วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2557

Review - Edifier Luna Eclipse


ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสความนิยมของลำโพงตั้งโต๊ะโดยเฉพาะที่เป็นลำโพงระบบแอคทีฟ (Active Desktop Loudspeaker) มีภาคขยายเสียงในตัวได้กระเพื่อมตามหลังเทรนด์หูฟังและออดิโอแกดเจ็ตมาติดๆ ผมมีโอกาสได้ลองฟังลำโพงประเภทนี้อยู่หลายวาระ ต้องบอกว่าเห็นการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมาโดยตลอด แถมยังน่ายินดีว่าบางครั้งมันยังดีขึ้นสวนทางกับราคาที่จ่ายน้อยลงเสียด้วยอย่างเช่นเจ้า Edifier : Luna Eclipse คู่นี้



Look & Feel
ก่อนจะคุยกันเข้าไปในรายละเอียดของ Luna Eclipse ลำโพงแอคทีฟเดสก์ท้อปรุ่นล่าสุดที่ผมได้ลองฟัง ลำโพงรุ่นนี้เป็นสินค้าในอนุกรม ‘Image Series’ ที่นอกจากเรื่องเสียงแล้วยังเน้นเรื่องของดีไซน์ด้วยดังนั้นลำพังแค่รูปร่างหน้าตาของ Luna Eclipse ก็ดูน่าสนใจแล้ว ยิ่งถ้าคุณได้ทราบว่ามันถูกตั้งราคาขายเอาไว้ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทและเป็นยี่ห้อสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีนด้วยแล้วล่ะก็ ผมว่าอย่างน้อยคุณต้องรู้สึกแล้วล่ะครับว่ามันน่าสนใจเกินกว่าที่มองข้ามผ่านไปเฉยๆ

ส่วนตัวแล้วผมเองเคยใช้สินค้าของ Edifier มาก่อนก็เห็นว่าสินค้าแบรนด์สัญชาติจีนที่ไปเติบโตได้ในระดับโลกนั้น มีเหตุและผลของมันมากกว่าความบังเอิญ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ฟลุค) แน่นอน แต่เชื่อไหมครับว่าสินค้าของ Edifier สองสามรุ่นที่เคยผ่านหูผมมาก่อนนั้นเทียบความน่าสนใจไม่ได้เลยเมื่อเทียบกับเจ้า Luna Eclipse ลำโพงทรงไข่ไก่น่ารักน่าชังคู่นี้

ครั้งแรกที่ผมเห็นตัวเป็นๆ ของลำโพง Luna Eclipse ในงานเปิดตัว มันดูเล็กกว่าที่ผมจินตนาการไว้เมื่อตอนที่เห็นในหน้าโฆษณาพอสมควร ตัวตู้ลำโพงที่ทำจากวัสดุประเภทไฟเบอร์กลาสให้สัมผัสที่รู้สึกถึงความแข็งแรงแน่นหนา งานผลิตจัดว่าอยู่ในขั้นประณีตเรียบร้อยตามมาตรฐานที่สามารถส่งไปขายได้ทั่วโลก มันมีส่วนสูงจริงประมาณ 8 นิ้วเศษ หน้ากว้างราวๆ 4 นิ้ว และมีความลึกของตู้ลำโพงเกือบเท่าส่วนสูงของมัน และที่ทำให้มันดูกะทัดรัดก็เพราะดีไซน์ที่เป็นทรงรีและโค้งมนเหมือนไข่แต่ไม่น่าจะใช่ไข่ไก่หรือไข่เป็ดเพราะว่าใหญ่กว่ามาก ประมาณไข่นกกระจอกเทศล่ะก็พอไหว จะว่าไปดีไซน์ของเขาก็หวือหวาทันสมัยและดูอวกาศดีนะครับ ยิ่งตัวที่โชว์ตอนเปิดตัวเป็นสีแดงด้วยแล้ว มันยิ่งดูทันสมัยจี๊ดเลยล่ะครับพระเดชพระคุณท่าน ลำโพงรุ่นนี้นอกจากสีแดงและดำเหมือนคู่ตัวอย่างที่ผมได้รับมารีวิวแล้ว ยังมีสีขาวให้เลือกด้วยครับ ได้ข่าวมาว่าในบางภูมิภาคจะมีสีเหลืองด้วยต่างหาก ส่วนตัวผมคิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ทำไมไม่เพิ่มสีชมพู เขียว หรือฟ้าด้วยจะได้ถูกใจแฟนๆ ทุกเพศทุกวัยกันไปเลยน่าจะดี ฮ่าๆ



