ท่ามกลางโปรแกรมเล่นเพลงที่มีอยู่หลากหลายในปัจจุบันทั้งที่เป็นฟรีแวร์ไม่ต้องเสียเงินซื้อและซอฟต์แวร์ที่ต้องมีค่าใช้จ่าย บางโปรแกรมคุณอาจจะเคยเล่นเองมาบ้างแล้วโดยเฉพาะโปรแกรมฟรีแวร์มหาชนอย่าง iTunes ที่มีทั้งในคอมพิวเตอร์ Windows และ Macintosh แต่จะแน่ใจได้อย่างไรล่ะครับว่าโปรแกรมเหล่านั้นมีคุณสมบัติดีพอสำหรับคอมพิวเตอร์ไฮไฟที่เราคาดหวังเรื่องคุณภาพเสียงมาเป็นพิเศษ...
เพื่อให้การนำเสนอบทความนี้มีความกระชับ ตรงประเด็นและสามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคปฏิบัติ ผมจึงขันอาสาเป็นไกด์นำทางช่วยเลือกมา 2 โปรแกรมสำหรับใช้งานกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows และ Macintosh ซึ่งทั้งคู่เป็นโปรแกรมที่ผมใช้งานส่วนตัวอยู่ในปัจจุบัน โดยในเล่มนี้จะเป็นส่วนของโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์ Windows ก่อนนะครับ ตามไปดูกันเลยครับ
‘JRiver Media Center 19’ for Windows
ความเป็นมา
โดยปกติคนที่เล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์ในฝั่ง Windows ถ้าคิดถึงการเล่นเพื่อให้ได้เสียงที่มีคุณภาพสูงกว่าโปรแกรมเล่นเพลงทั่วไป (อย่างเช่น iTunes หรือ Windows Media Player) ผมคิดว่ามากกว่า 90% ต้องเคยผ่านหูผ่านตาโปรแกรมฟรีแวร์ยอดนิยมอย่าง Foobar2000 มาแล้ว ผมเองก็เช่นกัน
จะว่าไปสิ่งที่ได้จาก Foobar2000 ผมว่ามันก็น่าสนใจอยู่พอสมควร อย่างน้อยมันก็เป็นฟรีแวร์และเล่นเพลงออกมาได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าโปรแกรมทั่วๆ ไปจริง แต่ด้วยความที่เป็นฟรีแวร์การพัฒนาของ Foobar2000 จึงมีช่วงเวลาที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แถมยังมีทิศทางการพัฒนาที่ไม่ค่อยชัดเจนสักเท่าไร การ support ปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับ user ทั่วไปที่ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่อาศัยว่าเป็นโปรแกรมเล่นเพลงที่มีคนใช้จำนวนมาก บางครั้งก็ได้บรรดา user ด้วยกันนี่แหละครับที่ช่วยๆ กันงมหาคำตอบเอาเอง
ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มต้นเอา Foobar2000 มาใช้ฟังเพลงจริงจังหลังจากพบว่ามันเจ๋งกว่าโปรแกรมเล่นเพลงอย่าง iTunes ที่เคยใช้อยู่เยอะ แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้าเหนือภรรยายังมีแม่ยายครับ เมื่อผมได้มารู้จักกับโปรแกรมเล่นเพลงอีกตัวที่มีชื่อว่า JRiver Media Center หรือเรียกอย่างย่อ JMC
JMC เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดยบริษัท JRiver, Inc ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 ปูมหลังและความเชี่ยวชาญของบริษัทนี้คือการเขียนซอฟต์แวร์สำหรับระบบเครือข่ายที่เป็น Windows จนถึงระบบ Unix/Linux การันตีความสามารถของพวกเขาด้วยผลงานที่มีคนใช้งานมากถึง 2 ล้านคนจาก 50 ประเทศทั่วโลก
ปัจจุบัน JMC ได้รับการพัฒนามาจนถึงเวอร์ชั่น 19 ราคาขายบนหน้าเว็บเขาอยู่ที่ $49.98 หรือประมาณ 1,6xx บาท สามารถซื้อแบบออนไลน์ได้โดยตรงหรือจะซื้อผ่านตัวแทนจำหน่ายของเขาก็ได้ครับ ตัวโปรแกรมสามารถดาวน์โหลดไปทดลองใช้งานก่อนได้ 30 วันโดยที่สามารถใช้งานได้ทุกคุณสมบัติเหมือนตัวโปรแกรมจริง หลังจากนั้นตัวโปรแกรมจะถูกล็อคไม่ให้ใช้งาน ถ้าไม่ต้องการซื้อก็แค่ uninstall ออกไป หรือถ้าต้องการซื้อก็สามารถจ่ายเงินเพื่อเอารหัสปลดล็อคไป ขั้นตอนก็ง่ายๆ แค่นี้เหมือนโปรแกรมมีลิขสิทธิ์ทั่วไปล่ะครับ
