วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Review - LEONA RV-006


ณ ปัจจุบันนี้ผมคิดว่าดิจิตอลทีวีในบ้านเราได้ผ่านพ้นช่วงตั้งไข่มาแล้วนะครับ การออกอากาศของช่องสถานีต่างๆ เริ่มเข้าที่เข้าทางทั้งในส่วนของโปรแกรมรายการและระบบการออกอากาศ แต่ในด้านของอุปกรณ์นี่สิครับหลายท่านบ่นให้ฟังว่ามันเลือกยากจริงๆ โดยเฉพาะ DTV STB ที่มีให้เลือกมากกว่า 10-20 ยี่ห้อ กับจำนวนรุ่นที่มีให้เลือกอีกราวครึ่งร้อย แถมราคายังไม่ค่อยแตกต่างกันมากอีกต่างหาก

ในสภาพการณ์เช่นนี้บอกได้เลยครับว่าไม่มีอะไรดีกว่าการได้ทดลองใช้งานจริง เพราะลำพังแค่ดูสเปคฯ ของกล่องแต่ละรุ่น มันใกล้เคียงกันมาก มากจนบางรุ่นทำให้ผมคิดว่ามันแตกต่างกันแค่ภายนอกและชื่อยี่ห้อเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าไม่ได้ลองใช้งานจริงก็แทบไม่มีโอกาสได้ทราบเลยว่ามันผิดไปจากที่ผมคิดหรือเปล่า

DTV STB รุ่นใหม่ของยี่ห้อ LEONA ที่มาในรหัสชื่อรุ่นว่า RV-006 มีบางอย่างที่ดูเหมือน และบางอย่างที่แตกต่างไปจาก DTV STB รุ่นอื่นๆ ที่เคยผ่านมือผมมา จะบอกว่ามันดูแตกต่างตั้งแต่ภายนอกเลยก็ว่าได้ครับ



มีอะไรในกล่อง
อุปกรณ์มาตรฐานที่มากับเครื่อง
LEONA RV-006 มาในแพคเกจที่ดูไม่ได้แตกต่างจาก DTV STB รุ่นอื่นๆ ที่ผมเคยลองเล่นมาก่อน ทว่าความแตกต่างของ RV-006 สามารถพบเห็นได้ตั้งแต่เมื่อตัวเครื่องถูกยกออกจากกล่อง ตัวเครื่องเป็นกล่องทรงสี่เหลี่ยม ทำจากแผ่นโลหะพับพ่นสีดำดูแน่นหนาแข็งแรงดี มีชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกเพียงแค่ส่วนของแผงหน้า มันมีขนาดใหญ่กว่ากล่อง DTV STB ทุกรุ่นที่ผมเคยลองเล่นมาเพราะรวมภาคจ่ายไฟเอาไว้ในตัวท้ายเครื่องและมีสายไฟเสียบตรงใช้กับไฟบ้าน (110-240 VAC) ได้เลย

สติกเกอร์น้องดูดีแสดงชัดเจน
ด้วยขนาดที่ใหญ่กว่าแต่ออกแบบได้เพรียวบางทำให้มันดูกะทัดรัดกว่าที่คิด แถมยังมีพื้นที่สำหรับจอดิสเพลย์แสดงตัวเลขช่องและโหมดการทำงานของกล่อง รวมถึงปุ่มกดฟังก์ชันพื้นฐานต่างๆ ที่ด้านหน้าเครื่อง ไม่ต้องห่วงว่าถ้ารีโมตคอนโทรลหายแล้วจะใช้งานอย่างไรเพราะยังสามารถกดสั่งงานเอาที่ตัวเครื่องโดยตรงได้ ด้านหลังเครื่องนอกเหนือจากขั้วต่อมาตรฐานอย่างเช่น RF IN/OUT, HDMI OUT และ AV OUT แล้วกล่องรุ่นนี้ยังแถมขั้วต่อเอาต์พุตสัญญาณเสียงดิจิตอลแบบ Coaxial มาให้ด้วย ขั้วต่อนี้จะได้ใช้ประโยชน์สำหรับคนที่ใช้เอวีรีซีฟเวอร์รุ่นเก่าที่ไม่มีอินพุต HDMI หรือจะต่อพ่วงอุปกรณ์ประเภท D/A Converter แยกภายนอกเพื่อเพิ่มคุณภาพเสียงก็ได้ถ้าต้องการ

