วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

รุ่งอรุณแห่ง High-Resolution Audio (HRA) ตอนที่ 1


“ยอดจำหน่ายแผ่นซีดีตกกราวรูด สวนทางกับยอดดาวน์โหลดเพลงออนไลน์”
“ปิดแล้วร้านขายแผ่นซีดีชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก”
“ปิดเพิ่มโรงงานผลิตแผ่นซีดี ยอมรับออเดอร์หายมากกว่าครึ่ง”
“ลาก่อนสื่อบันทึกเสียง ข้อมูลวิจัยเผยคนรุ่นใหม่ฟังเพลงจากไฟล์ดิจิตอล”
“โซนี่เปิดตัวเครื่องเล่น Hi-Res Audio”
“ข่าวลือ iOS 8 จะเล่นไฟล์ Hi-Res Audio ได้”
“Neil Young PonoMusic/Player สำหรับการฟังเพลงดิจิตอลรายละเอียดสูง”

ทั้งหมดนั้นคือข่าวคราวความเคลื่อนไหวสำคัญที่น่าจับตามองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการพัฒนาของระบบเสียงดิจิตอลและทิศทางของอุตสาหกรรมเพลงในปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคต ถ้าได้ติดตามข่าวมาอย่างต่อเนื่องหรือมีประสบการณ์ได้สัมผัสใกล้ชิดด้วยตัวเอง คุณคงพอจะมองออกว่ารูปร่างหน้าตาของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้จะเป็นเช่นไร อย่างน้อยผมเชื่อว่าหลายคนอาจจำไม่ได้แล้วว่าได้ซื้อแผ่นซีดีเพลงครั้งสุดท้ายตั้งแต่เมื่อไร

แต่นั่นไม่ใช่เพราะว่าเราฟังเพลงกันน้อยลง ที่จริงแล้วมันอาจจะเป็นตรงกันข้ามต่างหาก...

ด้วยกระแสวิวัฒน์แห่งเทคโนโลยีในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้ว่าความพอใจในการเข้าถึงการเสพดนตรีผ่านสื่อบันทึกเสียงของเรา ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่ได้นาน นับตั้งแต่วันที่เรารู้จักวิธีการเก็บบันทึกเสียง (Sound Recording) แล้วนำกลับมาเปิดฟังในภายหลัง (Sound Reproduction) มนุษย์เราก็ได้นำมันมาประยุกต์ใช้กับการบันทึกเสียงเพลง เสียงดนตรี และได้พยายามหาทาง ‘ยกระดับ’ มันมาโดยตลอด

ทำอย่างไรให้มันเสียงดีขึ้น มีความสมจริงมากขึ้น
ทำอย่างไรให้มันเข้าถึงหรือเล่นได้ง่ายขึ้น
ทำอย่างไรให้มันเข้ามามีส่วนร่วมในการดำรงชีวิตของเราได้อย่างกลมกลืนมากขึ้น

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทั้งหมดนั้นคือโจทย์ที่ท้าทายเรามาโดยตลอดครับ จากยุคระบบ
เสียงอะนาล็อก สู่ยุคระบบเสียงดิจิตอลในปี ค.ศ.1982 กับคอมแพ็คดิสก์หรือซีดี ระบบเสียงดิจิตอลที่เคยได้ชื่อว่า ‘Perfect Sound Forever’ ตั้งใจทำออกมาเพื่อ ‘ฆ่า’ แผ่นเสียง LP ราชาแห่งระบบเสียงอะนาล็อกสำหรับมหาชนในยุคนั้นโดยเฉพาะ

ทว่าในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่คอมแพ็คดิสก์สามารถเอาชนะได้อย่างเด็ดขาดในเวลานั้นก็มีเพียงแค่ด้านการใช้งาน ทว่าสิ่งที่แผ่นเสียง LP ยังคงเป็นหนามยอกอกซีดีมาตลอด 30 กว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือ ‘ความน่าอภิรมย์ในการฟัง’ หรือ ‘Sound Quality’ นั่นเอง