ส่วนตัวผมใช้มาตั้งแต่เวอร์ชั่น 17 แล้วครับ แล้วก็ตามอัพเกรดมาเป็นเวอร์ชั่น 18 และ 19 ตามลำดับ การอัพเกรดแต่ละครั้งหากติดตามข่าวให้ดีในช่วงโปรโมชั่นค่าใช้จ่ายในการอัพเกรดนั้นถูกมากครับจำได้ประมาณสองสามร้อยบาทเท่านั้นเอง หลังจากนั้นก็สามารถอัพเดทได้ฟรีตลอดการใช้งานในเวอร์ชั่นนั้นๆ
คุณสมบัติและความสามารถ
JMC19 มีจุดเด่นอยู่ที่การรองรับไฟล์ออดิโอแทบทุกนามสกุล (wav, aiff, flac, ape, m4a, wma, mp3, …) ไฟล์ออดิโอแทบทุกประเภท รองรับทั้งระบบเสียงสเตอริโอและมัลติแชนเนล รองรับไฟล์เพลงตั้งแต่ไฟล์คุณภาพต่ำยอดนิยมทั่วไปจนถึงไฟล์คุณภาพสูง high resolution ทั้งแบบ PCM รวมถึงล่าสุดที่เพิ่มออพชั่นให้เล่นไฟล์ต่างๆ ในตระกูล DSD จากแผ่น SACD ได้ด้วยต่างหาก (ทั้งที่เป็นไฟล์ .dsf, .dff หรือ .iso) เรียนตามตรงว่าส่วนตัวผมยังนึกไม่ออกว่าเคยเจอไฟล์ออดิโอสกุลไหนที่ไม่สามารถมา playback บน JMC19 ได้เลยครับ
นอกจากนั้นแล้ว JMC19 ยังรองรับการเล่นเพลงผ่านระบบ memory buffer (โหลดไฟล์เข้าหน่วยความจำก่อนเล่น), การใช้งาน DAC แบบ exclusive mode (จองตัว DAC นั้นๆ ไว้ในขณะใช้งานไม่ให้โปรแกรมอื่นเข้ามาร่วมใช้), รองรับการเล่นแบบ gapless playback มีส่วนของ DSP และ Sample Rate Conversion มาให้พร้อมใช้งานในตัวโปรแกรม
คุณสมบัติเหล่านี้ใครที่เคยเล่นโปรแกรมเล่นเพลงในคอมพิวเตอร์มาบ้างแล้วคงทราบดีว่าเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจแทบทั้งสิ้น และไม่น่าจะเคยมีดิสก์ทรานสปอร์ตหรือเครื่องเล่นที่เล่นจากแผ่นดิสก์โดยตรงทั่วไปทำได้เช่นนี้มาก่อน นั่นหมายความว่า JMC19 เพียงโปรแกรมเดียวก็สามารถเปลี่ยนคอมพิวเตอร์ของคุณให้กลายเป็นคอมพิวเตอร์ทรานสปอร์ตชั้นดีได้แล้วครับ
GUI ของ JMC19 ในแบบมุมมองปกแผ่น (Cover View) |
จุดเด่นของ JMC นอกจากเรื่องคุณภาพเสียงแล้ว ผมว่ายังมีเรื่องของ GUI (Graphic User Interface) ที่เขาทำได้สวยงามน่าใช้ หรืออาจจะนับรวมคุณสมบัติอื่นๆ ที่หาไม่ได้ในโปรแกรมเล่นเพลงทั่วไปด้วยครับ อย่างเช่นคุณสมบัติในการรองรับระบบ network audio, ความสามารถในการเล่นไฟล์วิดีโอและ HTPC (Home Theater PC) ฯลฯ นอกจากคุณสมบัติพื้นฐานแล้ว การบริการหลังการขายของโปรแกรมตัวนี้ผมว่าน่าจะยอดเยี่ยมเป็นลำดับต้นๆ เลยล่ะครับ เพราะนอกจากมีการอัพเดทแก้ไข bug อยู่ตลอดเวลาแล้ว เขายังมีส่วน support ที่เป็นข้อมูลใน JRiverWiki (คู่มือใช้งานแบบออนไลน์) และ Interact Forum ซึ่งมีลักษณะเป็นเว็บบอร์ดให้เข้าไปถาม-ตอบกับตัวโปรแกรมเมอร์และผู้ดูแลได้ด้วยครับ ผมเคยเข้าไปขอให้เขาปรับแก้ส่วนแสดงภาษาไทยในชื่อเพลงที่มันเว้นช่องไฟไม่สวยงาม เขาก็จัดการให้ครับ ไม่ได้มองข้ามเลยแม้เพียงเรื่องเล็กน้อย
ตั้งค่าอย่างไรให้เสียงดี
โดยพื้นฐานตัวโปรแกรม JMC19 นั้นออกแบบให้สามารถใช้งานได้กับมัลติมีเดียคอนเทนต์ทุกรูปแบบตั้งแต่เพลง ภาพนิ่ง หนังและทีวี แต่ส่วนที่ผมจะหยิบยกมาพูดถึงเป็นหลักในบทความนี้จะเป็นส่วนของการฟังเพลงและระบบ audio ที่เกี่ยวข้องกับคนเล่นเครื่องเสียงเราโดยตรง
เป้าหมายสำคัญของการปรับตั้งค่าที่ว่านี้คือการเล่นแบบ 'bit-perfect' หมายความว่า ไฟล์ต้นทางเป็นอย่างไรก็ให้คอมพิวเตอร์ส่งออกไปที่ตัว DAC อย่างนั้น ไม่ต้องไปยุ่งหรือไปปรับเปลี่ยนอะไร โดยปกติการเล่นไฟล์เพลงในคอมพิวเตอร์นั้นมักจะมีปัญหาหนึ่งคือตัวซอฟต์แวร์เล่นเพลงหรือตัว OS เองมักจะห่วงเรื่องความเข้ากันได้หรือเรื่อง compatible มากกว่าคุณภาพเสียง ดังนั้นมันจะคอยเจ้ากี้เจ้าการไปเปลี่ยนแปลง resolution ของไฟล์เพลงที่เราจะเล่น เพื่อให้เข้ากับความสามารถของ DAC แย่กว่านั้นคือการพ่วงระบบ DSP (Digital Signal Processing) ที่มีทั้งส่วนของลูกเล่นและระบบปรุงแต่งเสียงประหลาดๆ เข้าไป ทั้งหมดนี้คือตัวการสำคัญที่จะ degrade เสียงให้ฟังแย่ลงอย่างไม่น่าให้อภัย