อุปกรณ์มาตรฐานที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง LEONA RV-006 ก็ถือว่าให้มาพร้อมใช้งานกันเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นคู่มือภาษาไทย/อังกฤษ, สาย HDMI, สายสัญญาณ AV และรีโมตคอนโทรลอินฟราเรด แค่หาเสาอากาศและทีวีมาเชื่อมต่อก็สามารถดูดิจิตอลทีวีได้แล้ว

นอกจากการใช้งานเพื่อรับชมดิจิตอลทีวีตามปกติ ออพชันหนึ่งที่มักจะมาพร้อมกับ DTV STB ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันนั่นคือพอร์ต USB สำหรับเสียบใช้งานกับอุปกรณ์ media storage ทั้งหลายเพื่อรองรับการใช้งานฟังก์ชันเล่นไฟล์มีเดียและบันทึกรายการด้วยฟังก์ชัน PVR หรือ Timeshift ก็พบได้ในกล่องรุ่นนี้ด้วยเช่นกัน



การใช้งานทั่วไปและเมนูปรับตั้งของกล่อง
DTV STB รุ่นนี้ให้
ขั้วต่อ Coaxial มาด้วยครับ
เสียบสายสัญญาณจากเสาอากาศเข้าที่ขั้วต่อ RF IN ด้านหลังกล่อง, เสียบสาย HDMI จากกล่องไปที่จอทีวี จากนั้นเสียบสายไฟเข้ากับไฟบ้าน นี่คือ 3 ขั้นตอนง่ายๆ ในเบื้องต้นที่ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถทำได้เองกับกล่องรุ่นนี้โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชำนาญการหรือแม้แต่การเปิดอ่านคู่มือ รีโมตคอนโทรลใช้งานได้ดีเหมือนทั่วไป ตินิดหน่อยเรื่องการเลือกสีตัวอักษรเป็นสีเทาสกรีนลงบนพื้นสีดำทำให้มองยากในสภาพแสงน้อย

ทุกครั้งที่มีการเสียบไฟเข้าเครื่อง เครื่องจะทำงานเปิดและบูตการทำงานขึ้นมาเองอัตโนมัติโดยไม่ต้องกดปุ่ม STANDBY จอแสดงผลจะขึ้นเป็นคำว่า ‘boot’ และมีโลโก้ LEONA พร้อมกราฟฟิกปรากฏขึ้นที่หน้าจอทีวี ระยะเวลาในการบูตของกล่องรุ่นนี้จัดว่าอยู่ในระดับค่อนข้างเร็วทันใจเมื่อเทียบกับ DTV STB ทั่วไป ใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 10-15 วินาทีโดยประมาณเท่านั้น

เช่นเดียวกับ DTV STB อื่นๆ เมื่อเปิดใช้งานเป็นครั้งแรกหรือกลับมาใช้งานหลังจากทำการตั้งค่าโรงงาน (Factory Default) เมนูแรกที่จะโผล่มาต้อนรับคือเมนูแนะนำการติดตั้ง (Installation Guide) ที่สามารถเลือกภาษาของเมนูหรือ OSD Language ได้ สามารถเลือกประเทศที่ใช้งานได้ อย่างหลังนี้ค่อนข้างแปลกตาไปสักหน่อยเพราะกล้องรุ่นอื่นๆ เท่าที่ผมลองเล่นมาจะเลือกเอาไว้ที่ประเทศไทยและไม่สามารถเปลี่ยนเป็นประเทศอื่นได้ แต่กล่องรุ่นนี้เปลี่ยนได้ ดังนั้นอย่าลืมเลือกเอาไว้ที่ประเทศไทยเพราะมีผลโดยตรงกับมาตรฐานและย่านความถี่ของสัญญาณดิจิตอลทีวีที่ออกอากาศมา จากนั้นก็จะเป็นการจูนค้นหาช่องรายการแบบจูนอัตโนมัติตามปกติ