แต่ก็ใช่ว่าเหล่าผู้พัฒนาดิจิตอลออดิโอเขาจะอยู่เฉยนิ่งนอนใจนะครับ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาดิจิตอลออดิโอได้ผ่านการปรับปรุงพัฒนาตลอดจนการลองผิดลองถูกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการใช้งานหรือในด้านคุณภาพเสียง ดิจิตอลออดิโอในวันนี้กับเมื่อวันวานแม้จะเป็นฟอร์แมตเดิมๆ อย่างซีดี ก็มีคุณภาพที่แตกต่างกันมาก

เท่านั้นยังไม่พอครับเมื่อเหล่าผู้พัฒนาดิจิตอลออดิโอได้เล็งเห็นแล้วว่าการพัฒนาซีดีคงเดินมาจนถึงทางตันแล้วจึงได้นำเสนอดิจิตอลออดิโอในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งว่ากันว่า ทันสมัยกว่า, เข้าถึงและใช้งานได้ง่ายกว่า และที่สำคัญที่สุดคือ มันถูกกล่าวอ้างว่าจะให้ ‘ความน่าอภิรมย์ในการฟัง’ ได้มากกว่า พวกเขาเรียกมันอย่างเป็นทางการว่า High-Resolution Audio หรือ Hi-Res Audio หรือย่อให้สั้นลงไปอีกว่า ‘HRA’

แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับ HRA ผมว่าเราน่าจะลองย้อนอดีตกลับไปดูลำดับการพัฒนาจากอดีตมาสู่ปัจจุบันกันสักหน่อยนะครับ



Timeline
1877 : Wax Cylinder (Phonograph Cylinder)
1888 : Gramophone Disc
1895 : Gramophone Disc (Shellac)
1906 : Celluloid Cylinder
1928 : Magnetic Tape
1948 : Vinyl Record (Long Play, LP)
1963 : Compact Cassette Tape
1982 : Compact Disc
1991 : MiniDisc/ATRAC
1993 : MP3
1999/2000 : SACD, DVD-Audio
2001-2003 : iPod/iTunes DRM
2014 : High-Resolution Audio



From Lo-Fi to Hi-Fi (1877-1948)
จากบันทึกแต่โบราณ กระบวนการ Sound Recording และ Sound Reproduction เสียงดนตรีอย่างเป็นทางการน่าจะเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1877 กับสื่อบันทึกเสียงที่เรียกว่า Wax Cylinder (Phonograph Cylinder) พัฒนามาจากสิ่งประดิษฐ์ของโธมัส อัลวา เอดิสัน มีลักษณะเป็นทรงกระบอกดูคล้ายแกนกระดาษทิชชู่ การบันทึกเสียงลงไปก็แค่แปลงพลังงานไฟฟ้าไปเป็นพลังงานกล หมุนวนเซาะผิวกระบอกให้เป็นร่องไปตามการสั่นสะเทือนของเสียง เวลาจะเล่นกลับ (playback) ก็แค่ย้อนกระบวนการทั้งหมดก็จะได้เป็นเสียงกลับออกมา

ในยุคนั้นนี่คือสิ่งประดิษฐที่น่าตื่นเต้นที่สุดชิ้นหนึ่ง อย่างไรก็ดีมันยังให้เสียงที่ห่างไกลจากคำว่าไฮไฟ และมีข้อด้อยในเรื่องความทนทานเพราะสามารถเล่นกลับได้ประมาณ 100 ครั้งเท่านั้นเอง ในปี 1906 ได้มีการพัฒนาไปใช้วัสดุประเภทเซลลูลอยแทนวัสดุประเภทไขซึ่งก็มีความคงทนมากขึ้น แต่คุณภาพเสียงก็ยังไม่แตกต่างกันมากนัก