ดังนั้นเบื้องต้นที่เราจะยึดถือไว้ก่อนคือการเล่นแบบ bit-perfect ไฟล์ต้นฉบับมีความถี่แซมปลิ้งเท่าไร ก็ให้คอมพิวเตอร์มันส่งออกมาที่ถอดรหัสที่ตัว DAC อย่างนั้น ซึ่งการปรับตั้งใน JMC19 โดยหลักๆ ก็จะคล้ายกับในเวอร์ชั่นก่อนหน้า แตกต่างกันเพียงแค่จุดเล็กจุดน้อยเท่านั้น จุดแรกที่เราจะไปดูกันก็คือส่วนของเมนู Tools > Options > Audio ซึ่งจะมีเมนูย่อยแตกแขนงออกไปอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เราจะดูเป็นอย่างแรกก็คือส่วนของ 'Audio Device' ครับ
ใน ‘Audio Device’ คุณจะเห็นชื่อ DAC ที่คุณต่อใช้งานอยู่กับคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่เห็นให้ตรวจสอบการเชื่อมต่อให้ดี หรือในบางกรณี DAC บางตัวก็ต้องติดตั้งไดรเวอร์เฉพาะของมันเสียก่อน ชื่อ DAC ของคุณจะปรากฏอยู่ร่วมกับ DAC อื่นๆ ที่เชื่อมต่ออยู่กับคอมพิวเตอร์อย่างน้อยก็จะเห็น DAC ของการ์ดเสียงออนบอร์ดในตัวคอมพิวเตอร์เอง นอกจากตัว DAC แล้ว คุณยังจะเห็น output mode ต่อท้ายอยู่ในเครื่องหมาย [ … ]
หน้าเมนู Audio Device |
เลือก DAC ที่เราต่อใช้งาน |
ใน DAC ตัวหนึ่งอาจจะมี output mode โผล่มาให้เลือกใช้งานมากกว่า 1 ชุด แนะนำให้เลือกใช้ตามลำดับความสำคัญดังนี้ ASIO > WASAPI > Kernel Streaming > Direct Sound หมายความว่าให้เลือกใช้ตัวที่มาก่อน ถ้าใช้งานไม่ได้หรือไม่มีให้เลือก ก็ให้เลือกตัวที่อยู่ลำดับถัดไปแทน เหตุผลที่แนะนำให้เลือกใช้ตามลำดับความสำคัญตามนั้นทาง JRiver เองได้อธิบายเอาไว้แล้วครับว่าเอาต์พุต ASIO นั้นสัญญาณจะ 'ลัดตรง' มากที่สุด ถูกรบกวนจากกระบวนการต่างๆ น้อยที่สุด แต่จะใช้ได้ดีและได้ผลในกรณีที่ตัว device หรือตัว DAC ของเรามี native ASIO driver หรือไดรเวอร์ ASIO เฉพาะตัวของมันมาด้วย ไม่นับกรณีที่ต้องใช้ไดรเวอร์ ASIO4All ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่ Kernel Streaming ที่ใส่มาในแพ็คเกจของ ASIO เท่านั้น ในกรณีที่ DAC ไม่มี native ASIO driver และคุณใช้ Windows 7 ขึ้นไป โหมด WASAPI ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจด้วยเช่นกัน ส่วนโหมด Kernel Streaming (KS) และ Direct Sound (DS) นั้นส่วนมากจะได้ใช้กับ DAC รุ่นเก่าๆ ที่ไม่รองรับการเล่นในโหมด ASIO หรือ WASAPI
'ASIO และ WASAPI สองโหมดเอาต์พุตสำหรับคอมพิวเตอร์ไฮไฟ'
ASIO ย่อมาจากคำว่า Audio Stream Input/Output คือกระบวนการทำงานในไดรเวอร์ของ sound card หรือ USB DAC ที่คิดค้นขึ้นโดยบริษัท Steinberg จากประเทศเยอรมัน เป็นกระบวนการส่งต่อข้อมูลเสียงที่เป็นที่ยอมรับกันว่ามีความเที่ยงตรงสูง มีค่าการหน่วงเวลาต่ำ (low latency) ข้อมูลมีความลัดตรงจากคอมพิวเตอร์ไปที่ตัว DAC มากที่สุด
WASAPI ย่อมาจากคำว่า Windows Audio Session API คือกระบวนการทำงานในไดรเวอร์ของ sound card หรือ USB DAC ที่คิดค้นขึ้นโดยบริษัท Microsoft เริ่มมีใช้งานมาตั้งแต่ Windows เป็นต้นมา ข้อดีของเอาต์พุตโหมด WASAPI นี้ก็คล้ายๆ กับ ASIO คือมีความลัดตรงของสัญญาณข้อมูลและไม่ผ่านกระบวนการที่ไม่จำเป็น ถ้าหาก USB DAC ที่ใช้งานอยู่ไม่มีไดรเวอร์ ASIO สามารถเลือกใช้งานเอาต์พุตโหมด WASAPI นี้ได้อย่างมั่นใจในคุณภาพเช่นกันครับ
