วันพุธที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Review - Beyerdynamic Custom One Pro


ทีแรกที่เห็น Custom One Pro ผมบอกตัวเองว่ามันช่างเป็นหูฟังของเบเยอร์ไดนามิก (Beyerdynamic) ที่รูปร่างหน้าตาไม่ดึงดูดเอาเสียเลย ปกติหูฟังจากประเทศเยอรมันยี่ห้อนี้เท่าที่ผมเคยเล่นผ่านมือมาสิ่งแรกที่มักจะสร้างความประทับใจคือ ชิ้นส่วนที่สามารถสัมผัสและจับต้องได้ตั้งแต่ภายนอก ตลอดจนดีไซน์ที่มีความโดดเด่นดูจริงจังไม่เหมือนใคร ซึ่ง Custom One Pro ก็มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน

แล้วทำไมผมจึงรู้สึกกับหูฟัง Beyerdynamic : Custom One Pro เช่นนั้น สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าหูฟังรุ่นนี้สามารถ ‘สั่งตัด’ รูปร่างหน้าตาของหูฟังได้ตามใจผู้ใช้ และตอนที่ได้รับตัวมา มันอาจจะยังไม่ได้เป็นการสั่งตัดมาสำหรับผมก็เป็นได้



Custom Style
ผมอาจจะอายุน้อยไม่พอ หรือไม่มีรสนิยมพอที่จะชอบพอแผ่นปิดตัวเอียร์คัพของหูฟัง Custom One Pro ที่เป็นลายกราฟฟิกรูปหญิงสาวเซ็กซี่บนพื้นสีทอง นั่นคือ Custom One Pro ที่ผมเห็นเป็นครั้งแรกและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเกิดอาการ ‘ไม่ปลื้ม’ หน้าตาของหูฟังตัวนี้

Custom Style เลือกเปลี่ยนได้หลายชิ้นส่วน

แต่โชคดีครับที่ Custom One Pro ถูกออกแบบให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนดีไซน์รูปลักษณ์ภายนอกของตัวหูฟังได้ (Custom Style) นั่นหมายความว่าหูฟังรุ่นนี้แต่ละตัวอาจจะมีหน้าตาหรือสีสันที่แตกต่างกันได้ ตามแต่รสนิยมที่ผู้ใช้ชื่นชอบ เลือกเปลี่ยนได้ตามใจเหมือนเราเปลี่ยนเสื้อผ้า รองเท้าหรือเครื่องประดับ ซึ่งชิ้นส่วนที่สามารถปรับเปลี่ยนดีไซน์ได้ของหูฟังรุ่นนี้มีตั้งแต่ covers (แผ่นปิดเอียร์คัพ), rings (กรอบแผ่นปิดเอียร์คัพ), ear pads (สีของเอียร์แพดที่เป็นฟองน้ำบุหนัง) และ headband pads (สีของเฮดแบนแพดที่เป็นฟองน้ำบุหนัง)

ตัวอย่างแผ่นปิดเอียร์คัพที่เลือกเปลี่ยนได้หลายแบบ
สำหรับหูฟัง Custom One Pro ที่ผมได้รับมาจากทางวิชัยพานิชตัวนี้ เขามีชุด style kits ตัวแผ่นปิดเอียร์คัพมาให้ลองเปลี่ยนเล่นอยู่หลายแบบครับ ส่วนอื่นๆ ไม่มีมาให้ลองเปลี่ยนแต่เท่าที่ลองแงะๆ แง้มๆ ดูก็เห็นตามที่เขาออกแบบว่ามันสามารถแกะเปลี่ยนเองได้ง่ายดายจริงๆ อย่างที่บอกล่ะครับว่าการออกแบบส่วนนี้ทำมาเพื่อตอบสนองความชอบส่วนตัวของผู้ใช้ ดูแล้วผมว่าตอบโจทย์ได้ดีไม่ต่างอะไรจากหูฟังกลุ่มแฟชั่นเลยจริงๆ คุณอาจจะเปลี่ยนมันทุกวันเหมือนเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวตามอารมณ์เลยก็ย่อมได้ ส่วนนี้ผมว่าเด็กวัยรุ่นหรือคนที่ไม่เด็กแล้วแต่หัวใจยังวัยรุ่นอยู่น่าจะถูกใจ