เมนูแรกของเครื่อง
ระบบค้นหาช่องรายการอัตโนมัติ

สำหรับคนที่ใช้งานเสาอากาศระบบแอคทีฟ เนื่องจากค่าเริ่มต้นของ DTV STB รุ่นนี้จะไม่ได้เปิดใช้งานไฟเลี้ยงเสาอากาศเอาไว้ การค้นหาสถานีในครั้งแรกอาจจะค้นช่องรายการพบน้อยกว่าปกติ ให้กดปุ่ม MENU แล้วเข้าไปเปิดใช้งาน (On) ไฟเลี้ยงเสาอากาศที่เมนู MENU > Channel Search > Antenna Power ก่อนแล้วจึงค่อยกลับไปค้นหาช่องรายการแบบอัตโนมัติ (Auto Search) อีกครั้ง มีข้อสังเกตว่า Auto Search ในกล่องรุ่นนี้ค่อนข้างใช้เวลานานกว่ากล่อง DTV STB รุ่นอื่นๆ ที่ผมได้ลองเล่นมาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน แต่ก็สามารถรับสัญญาณได้ดีและค้นหาช่องสัญญาณดิจิตอลทีวีได้ครบถ้วนทั้ง 38 ช่องในปัจจุบันได้เช่นกัน

เมนูปรับภาพ

เมนูค้นหาช่องรายการในกล่องรุ่นนี้สามารถเลือกประเทศได้ด้วย

เมนูตั้งเวลาที่ต้องให้ความสำคัญถ้าจะใช้ฟังก์ชัน Timer

รายละเอียดของเครื่องรุ่นนี้

หน้าเมนูตั้งค่าสำหรับใช้งานพอร์ต USB

เมนูของ LEONA RV-006 นั้นออกแบบให้ใช้งานค่อนข้างง่ายและดูคล้ายกล่อง DTV STB รุ่นยอดนิยมทั่วไป ทว่ายังมีความแตกต่างในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นสีสันหรือเมนูย่อยบางส่วนที่ไม่มีในกล่องรุ่นอื่นที่มีหน้าตาเมนูคล้ายกัน เช่น หน้าต่างของหน้าเมนูที่สามารถปรับความโปร่งแสงของสีพื้นได้ 10 ระดับ หรือการแสดงผลตารางผังรายการทีวี (EPG) ที่ทำได้สวยงามน่าชมเป็นพิเศษ

สำหรับเมนูหลักที่แนะนำให้เข้าไปปรับตั้งได้แก่เมนูปรับภาพที่รองรับรายละเอียดสูงสุดถึงระดับ Full HD (1080p 50Hz) และสัดส่วนหน้าจอที่มีให้เลือกทั้ง wide screen 16:9, 4:3 และโหมดอื่นๆ ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ในเครื่องเล่นดีวีดี, เครื่องเล่นบลูเรย์หรือเครื่องเล่นประเภท media box

ในการใช้งานช่วงแรกเมนูที่คุณอาจจะได้ใช้งานบ่อยเป็นพิเศษก็คือ 'Channel Search' ที่สามารถใช้ค้นหาช่องแบบอัตโนมัติเหมือนครั้งแรกที่เปิดใช้งาน หรือค้นหาแบบ ‘Manual Search’ ในกรณีที่รับบางสถานีไม่ได้ คุณก็แค่เข้ามาในโหมดนี้แล้วป้อนค่าช่องหรือความถี่สถานีแล้วไปปรับเสาอากาศจนกว่าจะแถบแสดงความเข้ม (Strength) และคุณภาพ (Quality) ของสัญญาณจะอยู่ในเกณฑ์ที่รับสัญญาณได้ คืออยู่ในระดับที่มากกว่า 20-30% และไม่วูบวาบขึ้นๆ ลงๆ

