เครื่องเล่นเพลงแบบพกพานั้นไม่ใช่ของใหม่ ตลอดเวลาที่ผ่านมามนุษย์เราพยายามพัฒนาวิธีการเสพเสียงดนตรีให้มีความสะดวกสบาย มีความเอนกประสงค์มากขึ้น มาโดยตลอด
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เกิดก่อนปีพ.ศ.2525 คุณคงรู้จักหรือเคยเล่นวิทยุ/เทปคาสเส็ตแบบพกพาที่เรียกว่า ซาวนด์อะเบาต์หรือวอล์คแมนมาก่อน หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นวิวัฒนาการของเครื่องเล่นประเภทนี้มาโดยตลอด เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและเทคโนโลยีของสื่อบันทึกเสียง ว่าไปตั้งแต่ ดิสก์แมนหรือเครื่องเล่นซีดีแบบพกพา, เครื่องเล่นมินิดิสก์ (MD) พกพา มาจนถึงยุคของเครื่องเล่น mp3 พกพา ที่ครั้งหนึ่งเคยวางขายกันจนเกลื่อนเมือง แต่ก็หาได้มีมาตรฐานคุณภาพของสินค้าหรือคุณภาพเสียงในระดับที่เชื่อถือได้แต่อย่างใด
จนมาถึงยุคของ iPod ที่สตีฟ จ๊อบส์ ศาสดาของบริษัท Apple พยายามสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาในยุคที่ไม่ต้องอาศัยการเล่นเพลงผ่านสื่อเก็บบันทึกเสียงใดๆ แล้ว เพราะเทคโนโลยีดิจิตอลได้เดินทางมาถึงจุดที่เราสามารถฟังเพลงจากไฟล์เสียงได้โดยตรง
จากนั้นการเติบโตของ iPod และ iDevices ฟังเพลงได้รุ่นต่างๆ หลังจากนั้นก็เริ่มเดินสวนทางกับยอดจำหน่ายแผ่นซีดีทั่วโลก นั่นยิ่งตอกย้ำว่าโลกแห่งการเสพเสียงดนตรีกำลังเดินทางเข้าสู่การดาวน์โหลด การริบแผ่นซีดีและการฟังเพลงจากไฟล์เสียงโดยตรง ไม่ต้องผ่านสื่อเก็บบันทึกใดๆ อย่างเต็มตัวแล้ว
ขณะที่ iPod สามารถเจาะกลุ่มคนระดับมวลชนได้ แต่ลำพังตัว iPod เองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากเมื่อพิจารณาในแง่ของการรองรับฟอร์แมตไฟล์เพลงและคุณภาพเสียงในแบบไฮฟิเดลิตี้ (High Fidelity) ระดับที่คนเล่นเครื่องเสียงคาดหวัง
ทำให้มีผู้ผลิตเครื่องเสียงโดยเฉพาะกลุ่มที่ทำ hi-fi gadget กลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะแบรนด์เนมจากเอเชียอย่างเกาหลีหรือจีน เริ่มพัฒนาเครื่องเล่นพกพาที่รองรับการเล่นไฟล์เพลงอย่างมีคุณภาพออกมาในชื่อที่เรียกกันว่า Digital Audio Player หรือ DAP ออกมา หนึ่งในจำนวนนั้นคือยี่ห้อ ไอ-บาส-โซ ออ-ดิ-โอ iBasso Audio จากประเทศจีน
iBasso DX90 - High Performance Digital Audio Player