แต่ถ้าชอบแบบเรียบหรูดูคลาสสิกอย่างผมคุณก็สามารถใช้งานมันแบบแตนๆ (ย่อมาจาก สแตนดาร์ด หรือแบบเดิมๆ) ได้เช่นกัน เพราะลำพังการออกแบบและคุณภาพงานผลิตของหูฟังรุ่นนี้ ผมก็ว่ามันดูประณีตเรียบร้อยดีอยู่แล้วล่ะครับ ชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโลหะ พลาสติกหรือหนัง (ไม่แน่ใจว่าเป็นหนังแท้หรือเทียม) ของหูฟังตัวนี้ผมถือว่าใช้ของเกรดดีที่คุณภาพไม่ขี้เหร่เลย สมแล้วที่เบเยอร์ไดนามิกยังคงยืนยันที่จะผลิตหูฟังรุ่นนี้และอีกหลายรุ่นของตัวเองในแบบ ‘Made in Germany’ ที่โรงงานของตัวเองในประเทศเยอรมัน



Custom Sound
คุณสมบัติสำคัญของหูฟัง Custom One Pro มิได้มีเพียงส่วนของการ Custom แต่งหน้าทาปากให้หูฟัง เพราะอีกส่วนหนึ่งเขาตั้งใจออกแบบมาให้มันสามารถ Custom เสียงได้ตามต้องการด้วยครับ

ถ้าสังเกตให้ดีบริเวณกรอบเอียร์คัพของหูฟังรุ่นนี้จะมีชิ้นส่วนกลไกอะไรสักอย่างปรากฏอยู่ มีลักษณะเป็นช่องว่างและมีแถบเลื่อนที่สามารถเปิด-ปิดได้ เบเยอร์ไดนามิกเรียกการออกแบบส่วนนี้ว่า ‘Custom Sound Slider’ เมื่อลองปรับเลื่อนดูก็พบว่ามันทำหน้าที่เปิด-ปิดช่องอากาศของตัวเอียร์คัพ ซึ่งออกแบบให้เป็นระบบ ‘Variable bass reflex system’ ช่องอากาศที่ว่านี้มีลักษณะเหมือนท่อเปิดหรือรีเฟลกซ์พอร์ตในลำโพงตู้เปิดทั่วไป ต่างกันที่ว่าในหูฟังรุ่นนี้มีท่อเปิดมาให้ถึง 3 ช่อง และแต่ละช่องมีขนาดแตกต่างกันด้วยต่างหาก

กราฟแสดงผลการตอบสนองความถี่ของระบบ Custom Sound
‘Custom Sound Slider’ ในหูฟัง Custom One Pro เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนการตอบสนองความถี่โดยเฉพาะในย่านเสียงทุ้มของหูฟังตัวนี้ได้ถึง 4 รูปแบบคือตั้งแต่การปรับแถบเลื่อนไปยังตำแหน่งที่ 1 เพื่อปิดช่องทั้งหมด, ตำแหน่งที่ 2 เป็นการเปิดออก 1 จังหวะเพื่อเปิดช่องเล็กสุด, ตำแหน่งที่ 3 เปิดออก 2 จังหวะเพื่อเปิดช่องเล็กสุด+ช่องกลาง และตำแหน่งที่ 4 คือการเลื่อนเปิดออก 3 จังหวะเพื่อเปิดช่องทั้งหมดออก โดยแต่ละตำแหน่งนั้นมีผลกับเสียงทุ้มตามรายละเอียดดังนี้ (Pos. หมายถึง Position หรือตำแหน่งของแถบเลื่อน)

Pos. 4 “Heavy Bass”
Pos. 3 “Vibrant Bass”
Pos. 2 “Linear”
Pos. 1 “Light Bass”