เอมิลี เบอร์ลินเนอร์กับสิ่งประดิษฐ์ของเขา

ในปี 1888 เป็นครั้งแรกที่เสียงถูกบันทึกลงบนสื่อแบบจานกลม (ถือว่าเป็นแผ่นเสียงยุคแรกๆ) จากการคิดค้นของนักประดิษฐ์ชื่อคุณเอมิลี เบอร์ลินเนอร์ (Emile Berliner) กระบวนการบันทึกและเล่นกลับก็อาศัยหลักการคล้ายกับ Wax Cylinder เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้สื่อบันทึกเป็นแบบแผ่นจานกลมแบนที่ทำจากวัสดุประเภทยาง คุณภาพเสียงก็ยังคงไม่เข้าขั้นไฮไฟ ความคงทนก็ยังไม่ค่อยดีนัก ในปี 1895 วัสดุยางได้ถูกเปลี่ยนไปใช้วัสดุประเภทครั่ง (shellac) แทนจานเสียงชนิดนี้ทำงานที่รอบหมุนประมาณ 78 รอบต่อนาที (rpm)

ในปี 1928 สื่อบันทึกเสียงชนิดใหม่ชื่อว่า Magnetic Tape ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยฝีมือของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เดิมทีสิ่งประดิษฐ์ชนิดนี้ถูกใช้ในกิจการของทหารเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาถึงถูกพัฒนาจนกลายเป็นสื่อบันทึกเสียงชิ้นแรกที่มีคุณสมบัติดีพอสำหรับระบบเสียงแบบไฮไฟสเตอริโอ จุดเด่นคือผู้ใช้สามารถบันทึกได้ (recordable) และให้คุณภาพเสียงที่ดี มันมีจุดด้อยคือขนาดที่ใหญ่โตเทอะทะและการดูแลรักษาที่ไม่ง่ายนัก อีก 35 ปีต่อมาวิศวกรของบริษัท Philips ก็ได้ทำให้มันมีขนาดเล็กลง ใช้งานได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง แต่ก็ต้องแลกกับคุณภาพเสียงที่ด้อยลงด้วย ทว่าข้อดีของมันยังมากพอที่จะทำให้มันแพร่หลายไปทั่วโลก เราเรียกมันว่า Compact Cassette Tape หรือเทปคาสเส็ตที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันนั่นเอง ต่อมา Sony ได้นำไปพัฒนาให้พกพาได้และให้ชื่อมันว่า วอล์คแมน (WalkMan)

Sony Walkman
อีก 20 ปีถัดมาสื่อบันทึกเสียงแบบจานหมุนแบนๆ ก็ได้ถูกพัฒนาไปอีกลำดับขั้นโดยบริษัทผู้ผลิตงานเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง Columbia Records ในปี 1948 ตัวแผ่นเปลี่ยนจากวัสดุครั่งไปเป็นพลาสติกสมัยใหม่ในเวลานั้นนั่นคือไวนิล (Vinyl Record) ระบบการใส่ข้อมูลลงบนแผ่นยังคงเป็นลักษณะของการเซาะร่องเสียง (analog groove modulation) มีความกว้างของร่องที่แคบลง คุณภาพและความคงทนของวัสดุไวนิลมีส่วนทำให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีขึ้นด้วย (ไฮไฟ) แผ่นเสียงไวนิลหมุนที่ความเร็วต่ำลง (33 1/3 rpm ต่อมาจึงมีการพัฒนาให้มีที่ 45 rpm ด้วย) และสามารถเล่นได้นานขึ้น จึงเป็นที่มาของคำว่า Long Play หรือ LP ปัจจุบันแผ่นเสียงไวนิลน่าจะเป็นฟอร์แมตบันทึกเสียงอะนาล็อกไฮไฟเพียงหนึ่งเดียวของยุคนั้นที่ยังมีลมหายใจอยู่มาจนถึงทุกวันนี้



The Beginning of the Digital Age (1982)
หลังจากปล่อยให้แผ่นไวนิลครองตำแหน่งขวัญใจมหาชนคนฟังเพลงมาหลายทศวรรษ ในปี 1982 สองบริษัทผู้นำด้านอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ในเวลานั้นอย่างบริษัท Sony และ Philips ก็นำเสนอ ‘คอมแพ็คดิสก์’ (Compact Disc, CD) นวัตกรรมสื่อบันทึกเสียงเพลงชนิดใหม่ที่ทำให้โลกได้รู้จักกับคำว่าระบบเสียงดิจิตอล ซึ่งว่ากันว่ามันถูกสร้างมาเพื่อฆ่าแผ่นไวนิลโดยเฉพาะ