สินค้าในกลุ่ม DAP ของ iBasso ยังคงออกแบบมาในแนวทางเดียวกับสินค้า hi-fi gadget อื่นๆ ของยี่ห้อนี้คือ ราคาไม่แรงมาก แต่สเปคฯ และส่วนประกอบต่างๆ จะให้มาแบบว่า 'จัดเต็ม' เกินราคา โดยเฉพาะรุ่น DX90 ซึ่งแปะป้ายราคาขายกันอยู่ในระดับหมื่นกลางๆ ไม่ถูกไม่แพง
ก่อนได้ฟัง DX90 ผมได้ลองฟังรุ่น DX50 ซึ่งเป็นรุ่นเล็กของเขามาก่อน มองแค่ภายนอกเครื่องสองรุ่นนี้มีบอดี้ที่ดูเหมือนกันจนแทบแยกไม่ออกเลยว่าตัวไหนเป็นรุ่นไหน ขนาด น้ำหนัก วัสดุ เหมือนกันจนน่าเขื่อว่ามันถูกออกแบบให้ใช้ชิ้นส่วนร่วมกันนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นบอดี้ที่ทำจากอะลูมิเนียมอะโนไดซ์, จอแสดงผล, คอนเน็คเตอร์หรือปุ่มกดต่างๆ รวมถึงความเรียบร้อยของชิ้นงานมันดูแทบไม่ต่างกันเลย แต่สิ่งที่แตกต่างกันมากคือการออกแบบที่อยู่ภายในครับ
ภาคขยายหูฟังคุณภาพสูง ไม่ค่อยพบได้บ่อยใน DAP ทั่วไป |
ภาค DAC แยกซ้าย-ขวาอิสระ เลือกใช้ชิพคุณภาพสูงจาก ESS |
ผังวงจรของ DX90 เทียบกับ DX50 จะเห็นว่าแตกต่างกันมากๆ |
ขณะที่ DX50 ใช้ชิพ DAC - Wolfson WM8740 และวงจรประกอบที่เรียบง่ายตามแบบฉบับเครื่องรุ่นเล็กราคาย่อมเยา มาในรุ่น DX90 ซึ่งราคาแพงกว่ากันเกือบเท่าตัวทีมออกแบบของไอบาสโซก็ได้จัดหนักจัดเต็มกันเลยทีเดียวครับ ว่าไปตั้งแต่การใช้ Dual-Core CPU และวงจรที่เป็นแบบ Dual mono แยกซ้าย/ขวาอิสระตลอดทั้งวงจร
เริ่มจากภาคถอดรหัสเสียงที่ใช้ชิพ DAC ตัวแรงของยี่ห้อ ESS นั่นคือชิพ Sabre32 ES9018K2M ซึ่งมีใช้งานอยู่ในเครื่องถึง 2 ตัว (แยกซ้าย/ขวา) ถัดจากนั้นวงจรภาค I/V converter, analog filter, voltage amplifier และ buffer เพื่อขับออกเอาต์พุตหูฟัง ก็ออกแบบให้แยกอิสระสำหรับวงจรข้างซ้ายและขวาตลอดทั้งวงจรด้วยเช่นกันครับ แถมยังเลือกใช้ชิพวงจรคุณภาพสูงจากผู้ผลิตชั้นนำอย่าง Texas Instrument อีกต่างหากครับ
ด้านคุณสมบัติพื้นฐาน iBasso DX90 รองรับการเล่นไฟล์เพลงยอดนิยมได้เกือบทุกฟอร์แมตไม่ว่าจะเป็น APE, FLAC, WAV, WMA, AAC, ALAC, AIFF, OGG หรือ MP3 รวมถึงการรองรับไฟล์เสียงรายละเอียดสูงหรือ Hi-Res Audio ซึ่งในเบื้องต้นทราบว่าเล่นได้ไปถึงระดับ 24bit/192kHz เลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้พูดได้ว่าทางเทคนิคแทบไม่มีอะไรให้ติ ทุกจุดได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ความเอาใจใส่ในการออกแบบเพื่อหวังผลด้านคุณภาพเสียง ไม่ใช่ดีไซน์ประเภทสุกเอาเผากิน เทียบราคาค่าตัวแล้วจัดว่าอลังการงานสร้างเลยทีเดียวครับ
