วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

Review - iFi Audio nano iDSD


เมื่อหลายเดือนก่อนมีสินค้าตัวหนึ่งที่ผมได้เห็นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตครั้งแรกแล้วต้องขยี้ตาดูให้ชัดว่าไม่ได้ตาฝาดไป ขยี้ตาครั้งแรกตรงคุณสมบัติที่บอกว่ามันเป็น DAC/AMP ที่รองรับไฟล์ high resolution audio ได้กว้างและครอบคลุมฟอร์แมตไฟล์ได้มากในระดับที่ผมแทบไม่เคยเห็นใน DAC ทั่วไปมาก่อน ขยี้ตาอีกครั้งก็ตอนเห็นราคาค่าตัวของมันนี่แหละครับ... แม่เจ้า! มันถูกกว่าสาย USB ที่ผมใช้อยู่เสียอีก



‘Native PCM/DXD/DSD’ in the box!

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้รับทราบข้อมูลมาว่าผู้ผลิตเครื่องเสียง/อุปกรณ์ดิจิตอลไฮไฟยี่ห้อ ไอไฟออดิโอ (iFi Audio) เขาได้เขย่าวงการดิจิตอลออดิโอโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องระดับ entry level อีกแล้ว ด้วยการเปิดตัว DAC/AMP พกพาตัวเล็กๆ ออกมารุ่นหนึ่งโดยใช้ชื่อรุ่นว่า นาโน ไอดีเอสดี (nano iDSD)

หลังจากนั่งอ่านรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับเจ้า nano iDSD ผมจำได้ว่าสิ่งแรกที่ทำคือการสอบถามไปยัง Jet Live Audio ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าของ iFi ในประเทศไทยเพื่อติดต่อขอยืมสินค้ารุ่นนี้มาทำการรีวิว แต่ในคราวนั้นผมก็ต้องผิดหวังเนื่องจากตัวสินค้าจากต่างประเทศยังไม่ถึงคิวส่งมาบ้านเรา คือถ้าเขาให้เหตุผลว่ามันขายดีจนผลิตไม่ทันผมก็เชื่อนะครับ เพราะจากข้อมูลที่ได้ทราบมา DAC/AMP พกพาตัวนี้มีคุณสมบัติควรค่าแก่การ ‘ตะครุบเอาไว้ก่อน’ ทุกประการ


nano iDSD เป็น DAC/AMP พกพาได้ไซส์มินิ แต่กลับมีคุณสมบัติและความสามารถดูยิ่งใหญ่เกินตัวอย่างเหลือเชื่อ ภาค DAC ของมันถูกออกแบบให้รองรับฟอร์แมตไฟล์ high-resolution audio ครบถ้วนทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น PCM, DSD หรือ DXD โดยใช้เทคโนโลยี ‘True Native’ และ ZeroJitter Lite จาก AMR Audio (ย่อมาจาก Abbingdon Music Research Audio เป็นบริษัทแม่ของ iFi)

สำหรับ resolution สูงสุดของสัญญาณเสียงแต่ละฟอร์แมตที่ nano iDSD สามารถรองรับได้คือ

- PCM 44.1-384kHz / 16-32bit
- DXD 352.8, 384kHz / 24bit
- DSD 2.8 (DSD64), 3.1 (DSD64), 5.6 (DSD128) และ 6.2MHz (DSD128) / 1bit

หัวใจสำคัญของเทคโนโลยี ‘True Native’ คือ การถอดรหัสการแปลงสัญญาณแบบ ‘native’ หมายความว่า ตัว nano iDSD เองสามารถรับสัญญาณแต่ละฟอร์แมตแต่ละ resolution เหล่านั้นเข้ามาทำการประมวลและถอดรหัสแปลงสัญญาณได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระบวนการ down sample/conversion เพื่อลดทอน resolution ลงมาก่อนแต่ประการใด

nano iDSD เป็น DAC/AMP ที่สามารถรับสัญญาณอินพุตได้แบบเดียวคือ สัญญาณดิจิตอลทางพอร์ต USB สามารถต่อใช้งานร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เล่นไฟล์เพลงได้โดยตรง หรือต่อใช้งานผ่านอะแดปเตอร์เพื่อเล่นเพลงจากอุปกรณ์ iPhone/iPad (ต่อผ่าน Camera Connection Kit) หรือเล่นเพลงจากอุปกรณ์ Android (ต่อผ่านสาย On The Go, OTG Adaptor)