ด้วยลักษณะทางกายภาพที่แม้ว่าจะเป็นแผ่นจานเสียงกลมๆ แบนๆ เหมือนกันกับ LP แต่คอมแพ็คดิสก์ได้รับการโปรโมตด้วยคุณสมบัติที่มีข้อได้เปรียบเหนือกว่ามากมาย ไม่ว่าจะด้วยขนาดแผ่นที่เล็ก บาง และเบากว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 120 มม. เท่านั้นและจุเพลงได้นานถึง 74 นาที, การอ่านข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ที่ไม่ทำให้แผ่นสึกหรอ ไม่มีเสียงรบกวนทางกลไก, ไม่มีปัญหาความเร็วรอบหมุนเพี้ยน (wow & flutter) ตลอดจนการควบคุมสั่งงานที่ง่ายกว่าแถมยังมีตัวเลขสเปคฯ ต่างๆ ทั้งด้านไฟฟ้าและคุณสมบัติทางไฟฟ้าที่เหนือกว่ากันมาก ดังนั้นครั้งแรกที่ได้เห็นการมาของ ‘คอมแพ็คดิสก์’ จึงไม่แปลกที่จะมีคนคิดว่า “ถึงเวลาอวสานของแผ่นไวนิลแล้วสินะ”

แม้ว่าคอมแพ็คดิสก์ที่มาพร้อมกับความละเอียดหรือ resolution ของสัญญาณในระดับ 16bit/44.1kHz จะประสบความสำเร็จเป็นที่นิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา แต่แผ่นไวนิลก็ยังไม่ถึงคราวอวสานไปตามคาด เพราะถ้ายกเรื่องขนาดแผ่นและความสะดวกในการใช้งานออกไปแล้ว สิ่งที่คอมแพ็คดิสก์ยังไม่สามารถเอาชนะแผ่นไวนิลได้อย่างเด็ดขาดชัดเจนนั่นก็คือเรื่องของคุณภาพเสียง อย่างที่ได้เรียนไปแล้วในข้างต้น

ในระหว่างนั้นเองเทคโนโลยีดิจิตอลก็ยังคงพัฒนาต่อไปหากแต่ไม่ได้มุ่งเน้นที่คุณภาพเสียงเป็นหลัก การนำเสนอฟอร์แมตใหม่ของโซนี่ที่มีชื่อเรียกว่ามินิดิสก์ (MD) ใหม่หมดทั้งตัวฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ MD ถูกเข็นออกมาเพื่อข่มซีดีด้วยจุดเด่นในด้านขนาด การบันทึกที่ผู้ใช้สามารถทำเองได้ง่ายกว่า แถมยังอ้างว่าได้คุณภาพเสียงเทียบได้กับซีดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว MD ถูกติเตียนหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ารหัสแบบ ATRAC ซึ่งมีการสูญเสียของข้อมูลและคุณภาพเสียง (lossy compression) ทำให้คุณภาพเสียงไม่ดีอย่างที่คุยไว้ หรืออัลบั้มเพลงในฟอร์แมต MD ที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นมันจึงประสบความสำเร็จในญี่ปุ่นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลกเหมือนซีดี ก่อนจะค่อยๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา



File-based music (1993-present)
เกิน 1 ช่วงทศวรรษหลังจากผ่านพ้นช่วงให้กำเนิดระบบเสียงดิจิตอล คอมแพ็คดิสก์ก็ได้แพร่หลายไปทั่วโลก มันได้รับการปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จนเสียงบ่นเรื่องคุณภาพเสียงของมันเริ่มบรรเทาเบาบางลง ในโลกไฮไฟมันเริ่มเป็นที่ยอมรับบ้างแล้วในระดับหนึ่ง (แต่ก็ยังเป็นรองแผ่นไวนิล)