เมนูสำคัญอีกส่วนคือ 'System' ที่คุณสามารถเข้าไปดูค่าพื้นฐานของตัวเครื่อง รวมทั้งเป็นช่องการเข้าถึงระบบอัพเดตเฟิร์มแวร์ด้วยครับ สำหรับเมนูในส่วนของการเล่นมีเดียไฟล์ ฟังก์ชัน PVR และ Timeshift จะพูดถึงอีกครั้งในหัวข้อ 'การใช้งานช่อง USB'



การรับชมดิจิตอลทีวี
ส่วนตัวผมเองเนื่องจากคุ้นชินกับการกดดูรายการบนหน้าจอทีวี จึงรู้สึกเฉยๆ (แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร) กับการที่กล่อง DTV STB จะมีตัวเลขช่องรายการแสดงให้เห็นที่ตัวกล่อง แต่ผู้ใหญ่ที่บ้านผมท่านกลับชอบใจคุณสมบัตินี้เพราะปกติแล้วจะสนใจดูอยู่แค่ไม่กี่ช่อง การเข้าถึงช่องเหล่านี้ก็จะใช้วิธีกดปุ่มตัวเลขเอาเลยที่รีโมต

ดังนั้นการมีตัวเลขให้เห็นชัดๆ ที่ตัวกล่องจึงยังคงเป็นที่ต้องการของผู้ใช้งานอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีฟังก์ชันอำนวยความสะดวกอื่นๆ อีกอย่างเช่น sleep timer ตั้งเวลาปิดเครื่องอัตโนมัติ หรือระบบ Power On/Off ที่สามารถตั้งเวลาเปิด/ปิดเครื่องล่วงหน้าได้

ช่องรายการเรียงตาม LCN ได้อย่างสมบูรณ์

หน้าแสดง Info หรือข้อมูลของแต่ละช่องรายการ

การแสดง EPG ใน RV-006

สำหรับในส่วนของการรับชมรายการทางดิจิตอลทีวีอย่างที่ผมได้เรียนไปในหลายวาระที่มีโอกาสแล้วว่าคุณภาพของสัญญาณภาพและเสียงของดิจิตอลทีวีในบ้านเรา ณ เวลานี้ยังขาดความคงเส้นคงวาอยู่พอสมควร ช่องที่เป็น HD หลายครั้งก็มีคอนเทนต์ที่ไม่ได้ให้ภาพที่สมกับเป็น HD จริงๆ แถมบางครั้งภาพยังแย่กว่าช่อง SD เสียด้วยซ้ำ

ช่อง SD ถ้าได้คอนเทนต์ดีภาพก็ไม่เลวนะครับ

โดยปกติผมจะอ้างอิงคุณภาพของสัญญาณ HD กับช่อง HD บางช่องที่เชื่อถือในตัวคอนเทนต์ได้อย่างเช่น Thairath TV, ThaiPBS HD หรือ PPTV เป็นหลัก จังหวะดีที่ระหว่างทดสอบเป็นช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก 2014 ผมเลยมีโอกาสได้รับชมคอนเทนต์ถ่ายทอดสดคุณภาพดีจากทั้งช่อง 7 HD และช่อง 5 HD เปรียบเทียบกับช่องที่เป็นสัญญาณ SD อย่างช่อง 8 ของทางอาร์เอสฯ เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

ผลการรับชมจากกล่อง DTV STB ของ LEONA รุ่น RV-006 ชัดเจนว่าให้ภาพระบบ SD จากช่อง 8 ออกมาได้น่าพอใจ ภาพมีความสวยงาม มีรายละเอียดดีเกินคาด สีสันก็ดูสดใสเป็นธรรมชาติดีครับ ถ้าไม่นำไปเปรียบเทียบคอนเทนต์เดียวกันกับช่องที่ถ่ายทอดด้วยระบบ HD ซึ่งให้ภาพที่มีรายละเอียดความคมชัดมากกว่า ใสกระจ่างตาและมีมิติดีกว่า ก็จัดว่ายอมรับได้เลยครับ ใครที่อยากทดสอบประสิทธิภาพแท้ๆ ของดิจิตอลทีวีทั้งแบบ SD และ HD ต้องได้คอนเทนต์คุณภาพดีอย่างนี้แหละครับถึงจะเหมาะสมคู่ควรกัน ทั้งหมดนี้สามารถสัมผัสรับรู้ได้จากการใช้เพียงสาย HDMI ที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานมากับเครื่องเท่านั้น