ถัดจากการเลือก DAC ที่จะใช้งานใน ‘Audio Device’ อีกส่วนที่เราอาจจะให้ความสนใจคือเมนู ‘Device settings’ ที่อยู่ด้านล่างถัดลงมา ตัวเลือกต่างๆ ในเมนูนี้จะแตกต่างกันไปตามประเภทของ output mode โดยทั่วไปก็สามารถใช้ค่าที่เป็น default ได้เลยครับ ส่วนที่พอจะลองปรับแต่งเพื่อหวังผลได้บ้างก็คือ Buffering ค่านี้ถ้าตั้งไว้น้อยจะช่วยลด latency หรือค่าความหน่วงของการส่งผ่านสัญญาณได้ แต่ถ้าตั้งไว้น้อยเกินไปอาจจะทำให้เสียงเพลงที่เล่นเกิดการสะดุดขึ้นได้
ตัวเลือกในเมนู Device settings… สำหรับเอาต์พุต WASAPI |
ตัวเลือกในเมนู Device settings… สำหรับเอาต์พุต ASIO |
ส่วนต่อมาที่ต้องสนใจคือหัวข้อ Settings ที่อยู่ถัดลงมาจาก Audio Output ตรงนี้ส่วนแรกที่แนะนำให้เลือกใช้คือ 'Play files from memory instead of disk (not zone-specific)' ซึ่งเป็นการเล่นเพลงแบบโหลดผ่านเข้าหน่วยความจำก่อน การเล่นด้วยวิธีนี้จะให้เสียงที่ดีกว่าเล่นจากฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์โดยตรง
แต่อีกส่วนหนึ่งที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือตรงหัวข้อ 'DSP & output format...' พอคลิกเข้าไปแล้วเราจะได้เจอกับหน้าต่าง DSP Studio โดยปกติของเล่นแบบ bit perfect เราจะไม่เลือกใช้ (ไม่ติ๊กเครื่องหมายถูก) ในทุกๆ หัวข้อที่อยู่ทางด้านซ้ายมือเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็น Output Format, Volume Leveling, Adaptive Volume, Equalizer, ... ยกเว้นในบางกรณีที่อาจจำเป็นต้องใช้ ลองค่อยๆ เรียนรู้เอาภายหลังได้ครับแต่เบื้องต้นเราจะยังไม่สนใจมัน นอกจากส่วนของฟังก์ชั่น Sample rate conversion ที่อยู่ในหัวข้อเมนูย่อย Tools > Options > Audio > DSP & output format... > Output Format > Sample rate
หน้าเมนู DSP Studio |
เมนูย่อย Output Encoding ปกติจะตั้งเอาไว้ที่ None |
การตั้งค่า Sample rate conversion |
Sample rate conversion จะได้ใช้ประโยชน์ในกรณีที่ DAC ของเรามีข้อจำกัดในการเล่นไฟล์ที่มี Sample rate สูงๆ ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่เรามีไฟล์ 192kHz แต่ตัว DAC รองรับแค่ 96kHz เพื่อให้เล่นไฟล์นี้กับ DAC ของเราได้เราจำเป็นต้องมองข้ามเรื่อง bit-perfect ไปก่อน Sample rate conversion จะช่วยให้ DAC ของเราเล่นไฟล์นี้ได้โดยการแปลง Sample rate นั้นให้ลงมา ซึ่งในกรณีนี้เราจำเป็นจะต้องเลือกใช้เมนู Output Format ใน DSP Studio โดยปรับตรงส่วน ‘Output’ ของหัวข้อ Sample rate ให้สอดคล้องเหมาะสมกับด้าน ‘Input’ ซึ่งคำว่าสอดคล้องเหมาะสมในที่นี้หมายความว่าให้เป็นตัวเลขที่คูณหรือหารได้ลงตัวกันเพื่อลดโอกาสการเกิด jitter ในระบบลงให้เหลือน้อยที่สุด
อย่างเช่นในกรณีที่เราใช้ DAC ที่รับได้แค่ 24bit 96kHz ด้าน ‘Input’ ในช่วง Sample rate ไม่เกิน 96kHz ผมจะเลือกเป็น 'No change' หมายความว่าเราสามารถเล่นแบบ bit-perfect ได้ตามปกติ แต่ในช่วงที่เกินกว่า 96kHz เช่นที่ 176.4kHz และ 192kHz ผมจะเลือกให้ Output นั้นทำการ Down sample ลงมา 2 เท่า เหลือ 88.2kHz และ 96kHz ตามลำดับ
ส่วนหัวข้ออื่นๆ ที่เหลือเช่น ‘Output Encoding’ จะเป็นเรื่องของการแปลงไฟล์ที่เราเล่นให้ส่งสัญญาณเอาต์พุตออกไปเป็นฟอร์แมตสัญญาณอื่นๆ เช่น Dolby Digital, DSD, 2xDSD โดยปกติแนะนำให้เลือกเอาไว้ที่ None ก่อนครับ สำหรับหัวข้อ Channels ก็ให้เลือกไว้ที่ 'Source number of channels' ตามปกติ
