ใน พ.ศ.2557 คอมพิวเตอร์ไฮไฟไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป มันค่อยๆ แทรกซึมจากวงการดิจิตอลมัลติมีเดียเข้ามาเป็น ‘ทางเลือกใหม่’ ในแวดวงไฮไฟเรามาหลายปีแล้วครับ แต่ ณ วันนี้มันได้ถูกพัฒนาไปไกลมากๆ ดีกว่าเดิมมากๆ จนมันไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไปแล้ว คอมพิวเตอร์ไฮไฟในวันนี้นอกจากเปิดกว้างสำหรับไฟล์เพลงรายละเอียดสูงแล้วยังสามารถต่อยอดเผื่ออนาคตไปได้อีกยาวไกลเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับระบบดิจิตอลและคอมพิวเตอร์ที่คุ้นเคย และที่สำคัญที่สุด “มันเสียงดีมากครับ... ดีที่สุดตั้งแต่มนุษย์ได้คิดค้นระบบเสียงดิจิตอลขึ้นมา” ประโยคหลังนี้ผมขอขีดเส้นใต้พร้อมทั้งทำไฮไลท์เอาไว้เลยนะครับเพราะมันจริงมากถึงมากที่สุด!
ปัญหาคือความกลัวและการเริ่มต้น
จากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับผู้คนรอบข้างรวมถึงผู้อ่านของเราเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ ปัญหาหนึ่งที่ผมสามารถประมวลได้จากการสนทนาคือ ความกลัว กลัวในที่นี้อาจจะเป็นความรู้สึกผสมปนเประหว่างความหวาดระแวง ความไม่คุ้นเคย ความไม่รู้หรือไม่มีประสบการณ์ที่ดีมาก่อนกับอะไรก็ตามที่เป็นการฟังเพลงจากคอมพิวเตอร์ ผมคิดว่านี่แหละที่เป็นกำแพงที่หนาและสูงชันจนทำให้หลายคนไม่กล้าก้าวข้ามไปหรือไม่กล้าแม้แต่จะพยายามชะเง้อมองดูว่าอีกด้านหนึ่งมีอะไรน่าสนใจบ้าง
ใครที่กำลังรู้สึกอย่างนั้นอย่าเพิ่งตกใจ ผมไม่ได้กำลังทำให้คุณต่ำต้อยหรือสูญเสียความมั่นใจ ผมเองก็เคยรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกันครับ ซึ่งมันทำให้ผมเข้าใจดีเลยล่ะครับว่าถ้ามีอะไรสักอย่างที่เป็นเสมือนเข็มทิศ ลายแทง นำพาพวกเขาก้าวข้ามกำแพงนี้ไปได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปลองผิดลองถูกอยู่นานสองนานก็คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย หรืออย่างน้อยให้เข้าใจตรงกันว่าโลกของคอมพิวเตอร์ไฮไฟไม่ใช่กระแสแฟชั่นแค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่นี่มันหมายถึงอนาคตของเครื่องเสียงไฮไฟเราเลยก็ยังดีครับ
เอาล่ะครับในเมื่อผมเข้าใจดีถึงที่มาของกำแพงนี้และผมสามารถก้าวข้ามมันไปได้แล้ว มาวันนี้ผมจึงขออาสาเป็นคนที่นำคุณข้ามฝ่ามันไปเองครับ ที่จริงนี่เป็นความคิดของผมตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีก่อนแล้วนะครับแต่ด้วยความไม่ลงตัวหลายๆ อย่าง ประกอบกับเรื่องของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ไฮไฟที่ในเวลานั้นยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาลองผิดลองถูกกันอยู่ ความตั้งใจดังกล่าวจึงถูกเก็บใส่ลิ้นชักรอเพาะบ่มจนถึงวันและเวลาที่เหมาะสมเรื่อยมา
บทความพิเศษ ‘เริ่มต้นไปกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ...ภาคปฏิบัตินี้’ ผมตั้งใจจะแบ่งออกเป็น 4 ตอน โดยตอนแรกนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์หรือตัวเครื่องและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ ตอนนี้จะมาบอกว่าคุณต้องใช้อะไรบ้างในการเล่นคอมพิวเตอร์ไฮไฟ มีวิธีการในการพิจารณาเลือกซื้ออย่างไร และเรื่องใดบ้างที่คุณไม่ควรมองข้ามในการพิจารณาเลือกซื้อเลือกใช้ฮาร์ดแวร์เหล่านี้
ในตอนที่สองจะเป็นเรื่องของไฟล์เพลงและการสร้างไลบรารี่หรือคลังเก็บเพลงส่วนตัวที่ใครๆ ก็สามารถทำได้เองถ้าหากคุณมีความรู้เรื่องประเภทของไฟล์เพลง การ Rip แผ่นซีดีอย่างมีคุณภาพ การ Edit Tag เพื่อให้ข้อมูลไฟล์เพลงจำนวนมากของคุณถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบระเบียบ ตลอดจนการซื้อเพลงแบบออนไลน์ดาวน์โหลดผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