เพราะระบบดิจิตอลทีวีและกล่องรุ่นนี้ทำให้ผมสามารถ
รับชมฟุตบอลโลกได้คมชัดสดใสที่สุดเท่าที่เคยดูมาเลยครับ

การรับชมดิจิตอลทีวีกับกล่องรุ่นนี้ให้ประสบการณ์ที่ทั้งเหมือนและไม่เหมือนการรับชมจากกล่องรับสัญญาณดาวเทียม ที่เหมือนคือการสั่งงานฟังก์ชันต่างๆ ตั้งแต่การเปลี่ยนช่องที่สามารถทำได้ทั้งการเลื่อนไปทีละช่อง กดปุ่มเลขช่องโดยตรงหรือกดเรียกรายชื่อช่องที่รับสัญญาณได้ขึ้นมาดูบนหน้าจอ, การปรับเพิ่ม-ลดความดังเสียง, การเรียกเมนู Audio ขึ้นมาเพื่อเลือกระบบเสียง, การกด Info เพื่อดูรายละเอียดของการรับสัญญาณช่องนั้นๆ ตลอดจนการเรียกดูผังรายการทีวี (EPG) ของช่อง

ภาพ HD จากช่อง PPTV

ระบบ OSD ต่างๆ ของกล่องรุ่นนี้ทำมาได้น่าสนใจดีครับ กราฟฟิกใหญ่โตชัดเจนและมีรายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ Info แสดงรายละเอียดข้อมูลของช่องรายการแต่ละช่อง หรือส่วนของการเรียกดูผังรายการทีวี (EPG) ของช่องที่สามารถใช้งานได้จริงเพราะแสดงข้อมูลได้สบายตาดีมาก เด่นมากเมื่อเทียบกับกล่องรุ่นอื่นๆ ที่ผมเคยได้ลองมา

สรุปเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับชมดิจิตอลทีวีในประเทศไทย ณ เวลานี้ ผมคิดว่ากล่องรุ่นนี้ใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาอะไร ความไวในการรับสัญญาณจากรีโมตทำได้ค่อนข้างดี ไม่ต้องถึงกับเล็งรีโมตไปให้ตรงหน้าเครื่องก็สามารถสั่งงานได้ การจัดเรียงช่องสถานีสามารถทำได้ถูกต้องตามการกำหนดของ กสทช. (เมื่อเปิดฟังก์ชัน LCN)

ตัวเครื่องเมื่อเปิดใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมงจะมีความร้อนสะสมที่ตัวเครื่องอยู่พอสมควรดังนั้นการจัดวางตัวเครื่องควรพิจารณาให้ระบายอากาศได้ดีอย่าวางซุกในที่แคบ อย่านำวัสดุอื่นใดมาคลุมทับด้านบนของเครื่องซึ่งเป็นช่องระบายความร้อน โหมดสแตนด์บายใช้พลังงานต่ำมากจนไม่เกิดความร้อนสะสมใดๆ เหมาะกับพฤติกรรมการใช้ทั่วไปตามบ้านเรือนซึ่งนานๆ จะปิดเครื่องแบบ Full Shutdown สักที



การใช้งานช่อง USB
ช่อง USB ในกล่องรุ่นนี้ สามารถใช้งานได้กับทั้งอุปกรณ์เก็บข้อมูลหรือ storage ทั้งหลายที่ฟอร์แมตเป็น FAT32 และ NTFS ใช้งานได้ทั้งกับ Flash Drive (Thumb Drive หรือ SD ที่เสียบกับ reader) และ External HDD (Hard Disc Drive) ในโหมดเล่นไฟล์มีเดียสามารถเข้าถึงได้โดยการเข้าไปในเมนูหลักของเครื่องแล้วเข้าไปที่เมนู USB > Multimedia ไฟล์มีเดียที่เล่นได้มีทั้งไฟล์ภาพนิ่ง วิดีโอและเสียง ซึ่งไฟล์ที่สามารถเล่นได้ส่วนใหญ่ก็เป็นไฟล์ฟอร์แมตยอดนิยมทั่วไปล่ะครับ เล่นได้แม้แต่ไฟล์ .mkv หรือไฟล์ .vob ที่ริบมาจากแผ่นดีวีดี