แกะกล่องลองสัมผัสตัวจริง
iBasso DX90 มาในกล่องกระดาษขนาดใหญ่กว่าตัวมันประมาณ 1.5 เท่า ในกล่องมีตัวเครื่องและอุปกรณ์เสริมที่แถมมาด้วยกันอย่างเช่น USB cable ที่ทำหน้าที่ชาร์จแบตเตอรี่และเชื่อมต่อเพื่อซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์, สาย Coaxial cable, สาย Burn-in Cable, Silicone case และแผ่นใสปิดกันรอยหน้าจอ
สัมผัสแรกสำหรับตัวเครื่อง ถือว่างานเนี๊ยบใช้ได้เลยครับ งานอะลูมิเนียมแม้แต่ในส่วนที่เป็นขอบเหลี่ยมก็ไม่มีขอบคมหรือสากเสี้ยนระคายมือเลย การสกรีนตัวอักษรต่างๆ บริเวณด้านหลังเครื่องชัดเจนคมกริบ ติดแน่นทนทานแบบงานผลิตมาตรฐานสูง ขนาดเครื่องที่เล็กประมาณฝ่ามือประกอบกับน้ำหนักที่ 140 กรัมตามสเปคฯ ถือว่าสามารถพกพาใส่กระเป๋ากางเกงได้ไม่ลำบากนัก
ด้านหลังเครื่องมีชิ้นส่วนฝาครอบอะลูมิเนียมที่สามารถสไลด์ออกเพื่อใส่หรือถอดแบตเตอรี่ได้ แบตเตอรี่ที่ใช้ใน DX90 ทางผู้ผลิตแจ้งว่าก็เป็นแบตเตอรี่ขนาดเดียวกับที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือชื่อดังรุ่นหนึ่ง บอกใบ้เป็นตัวอักษรให้เดาได้ง่ายเว่อว่าเป็น Samsung Galaxy S3 (รหัส i9300) เป็นแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 2,100 mAh ชาร์จประจุจนเต็มหนึ่งรอบสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 8 ชั่วโมงครึ่งเลยทีเดียว
ปุ่ม Power และสวิตช์ล็อคการทำงานของปุ่มกด |
ปุ่มปรับระดับเสียงแบบปุ่มกดเพิ่ม-ลดความดัง |
ช่องเสียบหูฟัง ไลน์เอาต์ และสวิตช์ปรับอัตราขยาย ของแอมป์หูฟัง ทั้งหมดอยู่ด้านล่างของเครื่อง |
ด้านบนเป็นที่อยู่ของพอร์ต Micro USB, Micro SD Slot และช่อง Coaxial Out สำหรับสัญญาณดิจิตอล สามารถเพิ่ม DAC ภายนอกได้ |
พื้นที่ประมาณครึ่งหนึ่งด้านหน้าเครื่องเป็นจอสีแสดงผลแอลซีดีแบบ IPS ขนาด 2.4 นิ้ว ความละเอียด 320 x 240 pixel เป็นจอระบบสัมผัสแบบ capacitive touch screen ถ้ดลงมาเป็นปุ่มกดขนาดใหญ่กดได้ถนัดนิ้ว 3 ปุ่ม ทำหน้าที่ควบคุมฟังก์ชันหลักๆ เช่น play/pause และการข้ามเพลงไปข้างหน้าหรือย้อนถอยหลัง