นอกจาก ‘Custom Sound Slider’ จะมีผลต่อบุคลิกและน้ำเสียงของหูฟังโดยตรงแล้ว กลไกนี้ยังมีผลกับความสามารถในการลดทอนเสียงรบกวนจากภายนอกได้ด้วยครับโดยเฉพาะที่ตำแหน่ง 1 (ปิดหมด) จะลดทอนเสียงรบกวนจากภายนอกได้มากที่สุดซึ่งตามรายละเอียดทางเทคนิคระบุว่าลดทอนได้ถึง 18 dBA โดยประมาณ



คุณสมบัติและการใช้งานทั่วไป
Custom One Pro เป็นหูฟังแบบปิดหลัง (closed-back design) ที่มีระบบซาวนด์คัปปลิงเป็นแบบโอเวอร์เอียร์หรือ Circumaural ครอบปิดเต็มรอบใบหู ตัวเอียร์คัพทำจากพลาสติกเนื้อดี นี่คือหูฟังขนาดใหญ่ที่เบเยอร์ไดนามิกตั้งใจออกแบบมาให้ขับง่ายสามารถใช้งานได้กับทั้งอุปกรณ์แบบพกพาและอุปกรณ์แบบตั้งโต๊ะ ตัวไดรเวอร์ที่ใช้จึงมีอิมพิแดนซ์ต่ำเพียง 16 โอห์ม ใช้ไดรเวอร์ประเภทไดนามิกที่ทางเบเยอร์ไดนามิกเรียกว่า ‘Professional 16 Ohms Velocity drivers’ เป็นไดรเวอร์แบบไดนามิกขนาด 40 mm ซึ่งมีเมมเบรนน้ำหนักเบาทำงานร่วมกับแม่เหล็กแรงสูงนีโอไดเมียม มีช่วงความถี่ตอบสนองตั้งแต่ 5 Hz - 35,000 Hz ความเพี้ยน T.H.D. ต่ำกว่า 0.2% ทนต่อกำลังขับได้ 100 มิลลิวัตต์

Made in Germany

สายหูฟังแบบถอดแยกได้
ตัวสายหูฟังที่ให้มามีความยาวประมาณ 1.5 เมตรเป็นสายแบบ Single-sided, plug-in type connecting cable ซึ่งสามารถถอดแยกได้ เชื่อมต่อกับตัวหูฟังด้านซ้ายโดยใช้ขั้วต่อและระบบล็อคที่มีรูปแบบเฉพาะตัว สามารถใส่หรือถอดเข้าออกได้ง่ายและมีความแน่นหนาไว้ใจได้ ปลายสายเป็นขั้วต่อ Gold-plated mini stereo jack 3.5 mm พร้อมอะแดปเตอร์แปลงเป็นหัวใหญ่ 6.35 mm แบบหมุนเกลียวล็อคได้ ในโบรชัวร์สินค้าระบุว่าหูฟังรุ่นนี้มีออพชันเป็นสายหูฟังแบบมีไมโครโฟนให้เลือกใช้งาน ใครที่ต้องการใช้งานเป็น headset ก็สามารถทำได้เลยโดยการเปลี่ยนแค่ตัวสายหูฟังเท่านั้นเอง (เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติ Custom ของหูฟังรุ่นนี้)

ตัวโครงเฮดแบนด์ทำสีดำเข้ากันกับตัวเอียร์อัพ ผลิตจากวัสดุประเภทโลหะดูแข็งแรงทนทานไม่ต้องกลัวใช้แล้วจะหักคามือ น้ำหนักตัวหูฟังไม่รวมสายอยู่ที่ 290 กรัม ถือว่ากำลังดีไม่หนักมากจนเกินไป ตัวโครงเฮดแบนด์มีแรงบีบ (Headband pressure) ประมาณ 3.5 N สำหรับศีรษะของผมถือว่าสวมใส่ใช้งานได้กระชับดีและไม่รู้สึกถูกบีบรัดมากเกินไป ปรับขนาดให้เหมาะสมก็สามารถใส่ฟังได้นาน แม้ว่าจะไม่เบาสบายอย่างหูฟัง SONY : MDR-1R หรือสบายขมับเท่า Philips : Fidelio X1 หรือ AKG : K702 แต่โดยรวมก็ยังถือว่าสบายมากแล้วล่ะครับ ที่แน่ๆ ใส่สบายกว่า Shure : SRH840 เล็กน้อยครับโดยเฉพาะเรื่องแรงบีบและความเบา การกันเสียงรบกวนจากภายนอกถือว่าอยู่ในระดับดี สามารถตัดเสียงจอแจภายนอกได้ในระดับใกล้เคียงกับการเข้าห้องสมุดที่มีห้องอ่านหนังสือแยกเฉพาะบุคคล (เงียบกว่าห้องสมุดรวมทั่วไป)