ใน 2 ตอนสุดท้ายจะเป็นเรื่องการแนะนำโปรแกรมเล่นเพลงที่ผมได้ลองแล้วคิดว่ามันดี มันคุ้ม และมันมีอนาคต เป็นการแนะนำที่คุณสามารถนำไปใช้งานได้จริงในภาคปฏิบัติเพราะว่าจะบอกกันตั้งแต่การซื้อโปรแกรม การติดตั้ง และการตั้งค่าต่างๆ เพื่อให้ได้เสียงที่ออกมามีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ทั้งหมดนี้ผมตั้งใจจะนำเสนอด้วยเนื้อหาและลำดับขั้นตอนที่เข้าใจง่าย สามารถนำไปปฏิบัติใช้งานได้จริง มาจากประสบการณ์จริง และพยายามจะอ้างอิงทฤษฎีที่คุณไม่จำเป็นต้องรู้หรือจำเป็นต้องรู้บ้างให้น้อยที่สุด
“ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกของคอมพิวเตอร์ไฮไฟครับ”
คอมพิวเตอร์สำหรับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ
พูดถึงคอมพิวเตอร์ไฮไฟ แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเจ้า ‘คอมพิวเตอร์’ ที่เราจะใช้มันเป็นเหมือนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทรานสปอร์ตหรือตัวส่งข้อมูลไปยัง DAC นั่นเอง จะเป็นคอมพิวเตอร์ที่คุณมีใช้งานอยู่แล้วก็ได้ถ้ามันมีคุณสมบัติที่ผ่านเกณฑ์ หรืออาจจะต้องลงทุนซื้อเครื่องถ้าที่มีอยู่มันล้าสมัยหรือสมรรถนะต่ำเกินไป
แล้วแบบไหนถึงเรียกว่าไม่ล้าสมัยและสมรรถนะไม่ต่ำเกินไป ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่แรงและเร็วที่สุดเลยหรือเปล่า? ไม่ใช่เลยครับ คุณสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในงบประมาณต่ำกว่า 3 หมื่นบาทเพื่อเล่นคอมพิวเตอร์ไฮไฟได้แน่นอน ไม่จำเป็นต้องไปคิดถึง CPU ที่เร็วและแรงที่สุดเสมอไป ลืมพวกการ์ดจอประสิทธิภาพสูงไปซะเพราะคุณจะไม่ได้ใช้มันทำประโยชน์อะไรในคอมพิวเตอร์ไฮไฟ ขอเพียงแค่มันมี CPU ประสิทธิภาพสูง มีหน่วยความจำที่มากพอ มีช่องเชื่อมต่อ USB 2.0 หรือช่องเชื่อมต่อข้อมูลประสิทธิภาพสูงอื่นๆ เช่น e-SATA, USB 3.0, Firewire, Thunderbolt และสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปผมแนะนำให้คุณสนใจแค่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ (Operating System, OS) เป็นวินโดวส์ (Windows) หรือแมคอินทอช (Macintosh) ก็น่าจะเพียงพอและครอบคลุมการใช้งานสำหรับคอมพิวเตอร์ไฮไฟแล้วล่ะครับ ส่วนพวกระบบปฏิบัติการชื่อแปลกไปจากนี้ยกให้เป็นของเล่นสำหรับ computer geek หรือพวกโปรแกรมเมอร์ที่หายใจเข้าออกเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์เขาไปก่อนก็แล้วกันครับ
สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Windows แนะนำให้คุณใช้คอมพิวเตอร์ที่มี CPU สมัยใหม่อย่าง Intel Core i3, i5 หรือ i7 รุ่นล่าสุด หน่วยความจำมีติดเครื่องมาเท่าไรไม่ต้องไปสนใจมากถ้ามันสามารถอัพเกรดเพิ่มทีหลังได้ก็ให้เพิ่มเป็น 8GB หรือ 16GB มากกว่านี้ไม่มีปัญหากับการใช้งานแต่มีปัญหากับเงินในกระเป๋าของคุณเอง แต่ถ้าน้อยกว่านี้ไม่แนะนำ คอมพิวเตอร์ที่คุณใช้จะเป็น desktop ขนาดย่อมหรือ laptop หรือ notebook ก็ได้ไม่มีปัญหา ขอเพียงมันทำงานได้เงียบพอไม่มีเสียงรบกวนโดยเฉพาะเสียงจากพัดลมระบายความร้อนดังจนเกินไป ขนาดไม่ใหญ่โตเทอะทะจนเกินความจำเป็น เป็นอันใช้ได้
ส่วนตัวผมแนะนำเป็นคอมพิวเตอร์พกพาอย่าง laptop หรือ notebook นะครับ สมัยนี้เห็นตัวเล็กๆ แต่ประสิทธิภาพสูงมากเลยครับ ส่วนมากทำงานได้เงียบเชียบด้วยต่างหาก ในเวลานี้ราคาก็ไม่แพงแล้วด้วยครับ เมื่อ 3 ปีก่อนผมซื้อ R Series ตัวแรงของ Samsung ที่มี CPU i5, RAM 4 GB (เพิ่มเป็น 8GB ภายหลัง) ราคาสองหมื่นนิดๆ เท่านั้นเอง แต่เมื่อปีก่อนน้องสาวผมเพิ่งซื้อใหม่อีกตัวของ Samsung เหมือนกัน สเปคฯ ทุกอย่างประสิทธิภาพสูงกว่าของผมทั้งหมด แต่ราคาไม่ถึงสองหมื่นบาท!