ด้านข้างเครื่องฝั่งซ้ายมือ (เมื่อหันหน้าเข้าหาจอแสดงผล) เป็นปุ่มกด POWER ทำหน้าที่เปิด-ปิดเครื่องหรือเปิด-ปิดการทำงานของจอทัชสกรีน และสวิตช์ HOLD เพื่อล็อคปุ่มไม่ให้เผลอกดสั่งงานโดยไม่ได้ตั้งใจเวลาเก็บใส่กระเป๋า ส่วนปุ่มกดอีก 2 ปุ่มด้านขวามือเป็นปุ่ม volume เพิ่ม-ลดความดังของเสียงซึ่งเป็น digital volume control ที่สามารถปรับได้ละเอียดถึง 256 ระดับ
ด้านบนของเครื่องเป็นที่อยู่ของขั้วต่อ Mini Digital Coaxial Output (up to 24bit/192kHz), Micro USB (supports OTG) และ Micro SD Card Slot (supports SDHC & SDXC (exFAT up to 2TB) สำหรับตัวเครื่องเองมี On Board Flash Memory อยู่ 8GB พอใช้งานได้คร่าวๆ แต่คงไม่เพียงพอสำหรับไฟล์จำพวก Hi-Res Audio ทั้งหลายเพราะใส่ได้ไม่กี่อัลบั้มก็เต็มความจุแล้ว
สำหรับด้านล่างเครื่องเป็นที่อยู่ของขั้วต่อหูฟัง Headphone Output (สูงสุด 2.8Vrms, อิมพิแดนซ์ขาออกต่ำกว่า 0.1 โอห์ม) และ Line Output (1.7Vrms) ซึ่งเป็นแบบมินิแจ็ค 3.5 mm เหมือนกัน ขั้วต่อสำหรับหูฟังจะอยู่ริมด้านนอก ผมแนะนำว่าจำตำแหน่งให้ได้เลยก็ดีครับ เพราะตัวอักษรที่สลักไว้เพื่อระบุตำแหน่งขั้วต่อนั้นตัวเล็กมากและมองยากเหลือเกิน มันกลืนไปกับสีพื้นเลย
ใกล้ๆ กันนั้นเป็นสวิตช์เลื่อนเลือก GAIN ได้ 3 ระดับ Low, Mid, High มีผลต่อระดับสัญญาณสูงสุดและ S/N Ratio ของ Headphone Output นั่นคือ
Output Level: 1.3Vrms(Low gain), 2.0Vrms(Mid gain), 2.8Vrms(High Gain)
S/N: -118dB +/-1dB(Low gain), -116dB +/-1dB(Mid gain), -115dB +/-1dB(High Gain) (32ohm Load)
สำหรับสเปคฯ อื่นๆ ที่เหลือสามารถดูได้จากหน้าเวบไซต์ตามลิงนี้ครับ iBasso DX90 หรือดูรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ได้ที่เวบบอร์ดของตัวแทนจำหน่ายตามลิงค์นี้ครับ http://forum.munkonggadget.com/detail.php?id=144047
First Impression
DX90 เป็น DAP มากความสามารถที่มีขนาดตัวค่อนข้างเล็กและน้ำหนักเบา พกพาได้จริง ให้อุปกรณ์มาตรฐานมาครบพร้อมใช้งาน รองรับไฟล์ไฮเรซฯ รวมทั้งไฟล์ฟอร์แมต DSD (ไฟล์ .dsf และ convert to PCM) ขนาดและรูปร่างหน้าตาของมันเหมือนกับรุ่นน้อง DX50 อย่างกับฝาแฝด แต่ความสามารถและคุณภาพเสียงฉีกหนีไปไกลพอสมควร