Compact Design
Luna Eclipse เป็นลำโพงแอคทีฟเดสก์ท้อปที่ถูกออกแบบให้ใช้งานแบบวางบนโต๊ะทำงาน โต๊ะเล่นคอมพิวเตอร์หรือบริเวณมุมโปรดที่คุณใช้ผ่อนคลายด้วยการดูหนังฟังเพลง (ซึ่งบางทีก็เป็นโต๊ะทำงานหรือโต๊ะคอมพิวเตอร์รวมๆ กันนั่นแหละครับ) ขนาดของมันจึงต้องกะทัดรัดพอที่จะไม่รบกวนพื้นที่ของอุปกรณ์อื่นๆ ขณะเดียวกันโจทย์สำคัญคือทำอย่างไรให้มันเสียงดีด้วย ในลำโพงรุ่นนี้เราจึงได้เห็นทาง Edifier ตอบโจทย์นี้ด้วยการออกแบบที่ทำการบ้านมามากกว่าลำโพงมัลติมีเดียทั่วไปที่ทำออกมาเป็นระบบ 2.1 แชนเนล มีลำโพงซับวูฟเฟอร์และสายไฟอีกจำนวนหนึ่งแยกออกมาให้รุงรังโดยไม่จำเป็น


Luna Eclipse มีตัวไดรเวอร์หลักของลำโพงข้างละ 2 ตัว เป็นไดรเวอร์กลาง/ทุ้มขนาด 3 นิ้วครึ่งมีชีลด์แม่เหล็ก 1 ตัว และทวีตเตอร์โดมผ้าขนาด 19 มิลลิเมตรมีชีลด์แม่เหล็กอีก 1 ตัว เสริมการตอบสนองความถี่ต่ำด้วยพาสสีฟเรดิเอเตอร์ขนาด 3 นิ้วอีกข้างละ 2 ตัว วางหันหน้าเข้าหากันอยู่ภายในบริเวณช่องเปิดด้านข้างต่อไปยังด้านหลังตู้ลำโพง และด้วยความที่เป็นระบบแอคทีฟคุณจึงไม่เห็นขั้วต่อสายลำโพงที่ด้านหลังลำโพงคู่นี้เหมือนลำโพงทั่วไป แต่จะเห็นขั้วต่อสัญญาณและระบบไฟเลี้ยงที่ป้อนให้กับวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในตัวลำโพง ไม่ว่าจะเป็นวงจร Digital Signal Processing (DSP) และ Dynamic Range Control (DRC) ที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคขยายเสียงกำลังขับข้างละ 15 วัตต์สำหรับทวีตเตอร์และ 22 วัตต์สำหรับไดรเวอร์กลาง/ทุ้มสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ตัวลำโพงสามารถรับสัญญาณเข้ามาฟังได้จาก 2 ช่องทาง ช่องทางแรกคือทางขั้วต่อ ‘Aux In’ ซึ่งเป็นแบบมินิโฟน 3.5mm อยู่ด้านหลังลำโพงข้างขวา (R) ทำหน้าที่รับสัญญาณเสียงระดับ line level ทั่วไป อีกช่องทางหนึ่งคือทางระบบไร้สายสัญญาณบลูทูธ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต สมาร์ตโฟนหรือ mobile device ทั่วไปได้โดยไม่จำกัดค่าย (ที่สนับสนุนบลูทูธ A2DP - Advanced Audio Distribution Profile และ AVRCP - Audio/Video Remote Control Profile)



Connection & Control
การเชื่อมต่อใช้งานลำโพงชุดนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ใครที่คุ้นเคยกับลำโพงมัลติทีเดียหรือลำโพงระบบแอคทีฟน่าจะทำความเข้าใจได้ง่ายมาก ในชุดนอกจากลำโพง 2 ตัวที่มีการกำหนดข้างขวาและข้างซ้ายมาแล้ว ยังมีอะแดปเตอร์ไฟเลี้ยงเอาต์พุตไฟฟ้ากระแสตรง 18 โวลต์ 3 แอมป์เสียบใช้งานเข้าที่ด้านหลังเฉพาะลำโพงข้างขวา มีสายสัญญาณสำหรับเชื่อมต่อระหว่างลำโพงข้างซ้ายและขวาเป็นขั้วต่อแบบเฉพาะให้มา 1 เส้น ความยาวประมาณ 3 เมตร นั่นหมายความว่าคุณสามารถวางลำโพงข้างซ้ายและขวาห่างกันได้ไม่เกินระยะนี้ซึ่งก็ถือว่าเหลือเฟือครับ ใช้งานจริงยังเผื่อเก็บสายให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ด้วย