สำหรับคอมพิวเตอร์ notebook ที่เน้นความแบนบางให้พิจารณาก่อนเลยครับว่าความแบนและบางของมันนั้นต้องแลกมาด้วยสมรรถนะและขั้วต่อ USB หรือพอร์ตอื่นๆ ที่มีอยู่จำกัดมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าใช่ มันอาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานเป็นคอมพิวเตอร์ทรานสปอร์ตสำหรับระบบการเล่นคอมพิวเตอร์ไฮไฟของเราครับ
ถ้าคุณซื้อคอมพิวเตอร์รุ่นสูงๆ สักหน่อยผู้ผลิตเขาอาจจะ bundle หรือแถมพ่วงซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการใหม่ๆ มาให้ด้วย แต่ถ้าไม่มีหรือไม่ใช่ Windows เวอร์ชั่นที่เราสนใจ ผมแนะนำให้เลือกใช้ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการหรือ OS เป็น Windows 7 - 64bit เนื่องจากเป็น OS ที่ในปัจจุบันมีผู้ใช้งานจำนวนมาก มีความเสถียรสูงและปัญหาน้อย ค่อนข้างลงตัวในเกือบทุกด้าน มีไดรเวอร์ต่างๆ รองรับค่อนข้างครบถ้วน ราคาจำหน่ายสำหรับซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เวอร์ชั่น Home Premium ในปัจจุบันอยู่ที่สามพันกว่าบาทเท่านั้นเองครับ ซื้อแล้วจะติดตั้งเองหรือให้ที่ร้านขายซอฟต์แวร์เขาจัดการให้ก็ได้ครับ
สำหรับผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ฝั่งที่เป็นระบบปฏิบัติการของ Macintosh แนะนำให้พิจารณาคอมพิวเตอร์รุ่นที่รองรับ CPU Intel Core 64-bit เป็นต้นมา ซึ่งก็หมายถึงเครื่องรุ่นใหม่ทุกตัวในปัจจุบันของ Apple Inc. หรืออาจจะย้อนหลังกลับไปราว 2-3 ปีก็ยังพอไหว ด้าน OS ให้เป็น OS X Lion เป็นต้นมาหรือเป็นตัวล่าสุดอย่าง OS X Mavericks เลยก็ยิ่งดีครับ (ล่าสุดมีข่าว OS X ตัวใหม่จะมาในชื่อ OS X Yosemite)
สำหรับฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ Macintosh ซึ่งมีหลายรุ่นทั้งแบบตั้งโต๊ะและแบบพกพาได้ในกลุ่ม Macbook Pro, Macbook Air แต่รุ่นที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับการใช้งานในรูปแบบคอมพิวเตอร์ไฮไฟตามความคิดของผมคือรุ่นตั้งโต๊ะขนาดย่อมอย่าง Mac mini ครับ ในปัจจุบันคุณสามารถลงทุนเริ่มต้นเพียง 19,900 บาท สำหรับ Mac mini รุ่นล่างสุดซึ่งมีทุกอย่างที่เราต้องการสำหรับคอมพิวเตอร์ไฮไฟมาให้พร้อมสรรพ รวมถึงการ bundle ระบบปฏิบัติการ OS X Mavericks มาให้ในตัวจากโรงงาน และถ้ามีโอกาสก็แนะนำให้เพิ่มหน่วยความจำ RAM จากเดิมที่มีอยู่ 4GB เป็น 8GB หรือ 16GB ไปด้วยเลย ตัวเครื่องสามารถสั่งซื้อแบบออนไลน์ส่งตรงถึงหน้าบ้านผ่านเว็บไซต์ store.apple.com/th หรือถ้าสะดวกร้านตัวแทนจำหน่ายของเขาก็เดินเข้าไปรูดบัตรเครดิตแล้วหิ้วเครื่องกลับบ้านได้เลยครับ
การอัพเกรดคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง
หลังจากได้คอมพิวเตอร์มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแล้ว ก่อนจะไปกันถึงเรื่องของซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่ใช้เล่นเพลงหรือโปรแกรมอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเล่นคอมพิวเตอร์ไฮไฟ ผมมีอยู่ 2-3 เรื่องที่อยากจะแนะนำให้ทำเพื่อคุณภาพเสียงที่ดีกว่า เป็นแนวทางการปฏิบัติที่มีความเสี่ยงต่ำและเห็นผลชัดเจน