DX90 เป็น DAP ตัวเล็กๆ ที่เรี่ยวแรงค่อนข้างดี ขับหูฟังขับค่อนข้างยากอย่าง K712 Pro ได้สบายๆ (เมื่อเลือกที่ High Gain) พวก full size อย่าง Shure SRH940 หรือ OPPO PM-1 เลือกแค่เกนระดับ MID ก็ขับได้สบายๆ แล้วครับ ปุ่มฟังก์ชันหลักทั้ง 3 ปุ่ม เวลาใช้งานจริงสะดวกอย่างมากๆ แค่คลำๆ ก็กดสั่งงานได้แล้ว หน้าตาดูธรรมดาบ้านๆ อย่างนี้แหละครับ เวลาใช้งานจริงมันสะดวกสบายเหลือเกิน การเล่นเพลงแบบ gapless playback ได้แนบเนียนไร้รอยต่อหรือสะดุดขาดตอน
จอสัมผัสของ DX90 ดีกว่า DX50 แต่ยังไม่ได้อย่างใจเท่าพวก iOS และรายละเอียดต่ำไปหน่อยโดยเฉพาะเวลาแสดงภาพปกแผ่น แต่นี่ไม่เกี่ยวกับเสียง ด้านการใช้งานแบตเตอรี่ถือว่า อึดใช้ได้ เวลาหน้าจอดับ ก็ยังสามารถควบคุมการเล่นเพลงหรือเพิ่มลดเสียงได้โดยไม่ต้องให้หน้าจอติดขึ้นมา
เมนูหลักของเครื่องจะมีอยู่ 2 ส่วน หลักๆ ที่ต้องให้ความสนใจก่อนใช้งานเลยก็คือเมนู Settings ที่อยู่ทางด้านขวามือของหน้าปกติ เมนู Settings นี้จะมีเมนูย่อยหลายส่วนให้เราเข้าไปดูเป็นข้อมูลหรือเข้าไปปรับตั้งค่าได้ คนทั่วไปสามารถค่อยๆ เรียนรู้การใช้งานได้เองไม่มีอะไรยากครับ แต่มีอยู่ 2 ส่วนที่ผมว่าน่าสนใจนั่นคือ 'USB Settings' และ 'Digital Filter'
'USB Settings' เป็นการตั้งค่าว่าจะใช้พอร์ต micro USB ของเครื่องทำหน้าที่ในโหมดใดระหว่าง storage, DAC หรือ Charge Only ถ้าคุณจะซิงค์ผ่านตัวเครื่อง ให้เลือกไว้ที่ storage ถ้าต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์เป็น DAC ก็เลือกไปที่ DAC ตรงไปตรงมา หรือถ้าไม่ใช้งานทั้ง 2 ส่วนนั้นเลยก็เลือกที่ Charge Only เพื่อให้พอร์ตนี้ทำหน้าที่ชาร์จไฟให้ตัวเครื่องเพียงอย่างเดียวก็ได้ครับ
'Digital Filter' มีให้เลือก 2 ค่า ถ้าเอาที่เสียงดีกว่า ผมแนะนำเป็น 'Slow Roll-off' ครับ
'USB Settings' เป็นการตั้งค่าว่าจะใช้พอร์ต micro USB ของเครื่องทำหน้าที่ในโหมดใดระหว่าง storage, DAC หรือ Charge Only ถ้าคุณจะซิงค์ผ่านตัวเครื่อง ให้เลือกไว้ที่ storage ถ้าต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์เป็น DAC ก็เลือกไปที่ DAC ตรงไปตรงมา หรือถ้าไม่ใช้งานทั้ง 2 ส่วนนั้นเลยก็เลือกที่ Charge Only เพื่อให้พอร์ตนี้ทำหน้าที่ชาร์จไฟให้ตัวเครื่องเพียงอย่างเดียวก็ได้ครับ
'Digital Filter' มีให้เลือก 2 ค่า ถ้าเอาที่เสียงดีกว่า ผมแนะนำเป็น 'Slow Roll-off' ครับ
ด้านซ้ายมือ 'My Music' จะเป็นส่วนที่ใช้เข้าถึงเพลงที่เราใส่ไว้ใน storage ต่างๆ ทั้งที่อยู่กับเมมมอรี่ในตัวเครื่อง, SD card หรือ storage ที่ต่อพ่วงอยู่กับสาย OTG