เสียงที่ได้จาก Custom One Pro
ผมมีโอกาสได้ฟังเสียงของ Custom One Pro ตอนที่เพิ่งได้รับมาใหม่ๆ ผมไม่ทราบว่ามันถูกใช้งานมานานแค่ไหนแล้วทราบแต่เพียงว่าไม่ใช่ของใหม่แกะกล่อง แว้บแรกที่ฟังรู้สึกได้ทันทีว่านี่คือหูฟังที่เอาจริงเอาจังได้ อย่างน้อยมันก็ไม่ใช่หูฟังที่มีแต่เสียงทุ้มหนาๆ เอ่อท่วมจมความถี่เสียงช่วงอื่นอยู่ตลอดเวลา หรือให้เสียงกลวงโบ๋เบาบางขาดแคลนมวลเนื้อ และที่สำคัญนี่คือหูฟังระบบปิดหลังยุคใหม่ที่ให้เสียงเปิดกว้างรับรู้ได้ถึงมิติเวทีเสียง ไม่มีแล้วอาการเสียงอุดอู้จมอยู่แต่ในศีรษะ

เปิดแค่ช่องเดียวได้สมดุลเสียง
น่าฟังที่สุด (สำหรับผม)
ติอยู่หน่อยเดียวว่าเสียงในช่วงแรกที่ได้รับมายังมีลักษณะขาดๆ เกินๆ อยู่สักหน่อยเวลาผมเปิดค่อนข้างดัง แต่รายละเอียดส่วนหลักๆ ถือว่าน่าสนใจ และสามารถลองฟังต่อไปอีกได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการเสียเวลาเปล่า ดังนั้นในช่วงแรกของการทดลองใช้งานนอกจากใช้ฟังเพลงตามปกติแล้ว เวลาส่วนหนึ่งจะหมดไปกับการจับเบิร์นอย่างต่อเนื่องด้วยไฟล์สัญญาณเบิร์นอินโดยเฉพาะจากแผ่นซีดีของ Nordost (System Set-up & Tuning Disc)

จากการที่ผู้ผลิตเขาคุยว่าหูฟังรุ่นนี้ไม่เกี่ยงแม้กระทั่งอุปกรณ์ประเภท portable (ซึ่งมักจะมีความสามารถด้านกำลังขับค่อนข้างจำกัด) ผมจึงลองนำ Custom One Pro ไปใช้กับอุปกรณ์พกพาใกล้ตัวอย่าง iPhone 4s และ iPad 4 โดยเสียบใช้งานร่วมกันโดยตรงไม่มีการต่อผ่าน DAC หรือ AMP ใดๆ ทั้งสิ้น (เล่นไฟล์เพลงผ่านแอพชื่อ Capriccio) พบว่าหูฟังเบเยอร์ไดนามิกตัวนี้ขับค่อนข้างง่ายทีเดียวครับ แม้ว่าจะใช้ระดับวอลุ่มค่อนข้างสูงถึงสูงมากแต่เสียงที่ออกมานั้นฟังดูเต็มอิ่ม มีพลังงานและมีรายละเอียดครบถ้วนชัดเจน