เรื่องแรกคือให้เก็บไฟล์เพลงเอาไว้ใน External HDD หรือฮาร์ดดิสก์แบบแยกข้างนอกครับ ไม่ว่าคอมพิวเตอร์ของคุณจะใช้ฮาร์ดดิสก์ประเภทใดเก็บข้อมูลอยู่ในตัวเครื่อง ถ้าไม่จำเป็นแนะนำว่าอย่าใช้ฮาร์ดดิสก์ในตัวเครื่องนั้นเป็นที่เก็บข้อมูลเพลงที่เราจะใช้เล่น คืออาจจะใช้เป็นที่พักไฟล์เพลงเวลาเราดาวน์โหลดหรือ Rip CD มาได้ แต่สุดท้ายแล้วไฟล์เพลงเหล่านั้นเวลาจะเปิดฟังให้เก็บไฟล์เอาไว้ที่ฮาร์ดดิสก์ข้างนอกหรือ External HDD ครับ ตรงนี้คุณสามารถลองเปรียบเทียบเองได้เลยระหว่างไฟล์เพลงที่เก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์กับเก็บเอาไว้ใน External HDD จะพบว่าอย่างหลังเสียงดีกว่ากันชัดเจนมาก
Ext. HDD ที่มีพอร์ต Firewire800 |
โดยส่วนตัวเท่าที่ได้ลองใช้งานมาผมแนะนำ External HDD อยู่ 2-3 ตัวดังนี้ ตัวแรกเป็นไดร์ฟขนาดใหญ่ต้องเสียบไฟเลี้ยงต่างหากเหมาะสำหรับใช้งานอยู่กับที่แบบตั้งโต๊ะรุ่น DriveStation Combo 4 ของยี่ห้อ Buffalo Technology มีขั้วต่อมาให้เลือกใช้ทั้งแบบ e-SATA, USB 2.0, FW400 และ FW800 ขนาดความจุ 2TB ราคาอยู่ที่สี่ซ้าห้าพันบาทประมาณนั้น แบบตั้งโต๊ะอีกตัวที่น่าสนใจเป็นของยี่ห้อ Lacie ที่ราคาค่อนข้างสูงแต่ก็แลกมาด้วยดีไซน์และการเก็บงานที่เรียบร้อยกว่าอย่างเช่น LaCie รุ่น d2 Quadra USB 3.0 ขั้วต่อที่มีมาให้เลือกใช้คือ e-SATA, USB 3.0 และ FW800 พร้อมทั้งหน้าตาที่ดูสวยหรูเพราะมาจากงานออกแบบของ Neil Poulton
สำหรับ External HDD อีกตัวที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือ Western Digital รุ่น My Passport Studio ซึ่งเป็น External HDD ขนาดย่อมพกพาสะดวก โครงสร้างแน่นหนาแข็งแรงและไม่ต้องใช้ไฟเลี้ยงแยกต่างหาก ขั้วต่อที่ให้มาเป็นแบบ FW800 และ USB 2.0 ตัวนี้ใช้กับคอมพิวเตอร์ Macintosh เวิร์กมากครับ
อีกส่วนประกอบที่ผมแนะนำให้พิจารณาคือไดร์ฟสำหรับ Rip แผ่นซีดีครับ แม้ว่าใน laptop หรือ notebook จะมีไดร์ฟอ่านแผ่นซีดีให้มาในตัวแล้วแต่เวลาใช้งานจริงจะพบว่ามันไม่ทนทานเท่าไดร์ฟแยกข้างนอกครับ โดยเฉพาะไดร์ฟอ่านแผ่นซีดีแยกภายนอกแบบตั้งโต๊ะต้องใช้ไฟเลี้ยงต่างหาก สมัยนี้ราคาไม่แพงแล้วล่ะครับ ซื้อเอาไว้ใช้งานสักตัวเวลา Rip แผ่นซีดีจะมีความสุขมาก อันนี้สำหรับคนที่ใช้ Mac mini นี่ถือว่าเป็นไฟต์บังคับเลยล่ะครับเพราะ Mac mini รุ่นปัจจุบันไม่มีไดร์ฟสำหรับอ่านแผ่นซีดีมาในตัว สำหรับไดร์ฟอ่านแผ่นซีดีแบบแยกภายนอกที่ว่านี้ส่วนตัวผมใช้งานยี่ห้อ LG รู้สึกว่าโครงสร้างแน่นหนาทนทานดีมาก ใช้มาหลายปีแล้วครับยังไม่เคยงอแงเลย เพื่อนฝูงบางท่านใช้ของยี่ห้อ Samsung บ้างก็ Lite-On ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเช่นกันครับ ยี่ห้อมาตรฐานพวกนี้ถือว่าเล่นได้หมดครับเพราะมาตรฐานคุณภาพไม่ได้หนีกันสักเท่าไร ปัจจัยสำคัญจริงๆ ที่เราสนใจเป็นพิเศษจะไปอยู่ในส่วนของซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่ใช้ Rip แผ่นซีดีมากกว่าครับ ซึ่งจะถึงคราวในบทความตอนต่อไป
เมื่อเร็วๆ นี้ผมพบว่านอกจาก 2 เรื่องที่แนะนำไปข้างต้นแล้ว ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่อัพเกรดแล้วทำให้คอมพิวเตอร์ของเราทำหน้าที่เป็นคอมพิวเตอร์ทรานสปอร์ตได้ดีมากยิ่งขึ้นไปอีกครับ นั่นคือการเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ในตัวคอมพิวเตอร์จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นแบบจานหมุน Hard Disc Drive หรือ HDD ไปเป็นไดร์ฟเก็บข้อมูลแบบโซลิดสเตทหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า Solid State Drive หรือ SSD