ระหว่างนั้นเองการพัฒนาของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ก็ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับดิจิตอลออดิโอ ในปี 1993 เป็นครั้งแรกที่การฟังเพลงเริ่มไม่ยึดติดอยู่กับสื่อเก็บบันทึกที่จับต้องได้หรือ Physical Media อีกต่อไป การมาของเทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบบีบอัดสัญญาณที่มีชื่อเรียกว่า MP3 (MPEG-1/MPEG-2 Audio Layer III) ทำให้เราได้รู้จักการฟังเพลงในระบบดิจิตอลด้วยการเล่นกลับ (playback) จากไฟล์เสียงได้โดยตรง

MP3 ถูกคิดค้นขึ้นโดยกลุ่มนักพัฒนาที่เรียกตัวเองว่า Moving Picture Experts Group หรือ MPEG เป็นการรวมตัวของทีมวิศวกรจากหลายหน่วยงานนำโดย Fraunhofer IIS, University of Hannover, AT&T-Bell Labs, Thomson-Brandt, CCETT

จุดเด่นของ MP3 คือไฟล์ที่มีขนาดเล็กลงโดยอาศัยกระบวนการลดทอนข้อมูลตามหลักการทางไซโคอะคูสติก ทำให้การจัดเก็บข้อมูลไฟล์สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีบทบาทสำคัญกับงานในหลายแขนงที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไฟล์เสียงที่เน้นด้านประสิทธิภาพของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลมากๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบเพลงออนไลน์อย่างอินเตอร์เน็ตเรดิโอ หรือเครื่องเล่น MP3 แบบพกพาที่สามารถออกแบบให้มีขนาดเล็กมากจนสามารถพกใส่กระเป๋าเสื้อได้

อย่างไรก็ดีแม้ว่า MP3 จะถูกนำไปใช้ประโยชน์มากมายและยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่เคยถูกยกย่องในแง่ของคุณภาพเสียงเลย การเข้ารหัสสัญญาณมีการบีบอัดของข้อมูลอย่างมาก (แม้แต่ที่บิทเรตระดับสูงอย่าง 320kbps) ทำให้คุณภาพเสียงที่ได้นั้นด้อยลงเป็นเงาตามตัวไปด้วย ในแง่ของคุณภาพเสียงแล้วมันจึงยังเป็นรองฟอร์แมตซีดีอยู่หลายขุม

กระทั่งอีกเกือบหนึ่งทศวรรษต่อมาเครื่องเล่น MP3 ธรรมดาๆ ก็ได้รับการพัฒนาไปเป็น iPod เครื่องเล่นพกพาของบริษัท Apple Inc. ที่มิได้เพียงแค่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับส่วนของฮาร์ดแวร์ แต่ยังได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับระบบขายเพลงแบบออนไลน์ด้วย กับการให้กำเนิดของ iTunes Music Store ร้านขายเพลงออนไลน์ของ Apple ที่มีระบบจำกัดสิทธิของผู้ใช้หรือ Digital Right Management (DRM) ใส่มาในไฟล์เพลงคอยทำหน้าที่ปกป้องเพลงที่ขายจากการถูกคัดลอก เป็นผลให้อุตสาหกรรมเพลงกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง



High-Resolution Audio บนสื่อบันทึกเสียงที่จับต้องได้ (1999-present)
นับตั้งแต่คอมแพ็คดิสก์เข้ามามีบทบาทเป็นฟอร์แมตเพลงดิจิตอลสำหรับมหาชนตั้งแต่ปี 1982 ก็ต้องใช้เวลาอีกกว่าสองทศวรรษกว่าจะมีฟอร์แมตเพลงดิจิตอลใหม่ที่ตั้งใจทำออกมาให้มีคุณภาพเสียงเหนือกว่า แต่ก็ถือว่าคุ้มกับการรอคอยเพราะฟอร์แมตใหม่ที่มาพร้อมกับ High-Resolution Audio นั้นมาพร้อมกัน 2 ฟอร์แมตในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ Super Audio Compact Disc (SACD) และ DVD-Audio (DVD-A)