ในชุดยังแถมสายสัญญาณ mini-mini 3.5 mm ยาวประมาณ 1.7 เมตร สำหรับ Aux In มาเผื่อให้ด้วยอีกเส้น สายสัญญาณเส้นนี้ถือว่าคุณภาพสมน้ำสมเนื้อล่ะครับ อาจจะอัพเกรดภายหลังหรือใช้ไปอย่างนั้นก็ไม่ได้ขี้เหร่อะไร


สำหรับการเชื่อมต่อสัญญาณบลูทูธก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ รหัสที่ใช้ในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ของเราเข้ากับตัวลำโพงด้วยสัญญาณบลูทูธคือเลขศูนย์ 4 ตัว “0000” การเชื่อมต่อทำได้รวดเร็วและราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น ระยะห่างในเชื่อมต่อสัญญาณได้ดีคือที่ 10 เมตรโดยประมาณในพื้นที่ที่ค่อนข้างโปร่งโล่ง ถ้ามีฝาผนังกีดขวางก็ระยะเชื่อมต่อได้ดีก็ลดลงไปตามสภาพแวดล้อมนั้นๆ

ส่วนควบคุมของลำโพง Luna Eclipse นั้นต้องบอกว่าเขาออกแบบมาอย่างเท่ไม่แพ้ดีไซน์ตู้ลำโพงของเขาเลยครับ เพราะว่ามันเป็นปุ่มควบคุมแบบสัมผัส (capacitive touch-sensitive control) ที่สกรีนเป็นสัญลักษณ์ปุ่มเปิด-ปิด, เครื่องหมายบวกและลบ อยู่ด้านข้างลำโพงด้านขวา สามารถสั่งงานได้ทั้งการเพิ่มหรือลดความดังเสียง และการเปิด-ปิดการทำงานของตัวลำโพงเช่นเดียวกับที่สั่งได้จากรีโมตคอนโทรลอินฟราเรดดีไซน์สวยที่มาด้วยกันกับลำโพง


นอกจากการสัมผัสเพื่อสั่งงานโดยตรงแล้ว เขายังออกแบบให้การเอานิ้วหรือมือลูบผ่านปุ่มสัมผัสข้างตัวลำโพงเบาๆ เป็นการสั่งข้ามแทรคเพลง (skip track) ที่เล่นอยู่ด้วยต่างหากครับ ลูบขึ้นเป็นข้ามเพลงย้อนหลับหลัง ถ้าลูบลงเป็นข้ามไปข้างหน้า แต่การควบคุมอย่างหลังนี้จะใช้งานได้เฉพาะเวลาที่เล่นแบบเชื่อมต่อผ่านระบบบลูทูธเท่านั้นนะครับ สังเกตง่ายๆ ว่าหน้าลำโพงข้างขวาจะมีไฟสีฟ้าสว่างขึ้นในโหมดบลูทูธ ถ้าเป็นการเล่นผ่านอินพุต Aux In ไฟนี้จะเป็นสีแดง ถ้าไฟไม่ติดสว่างแสดงว่าลำโพงปิดการทำงานอยู่

นอกจากการควบคุมที่ว่ามาแล้วถ้าคุณเอามือแตะทั้งสามปุ่มข้างลำโพงค้างเอาไว้ประมาณ 2 วินาทีแล้วปล่อย ถ้าอยู่ในโหมดอินพุต Aux In มันจะเป็นการสั่ง mute เสียงหรือยกเลิกการ mute เสียง แต่ถ้าอยู่ในโหมดเชื่อมต่อบลูทูธการทำเช่นนั้นจะเป็นการตัดการเชื่อมต่อบลูทูธ อีกกรณีหนึ่งคือในระหว่างเชื่อมต่อบลูทูธ ถ้าหากมีการเสียบสายสัญญาณเข้าไปที่ขั้วต่ออินพุต Aux In ลำโพงจะตัดสลับจากอินพุตบลูทูธไปใช้งานขั้วต่อ Aux In ให้เองโดยอัตโนมัติ