ทว่าการใช้งานในโหมด media player นี้อย่าได้คาดหวังอะไรมากนะครับ เพราะเท่าที่ได้ลองเล่นกล่อง DTV STB มาทั้งหมดผมว่ามันยังสู้เครื่องเล่นประเภท media box สายพันธุ์แท้ไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการรองรับซับไตเติ้ลหรือการรองรับไฟล์เสียงที่แนบมากับวิดีโอที่ยังทำได้ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร แม้ว่า RV-006 จะให้คุณภาพของภาพและเสียง ความลื่นไหลของการเล่นได้ดีกว่า DTV STB อื่นๆ ไปมากพอสมควรแล้วก็ตาม (อ้างอิงในกรณีที่ใช้ External HDD ต่อพ่วงกับพอร์ต USB) ประโยชน์แท้จริงที่ผมรู้สึกได้กับช่อง USB ในกล่องตัวนี้คือฟังก์ชัน บันทึกรายการทีวี (PVR) และ Timeshift มากกว่าครับ

สำหรับการใช้งานฟังก์ชัน PVR การใช้งานก็ตรงไปตรงมาครับ ขณะรับชมอยากบันทึกรายการไหนเอาไว้ก็กดปุ่ม Record (ปุ่มจุดสีแดงบนพื้นสีเทาที่รีโมต) เครื่องเริ่มบันทึกรายการลง storage ที่เราต่อไว้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสั่งหยุดโดยการกดปุ่ม Stop (ปุ่มสี่เหลี่ยมสีขาวบนพื้นสีเทาที่รีโมต) ระหว่างบันทึก PVR เมื่อกด Info แสดงรายละเอียดได้สวยงาม ชัดเจน (เป็นจุดเด่นของกล่องรุ่นนี้เลยล่ะครับ)

ระหว่างบันทึกสามารถเปลี่ยนไปดูช่องรายการอื่นที่อยู่ใน MUX เดียวกันได้ สำหรับกล่องรุ่นนี้ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือเมื่อกด Record แล้วมันจะใช้เวลาเตรียมการอยู่ราว 25-30 วินาทีครับกว่าจะเริ่มทำการบันทึกซึ่งถือว่าใช้เวลานานพอสมควรเลยล่ะครับ ถ้าจะบันทึกรายการก็อย่าลืมเผื่อเวลาตรงนี้เอาไว้ด้วยนะครับ

เมนูรับชมรายการที่บันทึกไว้ด้วย PVR

ไฟล์ที่บันทึกไว้จะอยู่ใน Folder ชื่อ 'HBPVR' มีนามสกุลไฟล์เป็น .mts (สามารถนำไปเล่นได้ในคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรมอย่าง PotPlayer หรือ VLC หรือจะเล่นจากตัวกล่องเองก็ได้) และไฟล์ที่บันทึกเอาไว้จะถูกตั้งชื่อไฟล์เป็นฟอร์แมตดังนี้ 'ชื่อช่อง - วันที่บันทึก - เวลาที่บันทึก.mts' เช่น ‘ThairathTV_HD_ON_MCOT-06222014-1014.mts' หรือ 'TPBS_HD_ON_TPBS-06222014-1118.mts' เป็นต้น

ไฟล์วิดีโอที่บันทึกไว้จะมีคุณสมบัติของภาพและเสียงตามคุณภาพของรายการนั้นๆ เช่น ถ้าบันทึกจากช่อง SD หรือ HD ไฟล์ที่บันทึกมาก็เป็น SD หรือ HD ตามลำดับ ช่อง HD ภาพออกมาสวยงามมากรายละเอียดและความคมชัดก็เทียบเท่ากับตอนที่รับชมช่องรายการโดยตรงเลยล่ะครับ เสียงก็เช่นกันกรณีที่ผมบันทึกจากช่องไทยรัฐทีวีที่ปล่อยสัญญาณ Dolby Digital ด้วย และเลือกเสียงในขณะรับชมและบันทึกเป็น Dolby Digital ไฟล์วิดีโอที่ PVR บันทึกมาได้ก็จะมีเสียงเป็น Dolby Digital ด้วยครับ