กลับมาดูที่ Tools > Options > Audio ส่วนที่เหลือนะครับ ในเบื้องต้นแนะนำให้ปรับส่วนที่เกี่ยวข้องกับเวลาตั้งแต่หัวข้อ ‘Track Change’ ลงไป ส่วนใดที่สามารถเลือกเป็น Gapless หรือ Immediate ได้ก็ให้เลือกไว้ที่สองค่านี้ครับเพื่อลดการใช้งานส่วนของวงจรโปรเซสเซอร์ต่างๆ ที่อาจจะส่งผลลบต่อคุณภาพเสียงได้ ด้านล่างสุดตรงหัวข้อ ‘Live playback latency’ แนะนำให้เลือกเอาไว้ที่ Minimum นะครับ
ในหัวข้อ ‘Volume’ แม้ว่าจะมีหลายโหมดให้เลือกใช้แต่ผมพบว่าถ้าเลือกไว้ที่ ‘Disabled Volume’ เลยจะให้เสียงดีที่สุด แล้วเราก็ไปปรับระดับเสียงเอาที่ตัวแอมป์หรือที่ volume ในตัว DAC แทน นอกจากในตัวโปรแกรม JMC19 เองแล้ว อีกส่วนที่แนะนำให้ปรับตั้งคือใน Control Panel ของ Windows ครับ เข้าไปในส่วนของการตั้งค่าเกี่ยวกับ ‘Hardware and Sound’ แล้วมองหา DAC ของเรา ดับเบิ้ลคลิกที่แถบรายชื่อ DAC ของเราแล้วเลือกหัวข้อ ‘Enhancements’ คลิกเลือกที่ ‘Diable all enhancements’ เพื่อตัดกระบวนการปรุงแต่งเสียงต่างๆ ออกไปให้หมด
มาถึงจุดนี้ผมว่าเราก็พร้อมจะที่เล่นเพลงกับ JMC19 ให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีแล้วล่ะครับ รายละเอียดส่วนอื่นๆ นั้นเป็นส่วนปลีกย่อยที่จะขอหยิบยกมากล่าวถึงตามความเหมาะสม อ้อ.. เกือบลืมบอกไปครับ รายละเอียดต่างๆ ในบทความนี้ผมอ้างอิงจาก JMC19 เวอร์ชั่นล่าสุด ณ ปัจจุบันที่ผมกำลังเขียนบทความนี้อยู่นะครับคือเวอร์ชั่น 19.0.138
ปรับแต่งให้สวยงามและใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
สำหรับการเริ่มต้นกับโปรแกรมเล่นเพลงมากความสามารถอย่าง JMC19 ปัญหาหนึ่งที่เราอาจจะเจอคือ ส่วนของ GUI หรือ Graphic User Interface ของตัวโปรแกรมที่ดูเยอะจนน่าสับสน ไม่ทราบจะไปเริ่มต้นตรงไหนดี ที่จริงแล้วส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของ JRiver มาตั้งแต่ไหนแต่ไรนะครับ ด้วยความที่หน้าตาของตัวโปรแกรมสามารถปรับแต่ง ปรับเปลี่ยน เพิ่ม-ลดข้อมูลในการแสดงผลได้ ตลอดจนการสร้าง library เพลงขึ้นมาในระบบ รวมถึงการจัดเรียงหมวดหมู่ตามรายละเอียดต่างๆ ซึ่งผู้ใช้ที่ไม่คุ้นชินอาจจะสับสนได้ในระยะแรกเริ่ม ในบทความนี้เพื่อให้เกิดความกระชับผมจะไม่ได้กล่าวถึงครบทุกส่วนแต่จะเน้นส่วนที่เป็นประโยชน์กับการใช้งานเป็นเครื่องเล่นเพลงเป็นหลัก
การปรับแต่งส่วนแสดงผลของ Display |
เนื่องจาก JMC19 เป็นโปรแกรมที่รองรับไฟล์แบบมัลติมีเดีย เพื่อลดความสับสนและทำให้ตัวโปรแกรมดูเป็นโปรแกรมเฉพาะทางสำหรับการเล่นเพลงมากขึ้น ขั้นต้นแนะนำให้ปิดออพชั่นที่เกี่ยวข้องกับภาพนิ่งและวิดีโอออกไปโดยการเข้าไปที่ Tools > Options > General > Features แล้วเลือกไม่ใช้งาน (ติ๊กเครื่องหมายถูกที่หน้าหัวข้อออก) ตรงหัวข้อที่ไม่ต้องการใช้งานเพื่อลดความรุงรังของ GUI เช่น Image Support, Video Support หรือหัวข้ออื่นๆ ยกเว้นส่วนที่เกี่ยวกับระบบเสียงและการเล่นเพลงโดยตรง
ต่อมาเป็นส่วนหน้าตาหลักของโปรแกรม ส่วนแรกคือตัว Skins ซึ่งเข้าไปเลือกปรับแต่งได้ที่ View > Skins ที่ผมชอบเลือกใช้คือ Skins รูปแบบที่เรียก ‘Noire’ ในเมนู View จะมีรูปแบบการแสดงผลให้เลือกได้อีก 5 รูปแบบคือ Standard View, Mini View, Display View, Theater View และ Cover View ส่วนนี้คุณจะลองปรับเล่นเองดูก่อนก็ได้แต่ถ้าเน้นการเล่นเพลงเป็นหลักผมแนะนำว่า Standard View และ Cover View ดูดีและใช้งานง่ายที่สุด ถ้าชอบแบบครบๆ ก็ Standard View ชอบโล่งๆ แนวมินิมอลสะอาดตาก็ต้อง Cover View ล่ะครับ