ลำโพงเล็กเสียงใหญ่ ได้ใจเรื่องมิติเสียง
ก่อนที่จะได้รับตัวอย่างลำโพงมาสำหรับการรีวิว ผมมีโอกาสได้ฟังเสียงของลำโพง Luna Eclipse มาแล้วครั้งในหนึ่งในงานเปิดตัว ในครั้งนั้นเป็นการฟังแบบเชื่อมต่อบลูทูธโดยผมเล่นเพลงจากไอโฟน เสียงที่ได้นั้นแม้ว่าจะฟังดูเกินตัวและมีรายละเอียดเสียงที่น่าสนใจแต่มันก็ยังห่างไกลจากคุณภาพเสียงที่ผมได้ยินในระหว่างการรีวิวครั้งนี้มาก หลักใหญ่ใจความน่ามีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อม เนื่องจากในงานเปิดตัววันนั้นลำโพงถูกจัดวางในห้องประชุมขนาดใหญ่ และวางห่างจากผนังห้องมากพอสมควร เพื่อให้การ display ร่วมกับฉากหลังมีความสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ

แต่ในการรีวิวจริงนั้น ผมได้จัดวางลำโพงในสภาพแวดล้อมและในลักษณะตามที่มันได้ถูกออกแบบมา นั่นคือวางเอาไว้ที่โต๊ะทำงานของผม ซึ่งมีพื้นเพียงพอที่จะเซ็ตอัพออกมาได้ดีอีกทั้งยังมีความแข็งแรงไว้ใจได้เพราะท้อปของโต๊ะทำจากไม้หนานิ้วกว่าๆ และมีน้ำหนักมากพอที่จะเคลื่อนย้ายได้ไม่ง่ายนัก ทั้งหมดนี้ทำให้มั่นใจได้ว่าอย่างน้อยสภาพแวดล้อมก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคหรือตัวถ่วงการทำงานของลำโพงคู่นี้


ลำโพงถูกจัดวางในลักษณะการฟังแบบ near-field ลำโพงข้างซ้ายและขวาวางห่างกันประมาณ 1.40 เมตร ห่างจากแผงพาติชันหนาๆ ด้านหลังประมาณ 30 เซนติเมตร โทอินลำโพงเข้าหาจุดที่ผมนั่ง นี่คือตำแหน่งคร่าวๆ ที่ผมใช้เวลาไม่นานในการขยับแล้วลองฟังจนได้เสียงที่น่าพอใจ อันที่จริงผมคิดว่าตัวผู้ผลิตเองอาจไม่ได้ตั้งใจทำลำโพงให้ออกมาใช้งานแล้วต้องซีเรียสเรื่องตำแหน่งวางมากถึงเพียงนี้ แต่ผมคิดว่านี่คือกำไรในน้ำเสียงที่เราจะได้มาฟรีๆ เพียงแค่ใส่ใจกับมันสักเล็กน้อยผลลัพธ์ที่ได้รับรองว่าคุ้มค่ามากจริงๆ

ผมได้ลองเปรียบเทียบการใช้งานลำโพง Luna Eclipse ทั้งการต่อสายเชื่อมต่อสัญญาณเสียงเข้าทางอินพุต Aux In และการเชื่อมต่อเสียงแบบไร้สายทางบลูทูธ มันชัดเจนว่า ณ เวลานี้ระบบเสียงแบบไร้สายบลูทูธได้ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากๆ แต่มันก็ยังดีไม่เท่าการเชื่อมต่อด้วยสายสัญญาณธรรมดาอยู่ดี ผมลองเทียบกันโดยตรงโดยใช้ iPad และ iPhone เป็นตัวเล่นเพลงจากแอพฯ เสียงดีอย่าง Onkyo HF Player พบว่า บลูทูธจะเสียงแห้งกว่าและแบนกว่าเล็กน้อย ภาพรวมของเสียงไม่เนียนลื่นและไม่สดใสเท่า