และถ้าจะให้ได้ไฟล์คุณภาพดี ผมแนะนำให้คุณใช้ External HDD ที่ภายในเป็น HDD แบบไฮสปีด 5400-7200rpm มีภาคจ่ายไฟของตัวเองได้ยิ่งดีมาต่อกับช่อง USB ของกล่อง เพราะไดร์ฟพวกนี้จะมี transfer rate ที่สูงพอสำหรับวิดีโอ HD การบันทึกรายการเป็นไฟล์จะราบรื่นและได้คุณภาพไฟล์ที่ดีกว่า Thumbdrive ทั่วไป

ผมได้ลองบันทึกช่องรายการดิจิตอลทีวี 3 ช่องเป็นเวลา 10 นาที เพื่อดูขนาดของไฟล์
- ช่องแรกเป็น ThairathTV HD เลือกระบบเสียง Dolby Digital ขนาดไฟล์ 410 MB
- ช่องที่สองเป็น ThaiPBS HD ระบบเสียงสเตริโอ ขนาดไฟล์ 386 MB
- ช่องที่สามเป็น Workpoint TV SD ระบบเสียงสเตริโอ ขนาดไฟล์ 105 MB

ในกรณีที่จะบันทึกเป็นเวลานานก็อย่าลืมคำนวณขนาดของฮาร์ดดิสก์เผื่อให้พอกับความจุของไฟล์ด้วยนะครับ จะได้ไม่มีปัญหาในระหว่างการบันทึก

ระหว่างใช้งานฟังก์ชัน TimeShift

สำหรับฟังก์ชัน Timeshift กล่องรุ่นนี้ออกแบบให้คุณตั้งความจุของ Timeshift ได้สูงสุด 4GB และสามารถใช้งานได้จริงโดยฟังก์ชัน TimeShift ในกล่องรุ่นนี้ยังไม่จำเป็นต้องกดปุ่มแยกต่างหากด้วยครับ แต่มันสามารถทำงานโดยอัตโนมัติในทุกครั้งที่ใช้งานฟังก์ชัน PVR ซึ่งระหว่างที่ทำการบันทึกเพียงแค่กดปุ่ม pause, fast forward, fast reverse หรือ play ปุ่มใดปุ่มหนึ่ง เครื่องก็จะเข้าโหมดฟังก์ชัน TimeShift ทันทีโดยอัตโนมัติ สะดวกดีครับ



ระบบตั้งเวลาเปิด-ปิดเพื่อรับชมหรือบันทึกรายการล่วงหน้าอัตโนมัติ
กล่องรุ่นนี้นอกจากที่เราจะใช้งานมันไปตามปกติแล้ว มันยังมีระบบ Timer ที่เปิดโอกาสให้เราสามารถตั้งเวลาเปิด-ปิดเครื่องล่วงหน้า เพื่อเพื่อรับชมรายการหรือเพื่อบันทึกรายการโดยใช้งานร่วมกับฟังก์ชัน PVR บันทึกผ่าน USB แบบอัตโนมัติได้ด้วยครับ โดยเมนูที่จะเข้าถึงการใช้งานในส่วนนี้จะอยู่รวมกับส่วนของผังรายการ EPG