สำหรับการใช้งานเป็น USB DAC ไม่ทราบว่าด้วยสาเหตุอะไร เมื่อผมลองต่อมันกับคอมพิวเตอร์ไม่ว่าจะเป็น Windows (ที่ติดตั้งไดรเวอร์จากเวบของ iBasso แล้ว) หรือ Mac ก็ยังมองไม่เห็นมัน ผมเลยยังไม่มีโอกาสได้ลองในส่วนนี้ครับในระหว่างการรีวิวผมมีโอกาสได้อัพเดตเฟิร์มแวร์ของเครื่องถึง 2 ครั้ง แสดงถึงความเอาใจใส่ในการปรับปรุงคุณภาพของสินค้า ไม่ใช่ซื้อแล้วจบกัน ไปผจญเวรกรรมกันเอาเอง ครั้งแรกกับเฟิร์มแวร์ v2.0.5 ให้มันรองรับไฟล์ DSD แก้ไข bug เล็กๆ น้อยๆ และเพิ่มคุณสมบัติบางอย่างเข้ามา ล่าสุดกับเฟิร์มแวร์ v2.1.0 ก็ปรับปรุงจากเดิมขึ้นมาอีกเล็กน้อย
ข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่ส่วนตัวผมคิดว่ามันน่าจะทำได้ดีกว่าก็มีอยู่บ้างเข่น จอทัชสกรีนที่บางครั้งเวลากดแล้วยังใช้เวลาคิดอยู่ประมาณครึ่งวินาที ก่อนที่จะยอมทำงาน อีกเรื่องคือ การเรียงแทรคที่เรียงตามชื่อเพลง ไม่ได้เรียงตามเลขแทรคจริงๆ เช่น ชื่อเพลงที่มีแทรคนำหน้าอย่าง 1, 2, 3,..,10, 11 จะเรียงเพลงเป็น 1, 11, 12, 2, 3 เป็นต้น แต่ถ้าชื่อเพลงมีเลขแทรคนำหน้าเป็น 01, 02, 03, ... อย่างนี้จะไม่มีปัญหา
ความเห็นเมื่อได้ฟังหลังจากนั้น
ผมว่าเรื่องคุณภาพเสียงนี่ล่ะครับที่เป็นจุดขายสำคัญของ DX90 ความจริงก่อนจะมาฟัง DX90 ผมมีโอกาสได้ลองฟัง DX50 ก่อนอยู่พักหนึ่ง ลำพังแค่ DX50 ที่ราคาขายอยู่ที่แปดพันกว่าบาท ผมลองฟังทีแรกแล้วก็คิดว่ามันเสียงดีเอาเรื่องแล้วนะครับ อย่างน้อยดีกว่าฟังจากไอโฟนสีเอสของผมแบบเพียวๆ แน่นอน ต่อให้ใช้แอพเทพอย่าง Onkyo HF Player แล้วก็เถอะ ภาคขยายหูฟังมันสู้กันไม่ได้จริงๆ พอได้มาฟัง DX90 ก็ยิ่งทิ้งกันไปไกลเลย
ขณะที่ DX50 เด่นที่เสียงกลางและแหลม ภาพรวมของเสียงมีบาลานซ์ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ได้เพิ่มมาเมื่อฟัง DX90 คือความนิ่ง ความแน่นอนมั่นคงของแต่ละเสียง เหมือนนักร้องร้องด้วยความมั่นใจมากขึ้น นักดนตรีก็เล่นด้วยความมั่นใจมากขึ้น เวทีเสียงกว้างขวางเป็นอิสระ การให้รายละเอียดและน้ำหนักของเสียงทุ้มน้ำหนักดีมาก แน่น กระชับและได้เนื้อได้หนัง ฟังเพลงได้ทุกแนว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้เล่นจากไฟล์เสียงคุณภาพสูง จำพวกไฟล์ high-resolution ทั้งหลายที่บันทึกเสียงมาดีเยี่ยมแล้วล่ะก็ คุณภาพเสียงที่ได้จาก DX90 สามารถทำให้ผมฟังแล้วอึ้งและทึ่งในสิ่งที่เครื่องเล่นไซส์มินิตัวนี้ทำได้ทุกครั้งไป