สำหรับภาพปกสวยๆ บนหน้าจอหลักนั้นจำเป็นต้อง import จากแหล่งที่เราเก็บไฟล์เข้ามาในตัวโปรแกรมก่อนนะครับ โดยเข้าไปที่ File > Library > Import… ในหน้าต่าง ‘Media Import’ แนะนำให้เข้าไปตั้งค่าที่ Configure Auto-Import เพื่อใส่รายละเอียดของตำแหน่ง Folder ที่เราเก็บไฟล์ซึ่งสามารถใส่ข้อมูลได้หลาย Folder (แนะนำว่าควรเก็บไฟล์ให้เป็นที่เป็นทาง) และตัวเลือกในการ import ไฟล์เข้ามา จากนั้นกลับมาที่หน้า ‘Media Import’ แล้วเลือก ‘Run Auto-Import Now’
ในหน้า View แบบ Standard View หน้าต่างทางด้านซ้ายมือจะเป็น Library View ซึ่งจะมีการจัดแบ่งหมวดหมู่หลักๆ ของไฟล์เพลงเอาไว้แล้วประมาณหนึ่ง นอกจากนั้นยังสามารถปรับเปลี่ยนการตั้งค่า เพิ่มหรือลบรูปแบบอื่นๆ ได้ตามต้องการด้วยครับ ส่วนนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับระบบเสียงโดยตรงแต่เกี่ยวกับหน้าตาและความสะดวกนะครับ แนะนำให้ค่อยๆ ลองปรับและเลือกใช้ตามความสะดวกและความชอบของคุณเองได้เลย อย่างกรณีของผมถนัดที่เข้าถึงไฟล์เพลงแบบแบ่งเป็น Folder ตามปกติมากกว่าจึงเพิ่ม Library View ใหม่เข้าไปให้จัดเรียงแบบเข้าถึงตาม Folder แล้วตั้งชื่อใหม่เป็นชื่อที่ถนัดใช้ โดยให้ View As เป็นแบบ Categories และเลือก Type เป็น File path วิธีนี้ใครชอบเหมือนกันก็ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ แต่มีข้อแม้ว่าการเก็บไฟล์ใน Folder ของคุณควรจะจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบด้วยนะครับ (เช่น ชื่อศิลปิน > อัลบั้ม เป็นต้น)
ส่วนของ Display จอแสดงผลหลักของโปรแกรมก็สามารถปรับแต่งรายละเอียดของการแสดงผลได้ด้วยครับ ส่วนล่างของกรอบหน้าต่าง Display ด้านบนที่ทำหน้าที่แสดงรายละเอียดของไฟล์เพลงก็สามารถปรับแต่งได้มากมายและหลากหลายด้วยเช่นกัน การเปิดโอกาสให้เราสามารถปรับแต่งส่วนนี้ได้ตามใจชอบก็เสมือนกับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เราสามารถทำตัวเป็นคนออกแบบหน้าจอแสดงผลของเครื่องเล่นได้เองอะไรประมาณนั้นเลยล่ะครับ
ฟังเพลงกับ JMC19
ถ้าคุณผ่านทุกขั้นตอนก่อนหน้านี้มาได้ (นับรวมบทความใน 2 ตอนแรกด้วยครับ) ผมเชื่อว่าการเล่น JMC19 ไม่น่าจะเหลือเรื่องยากๆ ให้ปวดหัวแล้วล่ะครับ แค่ใช้เมาส์จิ้มเข้าไปที่รูปปกแผ่นเหมือนกับว่าคุณเดินไปหยิบแผ่นซีดี จากนั้นก็จิ้มเพลงที่อยากฟัง เสียงเพลงเพราะๆ ควรจะดังออกมาให้ได้ยินได้ฟังแล้วล่ะ... แต่เดี๋ยวก่อนครับยังมีรายละเอียดอีกส่วนหนึ่งที่แนะนำให้คุณสังเกต นั่นคือส่วนแสดงผลที่เป็นไอค่อนเล็กๆ อยู่ที่มุมบนด้านขวาใต้แถบ Display ของหน้าโปรแกรม JMC19
Audio Path’ บอกได้ว่าเรากำลังเล่น bit-perfect อยู่หรือเปล่า |
ไอค่อนนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า 'Audio Path' ไอค่อนนี้จะแสดงผลเป็น 'สีฟ้า' ทุกครั้งที่การเล่นเพลงจากคอมพิวเตอร์มีการส่งข้อมูลออกมาเป็นแบบ bit-perfect เมื่อคลิกเข้าไปดูจะพบหน้าต่างเล็กๆ พร้อมข้อมูลแจงรายละเอียดต่างๆ เช่น รายละเอียดของไฟล์ที่เล่นทาง Input ของโปรแกรมและรายละเอียดของ Output ที่คอมพิวเตอร์ส่งออกไปที่ตัว DAC และรายละเอียดที่แจ้งว่าตัวเอ็นจิ้นของ JMC19 ได้ไปยุ่งเกี่ยวอะไรกับตัวไฟล์ข้อมูลหรือไม่ อย่างไร เช่น มีการเปลี่ยนแปลง sample rate เป็นต้น