มันอาจจะไม่ถึงกับขับง่ายนั่งไขว่ห้างแบบชิลๆ เหมือนอย่างหูฟังประเภท IEM ส่วนใหญ่แต่เชื่อได้เลยครับว่ามันสามารถต่อฟังโดยตรงกับทั้ง iPhone และ iPad แล้วให้ความเป็นดนตรีออกมาชนิดไม่ขี้เหร่เลยครับ มันทำได้จริงอย่างที่ผู้ผลิตเขาคุยไว้ ซึ่งปกติคุณสมบัติในส่วนนี้มักจะตกเป็นของหูฟังในกลุ่ม Earbud, IEM หรือหูฟังแบบ On-ears เสียมากกว่า ไม่ค่อยได้พบใน Full Size Over-ears อย่างนี้หรอกครับ

เปิดหมดอย่างนี้เสียงทุ้ม
มากไปหน่อย (สำหรับผม)
ในกรณีที่ต่อฟังจาก AMP หรือ DAC AMP ที่มีความสามารถด้านกำลังขับมากกว่าภาคขยายเสียงในอุปกรณ์ iPhone และ iPad สิ่งที่จะได้เพิ่มมากขึ้นจากหูฟังตัวนี้คือการตอบสนองไดนามิกเฮดรูม เนื้อเสียง ตลอดจนเวทีเสียงที่ขยายใหญ่กว้างขวางมากขึ้นครับ อย่างเช่นที่ผมได้ลองต่อฟังกับ Audioquest DragonFly ซึ่งพ่วงอยู่กับคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ทำงานอยู่ คุณภาพและรายละเอียดเสียงของ Custom One Pro ก็ถีบตัวขึ้นไปอีกระดับทันที ที่พัฒนามากเป็นพิเศษก็เห็นจะเป็นรายละเอียดเสียงทุ้มและมิติเวทีเสียงที่ฟังแตกต่างกันชัดเจน

ฉะนั้นจะสรุปในเบื้องต้นว่าหูฟัง Custom One Pro นั้นเป็นฟูลไซส์ที่ไม่กินแอมป์มาก สามารถต่อฟังโดยตรงกับแท็ปเล็ตหรือสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ก็น่าจะฟังเพลงเพลินๆ ได้ดีไม่มีอะไรต้องขัดใจ แต่ถ้าจะรีดประสิทธิภาพที่แท้จริงของหูฟังออกมาแนะนำว่าอย่างน้อยต้องเป็น DAC/AMP ที่คุณภาพดีสักหน่อย คิดง่ายๆ ว่าเอาตั้งแต่คุณภาพระดับตั้งแต่ DragonFly ขึ้นไป แล้วโปรแกรมเล่นเพลงที่ใช้เล่นในคอมพิวเตอร์ก็อย่าให้ขี้เหร่จนเกินไปนัก แค่นี้ก็น่าจะเอาหูฟังตัวนี้อยู่หมดล่ะครับ

DAC/AMP คุณภาพดีจะช่วยสนับสนุนจุดเด่นของ Custom One Pro ซึ่งเด่นมากในแง่ของรายละเอียดเสียงกลางที่ฟังชัดถ้อยชัดคำ กระจ่างเปิดเผย และไม่สว่างจ้าจนเกินไป ด้านเสียงทุ้มและแหลมนั้นผมประเมินโดยถ้วนถี่แล้วก็แทบจะไม่มีอะไรเป็นจุดด่างพร้อยใหญ่ๆ คือมันอาจจะไม่โดดเด่นมากนักแต่ก็ไม่ใช่จุดด้อยแน่นอน ดุลน้ำเสียงโดยรวมมีความเป็นกลาง (monitor) ค่อนข้างสูงและค่อนมาทางด้าน dark นิดๆ เป็นหูฟังที่สามารถจำลองเวทีเสียงขึ้นมาในหูฟังได้ดี ให้มิติตัวตนของเสียงหลุดลอยออกไปนอกศีรษะได้ทำให้ฟังแล้วมีความโปร่งโล่งสบายไม่แออัด ไม่รกหู