ในการเล่นไฟล์ PCM high-res มันเล่นได้ถึง 24bit/192kHz สเปคนี้ต่อให้ DAC เครื่องบ้าน ถ้าไม่ใช่รุ่นออกใหม่แล้วล่ะก็บอกเลยว่ายากที่จะกินเจ้าตัวนี้ได้ง่ายๆ สุ้มเสียงที่มันให้ออกมา ถ้าตัวไฟล์เพลงไม่ใช่ตัวปัญหาซะเองแล้วล่ะก็มันเป็นเสียงที่ฟังยังไงก็ถูกต้องน่าฟังไปหมดล่ะครับ ฟังได้ตั้งแต่เพลง pop เก่าๆ ของ James Taylor จนถึงเพลงอิเล็กทรอนิกส์มันๆ ของ Daft Punk เพลงคลาสสิกที่บรรเลงด้วยวงซิมโฟนีออเคสตร้ามันก็ไม่เกี่ยง สำหรับเพลงของพวกหูเหล็กทั้งหลาย DX90 บอกเลยว่า 'ขนมกรุบ' เรี่ยงแรงและลำหักลำโค่นในการปลดปล่อยรายละเอียดต่างๆ ออกมาของเขาให้มาเหลือเฟื่อจริงๆ ถ้าหูฟังของคุณไม่ได้เข้าขั้นโหดมหาหินอย่าง HiFiMAN HE-6 อะไรเทือกนี้นะ
เฟิร์มแวร์ล่าลุดทำให้ DX90 สามารถเล่นไฟล์ฟอร์แมต DSD ได้ด้วยครับ แต่ไม่ใช่การเล่นแบบถอดรหัสโดยตรงหรือ native conversion แต่จะมีการแปลงสัญญา่ณ DSD ให้เป็น PCM 24bit/88.2kHz เสียก่อน (ตามข้อมูลที่โชว์บนหน้าจอระหว่างเล่น) การเล่นในลักษณะนี้ DAC หรือ DAP บางตัวทำได้ไม่ดีนัก คุณภาพเสียงทีไ่ด้ดรอปไปมาก แต่กับ DX90 ผมถือว่ามันทำได้น่าประทับใจ ยังหลงเหลือเสน่ห์และความสวยงามของเสียงที่ได้จากฟอร์แมต DSD เอาไว้ให้ฟังอีกเยอะพอสมควร ฟังแล้วยังเพลินหู เพลินอารมณ์ได้อยู่ อนึ่งมันรองรับเฉพาะ DSD64 หรือไฟล์ 1bit/2.8224 MHz เท่านั้นนะครับ ผมลองเล่นไฟล์ DSD128 ปรากฎว่ามันก็ยอมเล่นครับ แต่สปีดเสียงเพี้ยนแบบหน่วงช้าไปจนฟังไม่ได้เลย
ความเห็นโดยสรุป
ถ้าความหมายของเครื่องเล่นเพลงที่ดีคือ อุปกรณ์ที่ทำให้เราอยากฟังเพลงมากขึ้น อยากแบ่งปันเวลาจากกิจกรรมอื่นๆ เพื่อมาสร้างความสุขด้วยการฟังเพลงบ่อยขึ้น ผมบอกได้เลยครับว่า iBasso DX50 คือเครื่องเล่นเพลงที่ดีและมีราคาถูกที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังมาทั้งชีวิต
แต่ถ้าคุณมีเงินเหลือมากกว่านั้นและต้องการอะไรที่ประสิทธิภาพเหนือกว่า เสียงดีกว่า หรือคุ้มค่ากว่านั้น DX90 อาจจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่น่าจะลงทุนน้อยที่สุดในบรรดาเครื่องเล่นประเภท DAP แบบชิ้นเดียวในเวลานี้ก็ได้นะครับ