จุดเด่นของ SSD ที่เหนือกว่าอย่างชัดเจนมีตั้งแต่เรื่องอัตราการส่งผ่านข้อมูลทั้งการเขียนและการอ่านข้อมูลที่รวดเร็วกว่า HDD มากๆ ทำงานเงียบสนิทปราศจากเสียงรบกวนใดๆ กินพลังงานไฟฟ้าน้อยกว่ามาก มีการรบกวนต่ำกว่าทั้งทางกลไกและไฟฟ้าซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้คอมพิวเตอร์ทรานสปอร์ตของเราเสียงดีขึ้นได้อีกอย่างไม่น่าเชื่อ ปัญหาเดียวในเวลานี้สำหรับ SSD คือราคาต่อหน่วยความจุข้อมูลครับ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะว่าเราไม่ได้เน้นเอามาเก็บข้อมูลจำนวนมาก แต่แค่เอามาใช้เก็บข้อมูลพื้นฐานของ OS และซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้งานอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเท่าที่ผมหาข้อมูลมา SSD ขนาดประมาณ 120GB เป็นต้นไปหรือใกล้เคียง ซึ่งราคาจำหน่ายอยู่ไม่เกิน 4,000 บาท ก็เพียงพอกับการใช้งานแล้วครับนี่ยังแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้อีกด้วยต่างหากนะครับ ยี่ห้อที่แนะนำก็คือ Kingston (ยี่ห้อที่ผมใช้), Samsung หรือ OCZ ซึ่งน่าจะหาซื้อได้ไม่ยากในบ้านเรา
สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อใหม่หลายยี่ห้อหลายรุ่นอาจจะมีไดร์ฟเป็น SSD มาอยู่แล้วเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน บางรุ่นอาจจะเป็นออพชั่นให้เลือกติดตั้งมาจากโรงงานหรือตัวแทนจำหน่ายก็น่าสนใจพิจารณาเอาไว้นะครับ แต่ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้วหรือไม่มีออพชั่นนี้จากผู้ผลิตอย่างเช่น Mac mini รุ่นเล็กที่ผมยกตัวอย่างไปข้างต้น คุณสามารถหาซื้อ SSD มาเปลี่ยนทีหลังได้ครับ อาจจะให้ทางร้านที่จำหน่าย SSD จัดการเป็นธุระให้ (ถ่ายโอนข้อมูลเก่ามาใส่และติดตั้งเปลี่ยนลงไปแทน) หรือถ้าพอมีวิชาจะลองทำเองก็ได้ครับ อย่าง Mac mini ของผมหลังหมดประกัน 1 ปีแล้วผมจัดการเปลี่ยนเป็น SSD ทันทีเลยโดยหาข้อมูลเอาจาก Google และ Youtube นี่แหละครับ เอาไว้ถ้ามีโอกาสจะรวบรวมมาบอกเล่ากันอีกที
ท่านใดอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกว่า SSD น่าสนใจแต่ยังงงๆ หรือไม่มีไอเดียว่าจะไปจัดหาได้จากที่ไหนดี ผมแนะนำร้านนี้เป็นการส่วนตัวเลยแบบไม่ได้ค่าช่วยเขาโปรโมตเลยครับ ร้าน MemoryToday (www.memorytoday.com) บนห้างฟอร์จูนทาวน์ รัชดา เท่าที่ผมและเพื่อนฝูงใช้บริการเขามา 3-4 รอบคิดว่าร้านนี้เขาค่อนข้างจะเน้นทำตลาด SSD เลยมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย การให้ข้อมูลและการบริการก็น่าประทับใจดีครับ
USB DAC ตัวไหนที่เหมาะกับคุณ
ถ้าย้อนหลังกลับไปเมื่อ 2-3 ปีก่อน USB DAC หรือ DAC ที่มีช่องดิจิตอลอินพุตแบบ USB อาจเป็นอะไรที่เลือกยากพอสมควร เพราะนอกจากจะมีตัวเลือกน้อยแล้ว ตัวที่น่าสนใจจริงๆ ส่วนมากก็จะราคาค่อนข้างสูงถึงสูงมากอีก ส่วนรุ่นที่ราคาติดดินหน่อยนั้นก็ทำอะไรได้ค่อนข้างจำกัดแถมคุณภาพก็ยังจำกัดอยู่ในเกณฑ์แค่พอใช้ได้เท่านั้น