นอกจากนั้น nano iDSD ยังมีภาคขยายหูฟังในตัวใช้เทคโนโลยี ‘DirectDrive’ จาก AMR Audio อีกเช่นกัน เรตกำลังขับเอาต์พุตอยู่ที่ประมาณ 130 มิลลิวัตต์ จ่ายแรงดันไฟฟ้าได้มากกว่า 1.65 โวลต์ที่โหลดมากกว่า 100 โอห์ม ดูจากสเปคฯ แล้วก็น่าจะมีประสิทธิภาพในการขับหูฟังได้ดีประมาณหนึ่งล่ะครับ แต่ถ้ากำลังมันไม่พอขับหูฟังของคุณโดยตรง nano iDSD ก็ยังมีเอาต์พุตเสียงอะนาล็อกเป็นขั้วต่อ RCA Stereo มาให้ต่อออกไปเข้าภาคขยายเสียงภายนอกได้ด้วยครับ แถมด้วยเอาต์พุตเสียงดิจิตอล SPDIF Coaxial มาให้เผื่อใช้งานอีกช่องทางหนึ่งด้วยครับ เอาต์พุตนี้เล่นได้เฉพาะสัญญาณ PCM ที่ resolution สูงสุด 24/192 เท่านั้น เกินไปกว่านั้นอย่างสัญญาณ DXD (32/352.8 หรือ 32/384) จะใช้ไม่ได้แล้ว หรือถ้าอินพุตที่เข้ามาเป็นสัญญาณ DSD ก็ไม่รองรับเช่นกัน

ลำพังยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องของสุ้มเสียงนะครับ คุณสมบัติทั้งหมดนี้มาพร้อมกับราคาค่าตัวที่ 7,200 บาท แค่จับมาเทียบคุณสมบัติและความสามารถกันตัวต่อตัว เทียบมูลค่ากันบาทต่อบาทแล้ว ผมว่านี่คือ DAC/AMP สมัยใหม่ที่ดูคุ้มเงินที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จักมาครับ!



Unboxing and First Impression

จากวันที่ได้สอบถามไปทาง Jet Live Audio ผ่านไปราวๆ 4 เดือนได้ครับ เจ้า nano iDSD เครื่องตัวอย่างสำหรับการรีวิว (ก็เหมือนเครื่องที่ขายจริงนั่นล่ะครับ) ก็ถูกส่งมาถึงมือผมในสภาพใหม่เอี่ยมยังไม่ได้แกะกล่อง ลำพังแค่ขั้นตอนการแกะกล่องก็น่าสนใจแล้วครับ เขาออกแบบแพคเกจกล่องใส่มาอารมณ์เดียวกับบรรดาสมาร์ตโฟนชั้นนำทั้งหลาย มีช่องเล็กช่องน้อยสำหรับบรรจุอุปกรณ์มาตรฐานทั้งหมดใส่มาในกล่องขนาดกะทัดรัด


เมื่อเปิดกล่องออกมาก็พบกับ ตัวเครื่อง, คู่มือที่เป็นแผ่นพับง่ายๆ (ซึ่งผมพบภายหลังว่ามันใช้งานได้ง่ายและสะดวกดี), สาย USB เกรดทั่วไปที่ดูดีพอสมควรความยาวประมาณ 2 ฟุต, สายสัญญาณเสียงสเตริโอขั้วต่อ RCA สั้นๆ สำหรับ RCA Line Output, ถุงผ้ากำมะหยี่สีดำสำหรับใส่ตัวเครื่องที่อุตส่าห์ออกแบบให้ก้นถุงมีช่องเปิดให้สายสัญญาณลอดออกมาได้ นอกจากนั้นยังแถมแผ่นรองซิลิโคนสีขาวขุ่น 1 แผ่นกับสายยางสีดำสำหรับรัดตัวเครื่องเข้ากับสมาร์ตโฟนมาให้อีก 2 เส้นครับ เรียกว่าให้มาพร้อมใช้งานเกือบทุกอย่าง ยกเว้น adapter (CCK, OTG) ที่ใช้ต่อเล่นกับสมาร์ตโฟนที่ผู้ใช้ต้องจัดหาเอาเอง

ตัวเครื่อง nano iDSD เป็นกล่องอะลูมิเนียมขนาดเล็กประมาณฝ่ามือ น้ำหนักเพียง 167 กรัม เรียกว่ากำลังน่ารักน่าชังเลยทีเดียวครับ มันเล็กพอที่จะพกใส่กระเป๋ากางเกงได้สบายๆ เลย ที่ตัวเครื่องระบุว่าเป็นงานออกแบบโดย AMR-Audio ในประเทศอังกฤษและเป็นงานประกอบจากโรงงานในประเทศจีน งานวัสดุ งานผลิตและประกอบ มีความเรียบร้อยประณีต ตลอดจนงานสกรีนตัวอักษรขนาดเล็กบนตัวถังที่มีความคมชัด ก็แสดงออกถึงมาตรฐานการผลิตในระดับสูงได้อย่างชัดเจน ขั้วต่อ RCA ทั้งหมดยังอุตส่าห์มีซิลิโคนครอบกันฝุ่นมาให้ด้วยครับ