แต่นั่นคือความแตกต่างที่เกิดจากการตั้งใจฟังเปรียบเทียบกันโดยตรงนะครับ เพราะลำพังถ้าฟังจากระบบบลูทูธอย่างเดียวสำหรับลำโพงคู่นี้ต้องบอกว่ามันเสียงดีเกินคาดแล้วล่ะครับ อย่างน้อยมันก็พอจะทำให้ลืมประสบการณ์แย่ๆ จากการฟังลำโพงบลูทูธคุณภาพต่ำอื่นๆ ที่ให้เสียงอับทึบ อั้น ตีบตัน หรือเสียงหยาบกระด้างไม่น่าฟังไปได้ เพราะระบบบลูทูธในลำโพงคู่นี้ทำได้ดีกว่านั้นไปไกลแล้ว ถ้าจำเป็นหรือเน้นสะดวกต่อฟังเพลงทางบลูทูธกับลำโพงคู่นี้ผมรับรองว่ามันไม่ได้ขี้เหร่อะไรเลย แต่ถ้าเลือกได้ แนะนำให้ต่อเสียงเข้าทาง Aux In นะครับ ฟังเพลงได้ลื่นหูและหรรษากว่ากันเยอะเลย

นอกจากน้ำเสียงแล้วอีกหนึ่งข้อดีที่เห้นได้ชัดในการเชื่อมต่อสัญญาณเข้าทาง Aux In คือคุณสามารถปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มคุณภาพของ source ได้ง่ายกว่า อย่างเช่นที่ผมได้ลองเล่น เพียงแค่เอา USB DAC เสียงดีๆ อย่าง Audioquest : DragonFly หรือ ADL : X1 มาต่อกับคอมพิวเตอร์ที่โต๊ะทำงาน แล้วเล่นเพลงจากโปรแกรม JRiver Media Player 19 เพียงเท่านี้ก็ได้ source ชั้นดีที่ช่วยสนับสนุนให้เสียงของลำโพง Luna Eclipse มีความไพเราะน่าฟังมากยิ่งขึ้นไปอีก จนบางครั้งผมคิดว่าเสียงที่กำลังฟังอยู่นี้ไม่ได้มีอะไรเป็นรองเครื่องเสียงแยกชิ้นเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะเวลาที่ใช้ ADL : X1 เป็น source เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากครับ!

จากสภาพแวดล้อมในการใช้งานตามที่ผมได้เรียนเอาไว้ ลำโพงคู่นี้ให้รายละเอียดและมิติเสียงที่น่าทึ่ง เพราะมันหลุดลอยออกมาจากลำโพงไม่ต่างจากการฟังลำโพงในซิสเตมสเตริโอปกติเลย การเคลื่อนไหวของเสียงสามารถติดตามรับรู้ได้แทบไม่ต่างจากการฟังลำโพงในห้องฟังตามปกติ ลักษณะการฟังแบบ near-field ที่นั่งใกล้ลำโพงก่อให้เกิดมิติและเวทีเสียงในขอบเขตที่จำกัดก็จริง แต่ภายในขอบเขตนั้นยังรู้สึกได้ว่าแต่ละเสียงมีอิสระและสามารถหลุดลอยออกจากลำโพงได้อย่างน่าขนลุก บางครั้งผมได้ยินเสียงร้องมาลอยอยู่ตรงกลางหลังจอมอนิเตอร์ บางครั้งมีเสียงกีตาร์มาลอยอยู่บริเวณแป้นคีย์บอร์ดที่ผมใช้พิมพ์งาน ใครที่ไม่คุ้นชินกับมิติเสียงของลำโพงในระบบสเตริโอมาเจอแบบนี้เข้าไปผมคิดว่าน่าจะมีความรู้สึกเหมือนถูกผีหลอกกลางวันแน่นอน