แต่ทั้งหมดนั้นคืออดีตไปแล้วครับปัจจุบัน USB DAC ดีๆ หาได้ตั้งแต่ราคาหลักพัน หลักหมื่น เรียกว่ามีของดีในราคาติดดินพอสมควร แถมมีให้เลือกจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยี่ห้อเครื่องเสียงที่อยู่ในกระแสหลักอยู่แล้วยี่ห้อชื่อแปลกหูที่เพิ่งแจ้งเกิดมาได้ไม่นาน ทว่าเราจะทราบได้อย่างไรว่าในจำนวน USB DAC มากมายหลายรุ่นนั้นตัวไหนถึงจะดี รุ่นไหนถึงจะเหมาะกับเรา นอกจากขั้นตอนการลองฟังเสียงที่ต้องทำเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ผมยังมีหลักพินิจพิจารณาเบื้องต้นมาช่วยให้คุณเลือกง่ายขึ้นครับ
1. ใช้งานอย่างไร
ADL X1 - DAC/AMP พกพา ที่มีความสามารถเกินขนาดตัว |
iFi nano iDSD - DAC/AMP พกพา ที่มีคุณสมบัติเด่นมากๆ ในเวลานี้ |
USB DAC อีกประเภทหนึ่งคือเอาไว้ใช้งานอยู่กับที่ ประเภทนี้มีตั้งแต่ขนาดเล็กแต่ต้องเสียบไฟเลี้ยงจนถึงขนาดกลางและใหญ่ฟูลไซส์เหมือนเครื่องเสียงบ้านปกติทั่วไป USB DAC ในกลุ่มนี้มักจะมีขั้วต่อใช้งานต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานสำหรับเครื่องเสียงบ้านทั้งระดับเริ่มต้นจนถึงระดับไฮเอนด์ เช่น ขั้วต่อ RCA หรือ XLR เนื่องจากไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่ตัวเครื่อง ออพชั่นการใช้งานรวมถึงการแสดงผลบอกค่าต่างๆ ก็อาจจะดูสะดวกชัดเจนกว่า ด้านเอาต์พุตก็ออกแบบให้มีความแรงสัญญาณเหลือเฟือเนื่องจากสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าได้เต็มที่ ดังนั้นถ้าคุณเน้น USB DAC ที่ใช้งานกับชุดเครื่องเสียงหลักที่บ้านและไม่ได้สนใจการใช้งานแบบพกพาแล้ว USB DAC ประเภทหลังนี้น่าจะถูกพิจารณาเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ นะครับ
2. อะซิงโครนัสหรือเปล่า
อะซิงโครนัสยูเอสบี (Asynchronous USB) ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่คุณห้ามลืมพิจารณาในเวลาจะเลือก USB DAC แม้ผมจะคิดว่า USB DAC ในเวลานี้น่าจะออกแบบให้เป็นอะซิงโครนัสยูเอสบีกันเกือบจะหมดแล้ว แต่ถ้าเกิดคุณไปสนใจเครื่องมือสองที่ออกมาก่อนหน้า อย่าลืมดูด้วยนะครับว่าเป็นอะซิงโครนัสยูเอสบีหรือเปล่า
อะซิงโครนัสยูเอสบี ใน USB DAC คืออะไร ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับมันมากขนาดนั้น? เรื่องนี้ต้องท้าวความกลับไปถึงการเชื่อมต่อเสียงในของขั้วต่อ USB ล่ะครับ แต่เดิมนั้นในวงการคอมพิวเตอร์เขาก็มีการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงทางช่องทางนี้อยู่บ้างโดยเฉพาะกับการ์ดเสียงแยกภายนอก (external sound card) ทั้งหลาย แต่ในภาพรวมก็ยังไม่ได้เน้นคุณภาพกันแบบที่วงการไฮไฟตั้งมาตรฐานกันเอาไว้ การอินเตอร์เฟส (interface) หรือการเชื่อมต่อข้อมูลเสียงดิจิตอลระหว่างคอมพิวเตอร์กับ USB DAC ภายนอกจึงเป็นไปในรูปแบบที่เรียกว่า ‘Adaptive USB Transfer’ คือคอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดสัญญาณนาฬิกาหรือ clock เพื่อให้วงจรประมวลผลใน USB DAC ทำงานตามมัน
แต่เมื่อ USB DAC เริ่มเข้าสู่วงการเครื่องเสียงไฮไฟหรือเครื่องเสียงระดับโปรเฟสชันนัล กูรูผู้ออกแบบด้านดิจิตอลออดิโอจำนวนหนึ่งก็มองเห็นว่า ‘Adaptive USB Transfer’ นี่แหละคือปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิด 'jitter' ซึ่งเป็นตัวร้ายคอยบั่นทอนคุณภาพเสียงของระบบดิจิตอลออดิโอ พวกเขาจึงได้คิดออกแบบกระบวนการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์และ USB DAC อีกรูปแบบขึ้นมาใช้ชื่อว่า 'Asynchronous USB Transfer'