Sony SCD-1 เครื่องเล่น SACD รุ่นแรกของโลก
ทั้ง SACD และ DVD-A ยังคงเป็นฟอร์แมตที่ต้องอาศัยสื่อเก็บข้อมูลในลักษณะ Optical Disc หรือแผ่นจานกลมอ่านข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ ขนาดทางกายภาพก็ใกล้เคียงกับแผ่นซีดีแต่มีความจุข้อมูลต่อแผ่นมากกว่าและมีรายละเอียดทางเทคนิคอื่นๆ ที่สลับซับซ้อนกว่าฟอร์แมตซีดี ทั้งคู่เป็นฟอร์แมตที่มีข้อมูลสัญญาณเสียงหรือ resolution เหนือกว่าแผ่นซีดีไปมากเนื่องจากทั้งสองฟอร์แมตเกิดใหม่ต่างถูกออกแบบมาเพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘คุณภาพเสียง’ ที่เหนือกว่า 16bit/44.1kHz ในแผ่นซีดีไปอีกหลายเท่า

ฟอร์แมต DVD-Audio พัฒนาขึ้นโดยกลุ่ม DVD Forum โดยนำพื้นฐานของ DVD-Video มาประยุกต์ใช้และเน้นที่ระบบเสียงมากกว่าระบบวิดีโอ ตัวสัญญาณข้อมูลยังคงเป็นฟอร์แมต PCM เหมือนกับแผ่นซีดีแต่มี resolution สูงกว่า นั่นคือสูงสุดที่ 24bit/192kHz รองรับระบบเสียงทั้งสเตอริโอและมัลติแชนเนล โดยอาศัยเทคนิค MLP (Meridian Lossless Packing) หรือ Uncompessed Linear PCM ในการเข้ารหัสสัญญาณข้อมูล

สำหรับ SACD นี่คือผลงานความร่วมมือกันอีกครั้งของ Sony และ Philips แต่พวกเขากลับไม่ใช้ฟอร์แมตเสียงแบบ PCM เหมือนที่เคยใช้ในซีดีแล้วหันไปใช้ฟอร์แมตเสียงแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Direct Stream Digital หรือ DSD’ ที่มี resolution อยู่ที่ 1bit/2.8224MHz แทน โดยโปรโมตว่า DSD มีกระบวนการขั้นตอนในการเข้ารหัส (encoding) จนถึงการถอดรหัสสัญญาณ (decoding) ที่น้อยกว่า ส่งผลให้สัญญาณมีความเที่ยงตรงแม่นยำกว่า มีความผิดเพี้ยนของกระบวนการเข้ารหัสและถอดรหัสต่ำกว่า

SACD เป็นฟอร์แมตที่รองรับทั้งสัญญาณเสียงสเตอริโอและมัลติแชนเนลเช่นกัน อีกทั้งยังมีฟอร์แมตแผ่น SACD ให้เลือกถึง 3 รูปแบบได้แก่

1. แผ่น Single Layer บันทึกมาเฉพาะสัญญาณ DSD เล่นได้กับเครื่องเล่น SACD เท่านั้น
2. แผ่น Dual Layer เป็นแผ่นที่มีชั้นข้อมูลความจุสูงซ้อนกันมาในแผ่นเดียว (คล้ายโคงสร้างของแผ่น DVD9) ในแผ่นบันทึกสัญญาณ DSD มาทั้ง 2 ชั้น เล่นได้กับเครื่องเล่น SACD เท่านั้น
3. แผ่น Hybrid เป็นแผ่นที่มีชั้นข้อมูลซ้อนกันมา 2 ชั้นเช่นกัน แต่ใส่ข้อมูลมาต่างกันในแต่ละชั้น ชั้นหนึ่งจะเป็นข้อมูลสัญญาณ DSD ส่วนอีกชั้นหนึ่งจะเป็นข้อมูลสัญญาณซีดี (PCM 16/44.1) สามารถนำไปเล่นกลับได้กับทั้งเครื่องเล่น SACD และเครื่องเล่นซีดี แต่อย่างหลังจะเล่นได้เฉพาะชั้นข้อมูลซีดีซึ่งให้คุณภาพเสียงเทียบเท่าซีดีเท่านั้น