ลำโพงอีกตัวที่ซ่อนไว้ ช่วยให้เสียงทุ้มมีพลังเกินตัว
อีกความน่าทึ่งของ Luna Eclipse สะดุดหูผมตั้งแต่เรื่องของสเกลเสียงที่ออกมาใหญ่โตเกินตัว ส่วนหนึ่งชัดเจนว่ามาจากการออกแบบที่ใช้เบสเรดิเอเตอร์มาช่วยเสริมพลังเสียงในย่านความถี่ต่ำซึ่งมันได้ผลจริงตามเงื่อนไขของการเซ็ตอัพตามที่ได้เรียนไว้ ทำให้เสียงที่ได้ยินจากลำโพงคู่นี้ฟังดูเหมือนมาจากลำโพงขนาดใหญ่กว่านี้สักเท่าตัว มันให้รายละเอียดเสียงต่างๆ ออกมาสมได้ขนาดตัว มีข้อจำกัดจากทางสรีระปรากฏชัดเพียงแค่ในย่านความถี่ต่ำที่ยังไม่อาจแผ่มวลคลื่นเสียงออกมาได้อย่างต่อเนื่องแบบลำโพงที่ใช้ไดรเวอร์ขนาดใหญ่กว่า ในย่านความถี่อื่นๆ มีลักษณะเด่นที่ความสดใสเปิดเผยฟังสบายหูไม่อึดอัด แยกแยะรายละเอียดได้ดีกว่าลำโพงตัวเล็กๆ ที่ใช้ไดรเวอร์แบบฟูลเรนจ์ และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้การเลือก source มีผลต่อคุณภาพเสียงที่ถ่ายทอดออกจากลำโพงโดยตรง เสียงทุ้มบางย่านความถี่ให้พลังงานของเสียงออกมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ คุณลักษณะนี้สามารถรับรู้ได้ไม่ว่าจะเป็นการฟังง่ายๆ จากการสตรีมไฟล์คลิปวิดีโอคุณภาพดีใน YouTube หรือฟังแบบจริงจังจากมีเดียไฟล์คุณภาพสูงกับโปรแกรม Media Player โดยเฉพาะ

ข้อจำกัดของ Luna Eclipse คือมันให้เสียงได้ดีจนถึงความดังในระดับหนึ่งที่ยังคงรักษาสมดุลเสียงและคุณภาพเสียงเอาไว้ได้ดี ถ้าเกินกว่านั้นสมดุลเสียงจะเริ่มรวนโดยเฉพาะในย่านความถี่เสียงกลางขึ้นไปและอาจจะได้ยินเสียงของไดรเวอร์ที่ทำงานเกินขีดความสามารถของมัน ซึ่งนั่นทำให้ผมคิดว่ามันเป็นลำโพงที่เหมาะกับการฟังแบบส่วนตัวในลักษณะ near-field มากที่สุด หากเป็นกรณีนอกเหนือจากนั้นแล้วก็คงขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและขนาดของห้องที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย แต่เท่าที่มันทำได้นี่ผมก็ต้องยกนิ้วโป้งซูฮกว่าเด็ดสะระตี่แล้ว



A Passion For Sound
หลังจากที่ได้ลองเล่น Edifier : Luna Eclipse ผมไม่ค่อยแปลกใจนักหรอกครับว่าทำไมแบรนด์เนมสัญชาติจีนถึงทำสินค้าออกมาได้น่าสนใจถึงเพียงนี้ ประการแรกเป็นเพราะพวกเขาตั้งใจทำตลาดในลักษณะ Worldwide จึงต้องยกระดับมาตรฐานของสินค้าให้ทัดเทียมแบรนด์เนมชั้นนำ ถึงขนาดว่าลงทุนสร้างโรงงานที่สามารถผลิตทุกๆ ชิ้นส่วนในสินค้าของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพา outsource ตั้งแต่งานฉีดพลาสติก, แผงวงจรไฟฟ้า, งานไม้, งานซิลค์สกรีนและทำสี ตลอดจนงานผลิตตัวไดรเวอร์ลำโพง (อ้างอิงข้อมูลจาก www.edifier-international.com)

อีกประการที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจสำคัญคือสิ่งที่แบรนด์นี้ได้แสดงออกว่าพยายามทำให้ได้ตามสโลแกนของพวกเขานั่นคือ ‘A Passion For Sound’ ไม่ว่าดีไซน์จะสวยเด่นสะดุดตาแค่ไหนแต่ถ้าเป็นลำโพงที่ฟังแล้วเสียงไม่ดีมันก็ไม่มีความหมาย สำหรับลำโพง Luna Eclipse มันได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเป็นหนึ่งในผลิตผลจากหลักปรัชญาของ Edifier โดยแท้จริง เชิญตรวจสอบด้วยหูของท่านเอง


.....................................................................................................................
ขอบคุณ บริษัท ไฟว์-เดซิเบล จำกัด
ที่เอื้อเฟื้อให้ยืมสินค้าสำหรับการรีวิว