หลักการทำงานของ 'Asynchronous USB Transfer' นั้น วงจร clock ในตัว USB DAC ซึ่งมักจะมีความแม่นยำสูงกว่า มีสัญญาณรบกวนและ jitter ต่ำกว่าสัญญาณ clock ในคอมพิวเตอร์มาก จะทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดจังหวะการทำงานของภาคถอดรหัสโดยควบคุมให้คอมพิวเตอร์ต้องทำงานตามจังหวะ clock ของมัน วิธีนี้ได้รับการพิสูจน์ยืนยันแล้วว่าระบบจะมี jitter ต่ำมากๆ นั่นก็หมายความว่าเสียงที่เราได้ยินจะมีคุณภาพดีขึ้นตามไปด้วย ในปัจจุบัน USB DAC คุณภาพสูงส่วนใหญ่จะทำงานเป็นอะซิงโครนัสยูเอสบีกันแล้วครับ บ้างออกแบบซอฟต์แวร์ตัวนี้ขึ้นมาเอง บ้างก็ซื้อซอฟต์แวร์ของคนอื่นมาใช้ ซอฟต์แวร์ชื่อ 'StreamLength' ของนายกอร์ดอน แรนกินส์ (Gordon Rankin) แห่ง Wave Length Audio เป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ค่อนข้างได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย
3. ไฟล์เพลงส่วนใหญ่ที่มีอยู่หรือชื่นชอบเป็นพิเศษ
USB DAC เกือบทั้งหมดที่มีจำหน่ายในเวลานี้ สเปคฯ ต่ำสุดก็สามารถเล่นไฟล์ high resolution ได้ถึง 24bit/96kHz แล้วล่ะครับ สูงไปกว่านั้นก็จะเป็นพวกที่รองรับได้ถึง 24bit/192kHz หรือ 32bit/384kHz โน่นกันเลยเช่น KingRex : UD384 เป็นต้น บางตัวนอกจากฟอร์แมต PCM ตาม resolution ที่ว่ามาแล้วยังเผื่อไปถึงฟอร์แมต DSD ด้วยต่างหากครับ ซึ่งก็มีแบ่งแยกออกไปอีกว่าได้แค่ DSD64 หรือมากกว่านั้นอย่างเช่น DSD128 หรือ DSD256
แน่นอนครับว่าตัวที่มีครบๆ เล่นมันได้ทุกฟอร์แมต ราคาไม่ถูก และองค์ประกอบต่างๆ ของมันอาจจะไม่ถูกจริตกับทุกคน ถ้าถามว่าควรจะเลือกสเปคฯ ไหนดี คำตอบจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางครับ แนวทางแรกนอกจากงบประมาณในกระเป๋าแล้ว คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าเพลงที่มีสะสมอยู่หรือที่คิดว่ากำลังจะมีสะสมในอนาคตอันใกล้นี้น่าจะเป็นฟอร์แมตใด? ถ้าให้ผมช่วยเลือกหากเป็น 1-2 ปีก่อนหน้านี้ผมจะแนะนำให้คุณดูแค่สเปคฯ 24/192 แต่ถ้าเป็นเวลานี้คุณอาจจะดูเผื่อสำหรับฟอร์แมต DSD ด้วยก็ได้ครับ เพราะผมคิดว่ามันเริ่มมีเพลงออกมาให้เลือกเยอะขึ้นแล้ว เอาแค่ไปถึง DSD64 ก่อนก็ได้ครับ หรือจะเผื่อ DSD128 ด้วย ในเวลานี้ USB DAC ในงบประมาณไม่รุนแรงมากคือยังอยู่ในหน่วยหลักหมื่นไม่ถึงหลักแสนก็สามารถเป็นเจ้าของได้แล้วนะครับ จะซื้อเอาแค่พอใช้งานหรือซื้อเผื่อไว้หน่อยอันนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคลแล้วล่ะครับ
4. USB DAC แถมแอมป์หูฟังหรือแอมป์หูฟังแถม USB DAC
นอกจาก USB DAC ปกติทั่วไปแล้ว บางครั้งเราอาจจะเคยได้ยินคำว่า 'DAC/AMP' คำนี้โดยส่วนใหญ่จะใช้พูดถึง USB DAC ที่มีภาคขยายเสียงขนาดเล็กอยู่ในตัวเผื่อมาให้ใช้งานกับหูฟัง ขณะเดียวกันในอีกมุมหนึ่งก็มีแอมป์หูฟังบางตัวที่เขาออกแบบให้มีอินพุต USB ซึ่งหมายความว่ามันมี USB DAC แถมมาในตัวให้ด้วย
Meridian Prime แอมป์หูฟังคุณภาพสูงที่มี DAC คุณภาพดีมาในตัว |
การแยกแยะความสามารถของเครื่องเสียงเหล่านี้ให้เด่นชัดตรงกลุ่มเป้าหมายจะช่วยให้การเลือกเครื่องของเรา ง่ายขึ้น ด้วยขอบเขตจำนวนเครื่องที่แคบลง ดังนั้นโอกาสจะได้เครื่องรุ่นที่ถูกใจที่สุดจึงมีมากกว่าการหลับหูหลับตาเลือกไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า หรือที่ภาษาวัยรุ่นบอกว่าเลือกไปแบบมึนๆ นั่นเอง
สาย USB ไหนๆ ก็เสียงเหมือนกัน...ซะที่ไหนล่ะ?