ตลอดหลายเดือนสำหรับ JMC19 และเวอร์ชั่นอื่นๆ ก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสได้ลองใช้มันกับ DAC หลายๆ ตัวและพบว่านี่คือโปรแกรมที่ใช้งานได้อย่างราบรื่น เสถียรและปัญหาน้อยที่สุดเท่าที่เคยลองมา นี่คือโปรแกรมที่ทำให้คอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ เครื่องหนึ่งสามารถทำหน้าที่เป็นทรานสปอร์ตได้โดยสมบูรณ์แบบ มันเข้าขากันดีกับทั้ง DAC ตัวเล็กๆ อย่าง Audioquest : DragonFly, Meridian : Explorer, Calyx : Coffee, KingRex : UD384, ADL : X1 ขึ้นไปจนถึง DAC ราคาหลายหมื่นถึงหลักแสนอย่าง MYTEK DIGITAL : STEREO192-DSD DAC, Chord : Qute HD/EX, Moon : 300D v.2 หรือ Bricasti Design : M1
เมื่อมาพูดถึงในแง่ของคุณภาพเสียง ผมว่า JMC19 นั้นคือการ fine tune คุณภาพเสียงของโปรแกรม JMC ที่ลงตัวที่สุดตั้งแต่ที่บริษัท JRiver, Inc ได้สร้างโปรแกรมนี้ออกมา โดยปกติแล้วสำหรับคนที่เคยใช้โปรแกรมเล่นเพลงอื่นๆ บน Windows มาก่อน เมื่อได้มาลองเล่นเพลงกับโปรแกรม JMC ผมเชื่อว่าอย่างแรกที่จะรับรู้ได้ทันทีคือความสุขุมลุ่มลึกของเสียง โปรแกรมตัวนี้ให้เสียงเรียบๆ แต่ราบรื่น รายละเอียดต่างๆ ที่ออกมามีเนื้อเสียงเข้มชัดและฟังสบาย รายละเอียดของเสียงแบคกราวนด์สงบนิ่ง สงัดและไม่วอกแวก ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้ยินเสียงที่มีพลังมากขึ้น มีรายละเอียดดีขึ้น ความชัดของเสียงชัดเจนแบบเป็นตัวตนตามแบบฉบับที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ความชัดแบบปรุงแต่งขึ้นมา
แต่สิ่งหนึ่งที่ JMC เวอร์ชั่นเก่าๆ สู้เวอร์ชั่นใหม่ล่าสุดอย่าง JMC19 ไม่ได้นั่นคือ ความโปร่งของเสียง ความเป็นอิสระและความกว้างขวางของเวทีเสียง ทำให้เสียงของโปรแกรมเวอร์ชั่นนี้มีความกระจ่างใส (transparency) มากขึ้น สามารถจำแนกแยกแยะรายละเอียดยิบย่อยของเสียงได้ดีกว่าเดิม ถ้า DAC ที่ใช้งานอยู่มีคุณภาพดีพอ ฟังแล้วจะสามารถรับรู้ ติดตามรายละเอียดส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่แอบซ่อนอยู่ในการบันทึกเสียงได้ง่ายถึงง่ายมาก
เล่นไฟล์ DSD กับ JMC19
ไฟล์ดิจิตอลฟอร์แมต DSD นั้นเป็นฟอร์แมตการเก็บบันทึกข้อมูลเสียงที่มีรายละเอียดสูง และเป็นมาตรฐานของแผ่น Super Audio CD (SACD) ในอดีตการเล่นไฟล์เสียงฟอร์แมตนี้จำเป็นต้องเล่นจากแผ่น SACD โดยตรง แต่เมื่อไม่นานมานี้กระแสความนิยมและการพัฒนาของระบบคอมพิวเตอร์ไฮไฟเติบโตขึ้นตามลำดับจนถึงจุดที่เราสามารถเล่นไฟล์ DSD จากตัวไฟล์ข้อมูลได้โดยตรงเทียบเท่ากับที่ในสตูดิโอเขาเล่นกันแล้วครับ และโปรแกรม JMC 19 ก็เป็นหนึ่งในซอฟต์แวร์ที่รองรับการเล่นในลักษณะดังกล่าวด้วยครับ ไปดูในรายละเอียดกันดีกว่าว่ามันเล่นได้ยังไง และมีอะไรที่ต้องใช้บ้าง
เมื่อเล่น DSD ในแบบแปลงเป็น PCM จำเป็นต้องมีการ down sample ลงมา |
การตั้งค่าใน DAC เมื่อเล่นไฟล์ DSD แบบ DoP |
การรองรับไฟล์ DSD ของ JMC 19 นั้นก็เริ่มตั้งแต่ที่ระบบ library ของมันสามารถมองเห็นและอ่านไฟล์ต่างๆ ของฟอร์แมต DSD ได้ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ .dff, .dsf หรือแม้แต่ไฟล์อิมเมจอย่าง .iso ที่ริปมาจากแผ่น SACD โดยตรง ไฟล์ .dff และ .dsf เราสามารถหาซื้อแบบดาวน์โหลดออนไลน์ได้จากหลายแหล่ง สำหรับกรณีของไฟล์ .iso ที่ริปมาจากแผ่น SACD โดยตรงจำเป็นต้องอาศัยความรู้ความสามารถและอุปกรณ์อย่าง PlayStation 3 มาช่วย รายละเอียดหาอ่านได้ทั่วไปตามเว็บไซต์อย่างเช่นตามลิงค์นี้ครับ http://www.computeraudiophile.com/f11-software/sacd-ripping-using-your-ps3-part-2-a-7495/
สำหรับการเล่นไฟล์ DSD กับ JMC19 นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 กรณีดังนี้
- เล่นโดยการ ‘แปลง DSD เป็น PCM’