ช่วงแรกของทั้งฟอร์แมต DVD-A และ SACD มีทีท่าว่าจะแพร่หลายพอสมควร ถ้าหากไม่ติดปัญหาอุปสรรคต่างๆ เสียก่อน อาทิ อัลบั้มเพลงที่ออกมาในฟอร์แมตเหล่านี้มีไม่มากหรือไม่น่าสนใจพอ, ฮาร์ดแวร์และแผ่นซอฟต์แวร์ที่ต้องลงทุนใหม่ในราคาที่สูงกว่าเครื่องเล่นซีดีและแผ่นซีดี, ความลังเลในการเลือกใช้ฟอร์แมตใดฟอร์แมตหนึ่ง, ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่าคุณภาพเสียงที่ได้จากทั้งสองฟอร์แมต ‘เหนือกว่า’ ซีดีมากพอจนคุ้มค่าการลงทุนในระยะยาว

ปัญหาเหล่านั้นต่อมาก็ได้ถูกปรับแก้ไปตามกาลเวลา เราได้เห็นเครื่องเล่นประเภทยูนิเวอร์แซลหรือเครื่องเล่นฟอร์แมตเหล่านั้นในราคาที่ย่อมเยาลงและมีคุณภาพที่ดีขึ้น มีอัลบั้มเพลงออกมาให้เลือกมากขึ้น แต่ทั้งหมดก็ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจมากพอที่จะทำให้ฟอร์แมตทั้งสองกลายเป็นฟอร์แมตสำหรับมหาชนได้ แถมฟอร์แมตอย่าง DVD-A ยังทำท่าจะไปต่อไม่ได้เอาเสียด้วย

อย่างไรก็ดีการมาของทั้ง DVD-A และ SACD ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามของเทคโนโลยีดิจิตอลออดิโอในการสร้างมาตรฐานใหม่ที่เหนือกว่าคอมแพ็คดิสก์ซึ่งมีอายุใช้งานมานานเกือบ 20 ปีแล้ว (ในเวลานั้น) ความพยายามในการสร้างมาตรฐานใหม่ที่เปิดกว้างในการใช้งานและให้คุณภาพเสียงที่เหนือกว่า แต่ทั้งสองฟอร์แมตก็ยังไม่หลุดพ้นจากความเป็นสื่อบันทึกเสียงที่จับต้องได้หรือ physical media ซึ่งนับวันจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยเข้าไปทุกทีในยุคที่โลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลและคอมพิวเตอร์



High-Resolution Audio สำหรับวันนี้และอนาคต
ตั้งแต่ที่โลกของเรามีโอกาสได้รู้จักเพลงในฟอร์แมตดิจิตอลต่างๆ ทั้งฟอร์แมตที่มีรายละเอียดต่ำหรือรายละเอียดสูง ทั้งฟอร์แมตที่ต้องอาศัยการเก็บบันทึกและเล่นกลับผ่าน physical media อย่างแผ่น optical disc หรือระบบ file-based ที่สามารถเล่นกลับได้โดยตรงจากตัวไฟล์เสียง การเสพงานดนตรีก็มีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น

เพลงในรูปแบบของ file-based ได้รับความนิยมแพร่หลายสวนทางกับฟอร์แมตที่จำเป็นต้องอาศัย physical media การฟังเพลงจากไฟล์เสียงดิจิตอลเป็นอะไรที่แพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเนื่องจากมันสามารถตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ได้อย่างลงตัวโดยปราศจากข้อโต้แย้ง

อย่างไรก็ดีการฟังเพลงจากไฟล์เสียงดิจิตอล ก็ยังถูกตั้งคำถามมาตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มคนที่พิถีพิถันเรื่องคุณภาพเสียงว่า “โอเค…เล่นจากไฟล์ง่ายดี สะดวกดี แล้วคุณภาพเสียงล่ะ?”