คุณอาจจะเคยได้ยินการถกเถียงกันมาบ้างแล้วว่าสาย USB ที่เราเอามาเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์กับ USB DAC ของเรานั้นมีผลต่อเสียงหรือไม่ คนทั่วไปที่ไม่สนใจเครื่องเสียงอย่างจริงจังและส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจเปรียบเทียบจริงจังด้วยมักจะบอกว่ามันก็เหมือนๆ กันนั่นแหละ ต่อด้วยคำอธิบายเพิ่มเติมที่มักจะมาในทำนองเดียวกันเกือบหมดว่า มันจะต่างกันได้อย่างไร ในเมื่อสัญญาณดิจิตอลมันก็แค่เลข 0 กับ 1
สาย USB ระดับไฮเอนด์รุ่น Diamond ของยี่ห้อ Audioquest |
นั่นคือเหตุและผลในทางทฤษฎีครับ ในความเป็นจริงถ้าได้ลองฟังเทียบแล้วผมเชื่อว่าใครๆ ก็สามารถเข้าใจได้ทันทีว่าสาย USB ที่แตกต่างกันนั้นมีผลกับเสียงแน่นอน โดยเฉพาะสายธรรมดากับสายที่ออกแบบมาสำหรับเครื่องเสียงโดยเฉพาะ ใครที่ไม่เคยเทียบหรือมีความเชื่อฝังหัวว่ามันไม่แตกต่างกันมาก่อน ลองได้ยินความแตกต่างแล้วจะตกใจครับว่ามันต่างกันได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือ
มองคอมพิวเตอร์ให้เป็นเครื่องเสียง
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วถ้าคุณรู้สึกสนใจอยากจะเริ่มต้นอย่างจริงจังกับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ เริ่มต้นได้ตั้งแต่ตอนนี้เลยครับ ผมว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการลงทุนอย่างคุ้มค่าแล้วครับ ไม่ต้องมัวรีรออะไรแล้วเทคโนโลยีมันเดินทางมาถึงจุดที่มองเห็นอนาคตของมันแล้วครับ อนาคตที่เราจะไม่เปิดเพลงฟังจากแผ่นซีดีโดยตรงอีกต่อไป อนาคตที่ระบบเสียงดิจิตอลจะมีแต่พัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้น มีความเป็นไฮฟิเดลิตี้มากขึ้น มากขึ้น และมากขึ้น
ภาพจากงานโชว์เครื่องเสียงไฮเอนด์ที่ฮ่องกง สังเกตว่าคอมพิวเตอร์ ได้รับการดูแลอย่างดีไม่ต่างจากเครื่องเสียงตัวหนึ่ง |
มุมเล็กๆ ในร้านขายเครื่องเสียงที่ฮ่องกง ก็ยังอุตส่าห์เซ็ตอัพชุดคอมพิวเตอร์ไฮไฟเอาไว้ |
อย่างไรก็ดีขอให้พึงระลึกเสมอนะครับว่า คอมพิวเตอร์ไฮไฟ เป็นอะไรที่ไม่สำเร็จรูปเสมอไป เป็นอะไรที่จำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจ เรียนรู้การปรับแต่ง ปรับตั้งค่า โดยเฉพาะในส่วนของซอฟต์แวร์ในคอมพิวเตอร์ที่ผมจะกล่าวถึงในบทความตอนต่อไป
นอกจากโปรแกรมซอฟต์แวร์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผมใคร่ขอแนะนำคืออยากให้คนเล่นคอมพิวเตอร์ไฮไฟมองคอมพิวเตอร์อย่างที่รู้สึกกับเครื่องเสียง นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนสายไฟเข้าคอมพิวเตอร์ การใช้เครื่องกรองไฟกับคอมพิวเตอร์ หรือการใช้ชั้นวางดีๆ กับคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามด้วยเช่นกัน
.........................