เมนู Timer ที่มีประโยชน์และใช้งานได้จริง

การเข้าถึงเมนูนี้สามารถกดที่ปุ่ม EPG ได้โดยตรงหรือให้เข้าไปที่ Menu > Program > EPG จากนั้นกดปุ่ม ‘OK’ เข้าไปในหน้า Schedule แล้วกดปุ่มสีแดงเพื่อเพิ่มโปรแกรมเข้าไป (Event Add) ในหน้า 'Event Add' คุณสามารถเลือกช่องรายการที่จะให้ทำงานเป็นอัตโนมัติ, ตั้งค่าวันและเวลาในการเริ่มเปิดและปิดการทำงาน, โหมดให้ทำซ้ำหรือเฉพาะครั้ง (Once / Daily / Weekly) และโหมดเปิดรับชมหรือให้บันทึก (View / Record) การใช้งานในโหมดนี้ต้องไม่ลืมด้วยครับว่าต้องตั้งเวลาของตัวกล่องให้ตรงกับความเป็นจริงด้วย โดยเข้าไปที่ Menu > Time > Time Offset เลือกเป็น Auto หรือ Manual แล้วเลือกไปที่ Time Zone GMT+7 และถ้าจะปิดการทำงานตัวกล่องจะต้องอยู่ในสภาวะสแตนด์บายคือมีไฟเลี้ยงเครื่องอยู่ด้วย ไม่ใช่การปิดแบบ Full Shutdown (ดึงปลั๊กไฟออก)

ผมทดลองใช้งานฟังก์ชัน Timer ของ RV-006 พบว่ามันสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นไม่ว่าจะเป็นการตั้งเวลาเปิด-ปิดเพื่อรับชมหรือบันทึกรายการ แล้วยังพบว่าเครื่องจะไม่ได้เริ่มทำงานตามเวลาที่ตั้งไว้เป๊ะๆ แต่จะเริ่มทำงานล่วงหน้าก่อนเวลาที่เราตั้งไว้ประมาณ 30 วินาทีเพื่อเตรียมการตั้งแต่การบูตเครื่องจนถึงเตรียมสแกนหา Storage Device ที่เชื่อมต่ออยู่กับพอร์ต USB ไฟล์ที่บันทึกไว้จะถูกเก็บบันทึกเอาไว้ที่ Folder เดียวกันกับการใช้งานฟังก์ชัน PVR เป็นฟอร์แมตเดียวกันและเป็นมาตรฐานคุณภาพเดียวกันด้วยครับ



สรุป
คุณสมบัติโดยหลักของกล่องรุ่นนี้คือการรับชมช่องรายการดิจิตอลทีวีที่แสดงให้เห็นว่ากับคอนเทนต์คุณภาพดี RV-006 เป็นกล่องที่ให้ภาพออกมาได้สดใสคมชัด ภาพมีความสว่างและมีพลังความเปรียบต่างของแสงและสีสันที่ดี จัดว่าอยู่ในกลุ่มของ DTV STB ที่ให้ภาพจากดิจิตอลทีวีออกมาได้สวยงามกว่ากล่อง DTV STB ราคาถูก ส่วนฟังก์ชัน Media Player คาดหวังคุณภาพได้มากกว่า DTV STB อื่นๆ ที่ผมเคยลองมา แต่ก็ยังไม่รองรับไฟล์ที่มีที่มาจากหลากหลายแหล่งได้มากเท่าพวกกล่อง Media Player สายพันธุ์แท้ อย่างไรก็ดีในระหว่างการทดสอบมันสามารถทำงานได้ตามปกติ ตามคุณสมบัติของฟังก์ชันต่างๆ ตามที่อ้างไว้ ไม่พบอาการแฮงค์ รวนหรืออาการเกเรใดๆ

ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดตามที่ได้กล่าวมา ผมยังทราบมาว่ากล่องรุ่นนี้เป็นอีกรุ่นหนึ่งที่หาซื้อง่ายเพราะวางจำหน่ายแพร่หลายพอสมควร ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีครับเพราะคุณสมบัติทางด้านดิจิตอลทีวีของมันถือว่าน่าใช้และคุ้มค่าการลงทุนทุกบาททุกสตางค์เลยล่ะครับ

.........................................

บทความแนะนำให้อ่านประกอบรีวิวนี้
อภิธานศัพท์เกี่ยวกับดิจิตอลทีวี (ฉบับผู้ใช้งาน)


.....................................................................................................................
ขอบคุณ บริษัท โกรว์ ริช เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อให้ยืมสินค้าสำหรับการรีวิว