นอกจากคุณภาพของสัญญาณต้นทางและภาคขยายเสียงแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพเสียงของหูฟังรุ่นนี้คงจะหนีไม่พ้นการปรับตั้งในส่วนของ ‘Sound Slider’ ซึ่งเท่าที่ผมลองปรับและฟังดูพบว่าในแต่ละตำแหน่งการตอบสนองเสียงของหูฟังจะเปลี่ยนไปแบบชัดเจนมาก มันมีผลอย่างชัดเจนกับเสียงในย่านความถี่ต่ำต่อขึ้นไปถึงย่านเสียงกลางทุ้ม แต่แทบไม่มีผลกับเสียงในย่านความถี่สูงเลย และไม่ได้ไปเปลี่ยนบุคลิกโดยรวมของหูฟังมากนัก

ที่ตำแหน่ง Pos. 1 “Light Bass” พบว่าเสียงมันให้เสียงทุ้มออกมาเบาบางจริงดังนิยามที่ให้ไว้ ทำให้เสียงโดยภาพรวมฟังดูโปร่งโล่งขึ้นเล็กน้อย แต่เนื้อเสียงทุ้มจะขาดความคึกคักและน้ำหนักเสียงไปด้วยเช่นกัน ที่ตำแหน่ง Pos. 4 “Heavy Bass” นั้นส่วนตัวผมฟังแล้วค่อนข้างอึดอัดเพราะมันเริ่มให้เสียงทุ้มที่ท่วมขึ้นมากลบทับเสียงในย่านกลางต่ำและเสียงกลางมีผลทำให้น้ำเสียงโดยภาพรวมมีลักษณะทึบและขุ่นมัว น่าจะเหมาะกับการฟังเพลงที่บันทึกเสียงมาแบบบางและไร้น้ำหนักเบสมากๆ การหนุนของเสียงทุ้มจากการปรับ Sound Slider ไว้ที่ตำแหน่งนี้อาจจะนำพาสมดุลที่ดีให้กลับมาได้ หรือถ้าอยากให้เสียงแบบโอเวอร์หน่อยเวลาดูหนังแล้วฟังเสียงจากหูฟังก็อาจจะลองปรับไว้ที่ตำแหน่งนี้ได้เช่นกัน

แต่ถ้าเป็นการฟังเพลงแล้ว ส่วนตัวผมค่อนข้างพอใจเสียงของหูฟัง Custom One Pro ที่ตำแหน่ง Pos. 2 “Linear” หรือ Pos. 3 “Vibrant Bass” มากกว่าครับ โดยเฉพาะที่ตำแหน่ง Pos. 2 “Linear” ผมว่ามันทำให้หูฟังรุ่นนี้เป็นหนึ่งในหูฟังปิดที่ให้เสียงน่าฟังที่สุดรุ่นหนึ่งในระดับราคานี้เลยล่ะครับ มันให้สมดุลเสียงที่ดี ทุกย่านความถี่เสียงไม่มีตรงไหนเด่นล้ำหน้ากว่าเพื่อน ให้เสียงทุ้มที่มีน้ำหนักและรู้สึกได้ถึงความพอดิบพอดี ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป และมากกว่า 90% ที่ผมพูดถึงเสียงที่ได้ยินจากหูฟัง Custom One Pro ในรีวิวนี้ก็จะเป็นการอ้างอิงที่ตำแหน่งนี้ล่ะครับ

ขณะที่ตำแหน่ง Pos. 3 “Vibrant Bass” นั้นเหมือนใส่ผงชูรสเพิ่มสีสันให้ฟังสนุกขึ้น ความสะอาดในเสียงอาจจะลดทอนไปบ้างแต่ไม่ได้เยอะจนน่าเกลียด แม้จะชอบน้อยกว่า “Linear” แต่บางครั้งผมก็แอบปรับมาฟังที่ตำแหน่งนี้บ้างเหมือนกันครับ



