเปิดชมเฉยๆ (Channel) หรือสั่งให้บันทึกรายการเก็บไว้ด้วย (Record)

Wakeup Channel : เลือกไว้ที่ช่องรายการที่เราต้องการบันทึก

Wakeup Date : วันที่ต้องการให้โปรแกรมทำการบันทึก

On Time : เวลาที่จะให้เครื่องเริ่มทำงาน

Duration : ช่วงเวลาที่ต้องการให้โปรแกรมนี้ทำงาน (ชั่วโมง:นาที)

เมื่อตั้งค่าเสร็จแล้วหลังจากกด Save รายการที่ตั้งโปรแกรมเอาไว้จะไปแสดงในหน้ารวม สังเกตว่าสามารถตั้งโปรแกรมล่วงหน้าได้ถึง 8 รายการ ถ้าหากเป็นการตั้งโปรแกรมล่วงหน้าเพื่อการบันทึก หลังจากตั้งโปรแกรมเสร็จแล้วคุณสามารถปิดเครื่อง DTV STB ไปได้เลยครับ แต่เป็นการปิดแบบ standby นะครับ ไม่ใช่ shutdown 100% หรือดึงปลั๊กออก ส่วนจอทีวีสามารถปิดแบบ shutdown 100% หรือถอดสายภาพออกได้เลยครับ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาบันทึกให้สิ้นเปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ

ในระหว่างการทดสอบใช้งาน นอกจากไฟล์ที่ทดลองบันทึกย่อยๆ ครั้งละไม่กี่นาทีแล้ว ผมยังมีโอกาสได้ทดลองตั้งโปรแกรมบันทึกล่วงหน้ารายการถ่ายทอดสดฟุตบอลอุ่นเครื่องทั้งแมตช์ด้วยครับ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็บ่งชี้ว่า DB-234 สามารถทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดี ผมตั้งเวลาบันทึกเอาไว้ตอนตีสอง ตื่นเช้ามาทุกอย่างอยู่ในสภาพเรียบร้อยดี รายการถูกบันทึกเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ที่ผมต่อเอาไว้ ตัวเครื่อง DB-234 อยู่ในสภาวะปิด Standby ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน

ตัวอย่างภาพจากวิดีโอ HD ที่บันทึกได้จากการตั้งโปรแกรมล่วงหน้า

ช่วงเวลาที่ใช้ในการบันทึกประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ กับช่องรายการแบบ HD ใช้พื้นที่ใน External HDD ไปประมาณเกือบ 6 GB ไฟล์ที่บันทึกไว้ถูกแบ่งเป็นไฟล์ย่อยๆ ขนาดไม่เกิน 1 GB โดยอัตโนมัติ เวลาเปิดดูกับตัวเครื่องเองสามารถรับชมไฟล์ย่อยเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่องเหมือนเปิดชมจากไฟล์ขนาดใหญ่ไฟล์เดียว อ่านรายละเอียดได้ที่บทความ 'ดิจิตอลทีวี ... กับการดูฟุตบอลโลกแบบสบายๆ ไม่ต้องอดนอน' 



สรุป
ก่อนอื่นต้องบอกว่ากล่องรุ่นนี้ทำให้ผมต้องเปลี่ยนความคิดที่ว่า "มีเพียงแค่เสาอากาศเท่านั้น ที่มีผลต่อคุณภาพการรับสัญญาณ" เสียใหม่ เพราะมันได้แสดงให้เห็นกับตาแล้วว่าคุณภาพของภาครับสัญญาณมีผลต่อคุณภาพการรับสัญญาณอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลสเปคฯ ของ Soken DB-234
ฟังก์ชันดิจิตอลทีวีทุกฟังก์ชันที่ให้มาใน Soken DB-234 สามารถใช้งานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบ PVR, TimeShift หรือระบบ Timer ตลอดจน GUI ที่ออกแบบเองทำให้เมนูต่างๆ มีความโดดเด่น แตกต่างและดูน่าใช้งานกว่าจริงๆ

เรื่องเดียวที่คิดว่าน่าจะได้รับการปรับปรุงคือรีโมตคอนโทรลที่อุตส่าห์ทำเป็นภาษาไทยเพื่อความสะดวกแล้วแต่ตัวหนังสือกลับเล็กมากจนใช้งานไม่ได้จริง ทว่าเมื่อใช้งานจนคุ้นมือแล้วส่วนตัวผมก็ไม่มีปัญหานะ จะเป็นห่วงก็แต่ผู้ใหญ่ในบ้านนั่นแหละครับ ตรงนี้อยากให้ดูรีโมตภาษาไทยของยี่ห้อ Aconatic เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบนะครับ

ในเวลานี้ถ้าคุณกำลังมองหา DTV STB ไปใช้งานจริงๆ จังๆ สักเครื่อง และไม่เกี่ยงที่จะจ่ายมากกว่าเครื่องราคาถูกสุดที่คุณหาซื้อได้อีก 600-700 บาท ผมว่า Soken DB-234 คือตัวเลือกที่คุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ และนี่คือ DTV STB ที่ผมคิดใจว่าจะซื้อไว้ใช้ส่วนตัวเป็นเครื่องต่อไปถัดจาก Createch CT-1 ครับ

.........................................

บทความแนะนำให้อ่านประกอบรีวิวนี้
อภิธานศัพท์เกี่ยวกับดิจิตอลทีวี (ฉบับผู้ใช้งาน)


.....................................................................................................................
ขอบคุณ บริษัท โซเคน อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อให้ยืมสินค้าสำหรับการรีวิว