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาอีกกระแสหนึ่งในโลกของคนเล่นเครื่องเสียงไฮไฟที่คืบคลานมาอย่างช้าๆ แต่มาเรื่อยๆ ไม่มีหยุดนั่นคือ ‘ไฟล์เสียงดิจิตอลรายละเอียดสูง’ หรือ ‘High-Resolution Audio’ เป็นการรวมเอาจุดเด่นของ file-based music และฟอร์แมตรายละเอียดสูงของ DVD-A และ SACD มาสานต่อและพัฒนาจนทำให้เราสามารถเล่นไฟล์เสียงดิจิตอลที่มีรายละเอียดสูงได้โดยตรง ไม่ต้องอาศัยสื่อบันทึกประเภท physical media ทำหน้าที่เป็นตัวกลางอีกต่อไป ฟอร์แมตที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูงก็คือฟอร์แมต PCM 24bit ที่มี sample rate ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ 44.1kHz เป็นต้นไปถึง 192kHz

High-Resolution Audio (HRA) ในปัจจุบันได้ถูกพัฒนามาจนถึงจุดที่ได้รับการคาดหมายกันแล้วว่า นี่จะเป็นฟอร์แมตของการฟังเพลงสำหรับปัจจุบันและอนาคต มีให้เลือกฟังได้ตั้งแต่ไฟล์ที่เข้ารหัส PCM รายละเอียดสูงซึ่งปัจจุบันตั้งเป้าให้เกิน 24bit/192kHz ไปอีก เช่น 32bit/384kHz หรือที่ sample rate สูงกว่านั้นอีกเท่าตัวกับฟอร์แมต DXD (Digital eXtreme Definition)






หรือว่าจะเป็นอีกฟอร์แมตไฟล์เสียงที่เข้ารหัส DSD มาเช่นเดียวกับที่อยู่ในแผ่น SACD แต่คราวนี้ทำมาเป็นไฟล์เสียงให้เล่นกลับได้โดยตรง ไม่ต้องเปิดจากแผ่น SACD เหมือนเช่นเคย มีทั้งไฟล์ DSD64 ที่มี sample rate เทียบเท่าแผ่น SACD คือ 1bit, sample rate เป็น 64 เท่าของซีดี คือ 44.1kHz คูณ 64 ได้เท่ากับ 2.8224MHz หรือเป็นไฟล์ DSD128, DSD256 ซึ่งเป็นสัญญาณ 1bit เช่นกันแต่มี sample rate สูงขึ้นไปอีกทีละเป็นเท่าตัวคือ 5.6448MHz และ 11.2896MHz ตามลำดับ

High-Resolution Audio มิได้พัฒนาไปเฉพาะด้านซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียวนะครับ แต่ทางด้านฮาร์ดแวร์ก็ขยับควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่ม USB DAC สำหรับต่อเล่นกับคอมพิวเตอร์, เครื่องเล่นประเภท Network Audio Streamer หรือกลุ่มเครื่องเสียงพกพาสำหรับ HRA โดยเฉพะที่มีให้เลือกใช้งานตั้งแต่สมาร์ทโฟน+แอพฯต่อเล่นกับ DAC/AMP ตัวเล็กๆ หรือจะเป็นกลุ่มเครื่องเล่นประเภท Digital Audio Player (DAP) ซึ่งเป็นกระแสที่กำลังมาแรงแซงทางโค้งอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้นช่วงเวลานับจากนี้ไปจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการพิสูจน์ตัวเองอย่างยิ่งของ High-Resolution Audio ว่าจะสามารถเอาชนะใจผู้บริโภคที่ชื่นชอบการเสพงานเพลง งานดนตรี ได้หรือไม่ ตัวระบบเองทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จะสามารถแสดงจุดเด่นของความเป็น High-Resolution Audio ออกมาได้เหนือกว่าดิจิตอลออดิโอแบบอื่นๆ อย่างชัดเจนได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่รอท้าทายการพิสูจน์อย่างยิ่งครับ