ฟังเปรียบเทียบ
การรีวิวหูฟัง Custom One Pro ผมคงเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำมันไปเปรียบเทียบกับบรรดาหูฟังที่ผมใช้งานอยู่ หรืออย่างน้อยก็มีความคุ้นเคย และเพื่อเป็นการตัดปัจจัยเรื่องคุณภาพของ DAC หรือ AMP ที่จะใช้เปรียบเทียบ ผมจึงเลือกใช้ DAC ที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมตัวหนึ่งอย่าง Chord : Qute HD และแอมป์หูฟัง Schiit : LYR ซึ่งมีความสามารถในการขับหูฟังทั้งหมดนี้ชนิดเหลือเฟือ

เปรียบเทียบกับ Shure : SRH940 หูฟังส่วนตัวของผม เสียงของ Custom One Pro เป็นรองชัดเจนโดยรายละเอียดในย่านความถี่สูงซึ่งเป็นจุดขายที่ชัดเจนมากของหูฟัง SRH940 แต่ในแง่ของเสียงที่เปิดกว้าง และการจัดวางมิติเวทีเสียงผมถือว่า Custom One Pro ทำได้ดีกว่าที่คิดมาก มากจนมันฟังดูแทบจะไม่เป็นรองหรือเป็นรอง SRH940 เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นเอง

เมื่อลองขยับไปเทียบรุ่นที่อยู่ในพิกัดใกล้เคียงกันมากกว่าอย่าง Shure : SRH840 ดุลเสียงของ Custom One Pro จะมีเสียงในย่านกลางต่ำและเสียงกลางลอยเด่นออกมามากกว่า ในขณะที่เสียงแหลมที่ฟังดูว่ามีรายละเอียดดีไม่มีอะไรตกหล่นเสียหาย เพียงแต่ไม่มีลักษณะเป็นประกายจะแจ้งอย่าง SRH840 กับบางลักษณะการบันทึกเสียงโดยเฉพาะพวกเพลงตลาดทั่วไป Custom One Pro อาจจะให้เสียงที่นุ่มนวลฟังสบายกว่าได้เช่นกัน ขณะที่การติดตามไลน์เบสของ Custom One Pro ดูเหมือนจะฟังง่ายกว่าและกระจ่างชัดกว่า แต่ถ้าเป็นไลน์กีตาร์หรือเพอคัสชันในย่านความถี่เสียงกลางต่อไปกลางสูงหูฟัง SRH840 ดูเหมือนมีภาษีดีกว่าเล็กน้อยเช่นกัน โดยภาพรวมโทนัลบาลานซ์ของ SRH840 จะฟังดูสว่างกว่า แม้ว่าโดยรวมผมจะไม่รู้สึกว่า Custom One Pro เป็นหูฟังที่มีโทนัลบาลานซ์ค่อนไปทาง dark เลยก็ตาม

เทียบเสียงกับหูฟังขับง่ายอีกรุ่นอย่าง Philips : Fidelio L1 เสียงทุ้มของ Custom One Pro จะฟังดูเป็นกลางมากกว่า ขณะที่เสียงทุ้มของ L1 นั้นตั้งใจจูนมาให้เสียงฟังสนุกคึกคักความเป็นมอนิเตอร์จึงเป็นรอง Custom One Pro ซึ่งฟังดูจริงจังมากกว่า ด้านมิติเวทีเสียง Custom One Pro ก็ฟังดูเด่นกว่าด้วยเช่นกันโดยเฉพาะกับเพลงที่บันทึกเสียงมาโดดเด่นด้านนี้เป็นพิเศษ

ผมพยายามนึกย้อนความทรงจำกลับไปเมื่อตอนที่ผมรีวิวหูฟัง Beyerdynamic : T50p ดูเหมือนหูฟังออนเอียร์อย่าง T50p จะให้เสียงทุ้มมีลักษณะเป็นลูกฟังสนุกคึกคัก ให้เสียงแหลมที่ชี้ชัดเป็นจุดๆ มากกว่า ขณะที่ Custom One Pro จะให้เสียงที่โปร่งและนุ่มนวลผ่อนคลายกว่า รายละเอียดเสียงทุ้มมี definition ดีกว่าและลงได้ลึกกว่าพอสมควร การกระจายตัวของเวทีเสียงมีลักษณะเป็น 3 มิติมากกว่า

เมื่อเทียบกับหูฟังในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงแล้ว โดยภาพรวมแล้วถือว่า Custom One Pro เป็นหูฟังเสียงฟังง่าย ขับง่าย แมตช์ไม่ยากที่เข้าข่ายมีความเป็นมอนิเตอร์ สามารถแยกแยะรายละเอียดดีโดยเฉพาะในย่านความถี่เสียงกลางคือส่วนที่ค่อนข้างจะโดดเด่น ยิ่งเมื่อพิจารณาเรื่องราคาและความเป็นสินค้ามาตรฐานสูงตีตรา Made in Germany ด้วยแล้ว ผมว่านี่คือหูฟังระดับ Best Buy อีกตัวหนึ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย




อัลบั้มเพลงที่ใช้ฟังอ้างอิงในระหว่างการรีวิว



ใครที่ต้องการ Custom One Pro
ไม่บ่อยครั้งนักนะครับที่จะมีใครทำเครื่องเสียงที่ให้เราสามารถออกแบบเป็นของเราได้เอง ไม่เพียงแค่เรื่องดีไซน์ภายนอกแต่รวมไปถึงเรื่องของเสียงด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ในหูฟัง Custom One Pro หูฟังมาตรฐานเยอรมันที่ตั้งใจออกแบบมาให้ใช้งานได้ดีทั้งกับเครื่องเล่นแบบพกพาหรือจะใช้เป็นมอนิเตอร์เฉกเช่นหูฟัง full size คุณภาพดีตัวหนึ่งก็ย่อมได้

การเพิ่ม DAC หรือ AMP ที่คุณภาพดีกว่าในสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับหูฟังตัวนี้ ด้านน้ำเสียงที่มีลักษณะค่อนข้างเป็นกลาง ดุลเสียงโดยรวมรวมกระเดียดมาทางด้าน dark มากกว่า bright แต่ไม่มีลักษณะเสียงทึมทึบหรือหม่นมัว เด่นเป็นพิเศษที่รายละเอียดเสียงกลาง สิ่งเหล่านี้เมื่อค่อยๆ ซึมซับไปทีละนิดแล้วมันอาจจะทำให้คุณลืมได้เหมือนกันว่า มีอะไรที่หูฟังตัวนี้ยังเป็นรองหูฟังที่อยู่ในระดับสูงกว่ามัน

เรื่องเดียวที่อาจจะเป็นปัญหาคือชื่อรุ่นที่มีคำว่า Pro รวมถึงหน้าตาแบบเดิมๆ ที่ดูขึงขังจริงจัง อาจจะทำให้คนที่ยังไม่ได้ลองฟังคิดไปว่านี่คือหูฟังที่เป็นเครื่องมือ เอาไว้ใช้งาน เอาไว้ตรวจสอบ ฟังได้เฉพาะเพลงที่บันทึกเสียงมาดีอยู่แล้ว คงฟังเพลงทั่วไปได้ไม่เพลินหรอก

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นนั้นผมจะบอกว่า นั่นคือความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริงมากทีเดียวครับ เพราะ Custom One Pro ไม่ได้เป็นหูฟังที่ช่างฟ้องคุณภาพการบันทึกเสียงแบบเอาเป็นเอาตายแต่สามารถมันแยกแยะการบันทึกเสียงที่ดีและที่เลวให้คุณรับรู้ได้แน่นอน จากที่ได้ลองสัมผัสมาทั้งหมดผมยืนยันได้ว่านี่คือหูฟังที่มีความเป็น consumer โดยสมบูรณ์แบบโดยไม่เกี่ยงว่าคุณจะนิยามตัวเองว่าเป็นออดิโอไฟล์หรือมิวสิกเลิฟเวอร์ ทั้งหมดนี้แนะนำให้หาโอกาสไปลองพิสูจน์ให้ได้ยินเองกับหูน่าจะดีที่สุดล่ะครับ


.....................................................................................................................
ขอบคุณ หสน.วิชัยพานิช
ที่เอื้อเฟื้อให้ยืมสินค้าสำหรับการรีวิว