วิธีนี้เหมาะกับ DAC ที่ไม่รองรับไฟล์ DSD โดยตรง เมื่อตั้งค่าใน Tools > Options > Audio > Settings > Bitstreaming ให้เป็น ‘None’ ตัวโปรแกรมจะช่วยทำการแปลงสัญญาณ 1 bit DSD ให้เป็นสัญญาณ 64 bit PCM ที่ค่า sample rate ต่ำลงมา 8 เท่า (352.8kHz สำหรับ DSD64 และ 705.6kHz สำหรับ DSD128) ซึ่งสัญญาณ PCM ที่ถูกแปลงมานี้จะยังคงรักษาปริมาณข้อมูลเอาไว้อย่างครบถ้วนไม่มีการตัดทอนข้อมูลของสัญญาณ DSD ต้นฉบับทิ้งไปแต่อย่างใด
ทว่าสัญญาณ PCM 64bit / 352.8kHz นั้นก็ยังคงเกินความสามารถของ DAC ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จึงต้องอาศัยการทำ downsampling ในตัวโปรแกรมอย่างที่ได้เคยบอกไว้แล้วในตอนต้น โดยให้เข้าไปที่ Tools > Options > Audio > Settings > DSP & output format...> Output Format แล้วเลือกปรับตั้งค่าที่หัวข้อ Sample rate โดยเลือกปรับที่ 'Greater than 192,000 Hz' เป็น 176.4, 88.2 หรือ 44.1 เท่าที่ตัว DAC จะเล่นได้ นอกจากนั้นตัวโปรแกรมจะใช้วงจรกรองความถี่สูงตั้งแต่ 30kHz ที่มากับสัญญาณ DSD ออกไปเนื่องจากเป็นสัญญาณพิงค์น้อยส์ส่วนเกิน
กล่าวโดยสรุปก็คือการเล่นไฟล์ DSD ด้วยวิธีนี้ไม่ใช้วิธีที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุด แต่ออกแบบมาเพื่อให้ DAC ที่ยังไม่สามารถแปลงสัญญาณ DSD ได้ด้วยตัวของมันเอง สามารถเล่นไฟล์ DSD ได้ครับแม้ว่าจะได้คุณภาพไม่เต็ม 100% ก็ตาม
.. - 'เล่นแบบ Bitstreaming native DSD'
วิธีนี้โปรแกรมจะเล่นเพลงจากไฟล์ DSD โดยตรง โดยให้ตัวโปรแกรมเป็นตัวส่งข้อมูลออกไปที่ตัว DAC โดยไม่ผ่านการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่ตัวไฟล์ วิธีนี้นอกจากตัว DAC ต้องรองรับการเล่นสัญญาณ DSD แล้ว ยังต้องอาศัย native ASIO driver ของตัว DAC ที่รองรับ ASIO 2.2 ด้วยครับ
สำหรับการปรับตั้งค่าให้เข้าไปที่ Tools > Options > Audio > Audio Device แล้วเลือก DAC ในโหมดเอาต์พุตแบบ 'ASIO' จากนั้นเลื่อนลงไปดูในส่วนของ Tools > Options > Audio > Settings > Bitstreaming เลือกไปที่ 'DSD' แล้วกด OK ทั้งหมดเพื่อออกจากเมนูปรับตั้งค่า เพียงเท่านี้ก็สามารถเล่นไฟล์แบบ native DSD ได้แล้วครับ
โดยหลักการวิธีนี้น่าจะให้เสียงดีที่สุดเนื่องจากเป็นการเล่นจากตัวข้อมูลของไฟล์ DSD โดยตรงไม่ผ่านการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยตัวโปรแกรมเอง แต่ยังมี DAC จำนวนไม่มากนักที่รองรับการเล่นในลักษณะนี้ได้เช่น DAC ของยี่ห้อ MYTEK
.. - 'เล่นแบบ Bitstreaming DoP'
คำว่า DoP หรือ DSD over PCM นั้นคือมาตรฐานการส่งข้อมูลออกจากคอมพิวเตอร์ที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อส่งสัญญาณ DSD ออกมาในรูปแบบของสัญญาณ PCM (รีแพ็คเกจสัญญาณ) วิธีการนี้คล้ายคลึงกับการส่งสัญญาณบิตสตรีมอย่าง AC3 ออกไปกับขั้วต่อ S/PDIF ในรูปแบบของสัญญาณ PCM ในปัจจุบัน USB DAC บางรุ่นจะเล่นไฟล์ DSD ได้ในรูปแบบนี้ครับ
สำหรับการปรับตั้งค่าให้เข้าไปที่ Tools > Options > Audio > Audio Device แล้วเลือก DAC ในโหมดเอาต์พุต ‘ASIO’ หรือ ‘WASAPI’ จากนั้นกดเข้าไปใน ‘Device settings...’ มองหาประโยคที่บอกว่า ‘DSD bitstream in DoP format’ ให้ติ๊กเครื่องหมายถูกที่หัวข้อนี้ ต่อจากนั้นเลือกใน Tools > Options > Audio > Settings > Bitstreaming เลือกไปที่ ‘DSD’ กด OK ทั้งหมดเพื่อออกจากเมนูปรับตั้งค่า เพียงเท่านี้ก็สามารถเล่นไฟล์แบบ DSD Over PCM ได้แล้วครับ
……………………