ทางด้านขั้วต่ออินพุต USB เป็นแบบ High-Speed Asynchronous USB ระบุตรงขั้วต่อว่าเป็นแบบ USB 3.0 (Type B) ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้กับขั้วต่อ USB 2.0 (Type B) ได้ตามปกติ ตรงนี้ผมชอบใจมากเพราะมันทำให้ผมมีทางเลือกกับสาย USB คุณภาพดี มากรุ่นกว่า หลากหลายระดับราคากว่าและหาง่ายกว่า พวก USB DAC ที่มีขั้วต่ออินพุตเป็นแบบอื่นๆ เช่น Mini-USB หรือ Micro-USB

ใกล้กับอินพุต USB มีสวิตช์โยกตัวเล็กๆ ระบุว่าเป็นสวิตช์เลือกประเภทฟิลเตอร์ ถ้าโยกขึ้นเป็นฟิลเตอร์แบบ Minimum Phase โยกลงเป็นฟิลเตอร์แบบ Standard โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้เลือกไปที่ Minimum Phase (โยกขึ้น) เพราะจะให้เสียงดีกว่า ส่วน Standard นั้นเอาไว้ใช้เวลาวัดผลด้วยเครื่องมือ ผมเข้าใจว่า Minimum Phase น่าจะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับที่ยี่ห้อ Ayre เคยนำมาใช้ใน DAC ของพวกเขา เพราะหลักการและคำแนะนำในการใช้งานนั้นไปในแนวทางเดียวกันเลยครับ ผมลองฟังเทียบแล้วก็เห็นด้วยที่จะเลือกไว้ที่ Minimum Phase ตลอดการฟังทดสอบ

สำหรับการใช้งานเบื้องต้นก็ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ ยิ่งถ้าคุณเคยใช้งาน USB DAC มาบ้างแล้วคุณแทบจะเริ่มใช้งาน nano iDSD ควบคู่กับการอ่านคู่มือไปพร้อมๆ กันได้เลยครับ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดใน nano iDSD สามารถเลือกใช้พลังงานไฟฟ้าได้จากทั้ง 2 แหล่งคือ จากแบตเตอรี่ชนิดลิเธียม-โพลีเมอร์ในตัวเครื่อง หรือจากไฟเลี้ยงของพอร์ต USB ในคอมพิวเตอร์โดยตรงก็ได้ ซึ่งแบตเตอรี่ที่ให้มานี้สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 10 ชั่วโมงโดยประมาณต่อการชาร์จไฟจนเต็ม 1 รอบ (ขึ้นอยู่ระดับวอลุ่มและ sample rate ของไฟล์ที่เปิดฟัง) การชาร์จไฟก็ง่ายมากครับเพราะมันสามารถชาร์จผ่านพอร์ตอินพุต USB ของมันได้เลยหรือเสียบกับอุปกรณ์จำพวก USB Charger ก็ได้ครับ

บนตัวเครื่อง nano iDSD จะมีไฟ LED แบบมัลติคัลเลอร์ (แสดงสีได้หลายสี) ขนาดจิ๋วอยู่ 1 จุดทำหน้าที่บอกสถานะการทำงานในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการชาร์จไฟ การเชื่อมต่อสัญญาณ และแจ้งค่าความถี่ sample ของสัญญาณที่เข้ามาทางอินพุต เป็นการออกแบบที่ชาญฉลาดมากทีเดียวครับ ไฟ LED เพียงแค่จุดเดียวก็สามารถใช้รหัสสีแทนค่าอะไรได้ตั้งหลายอย่าง ช่วงแรกที่เริ่มใช้งานอาจจะงงๆ สักหน่อยครับเพราะยังจำไม่ได้ว่าไฟสีไหนแจ้งสถานะอะไร แนะนำให้พกคู่มือที่เป็นแผ่นพับเอาไว้ใกล้ตัวจะช่วยได้มากครับ ใช้ไปสักพักเดี๋ยวจะเริ่มคุ้นเคยไปเอง

ในสภาพใหม่แกะกล่อง ผมพบว่าแบตเตอรี่ในตัวเครื่องถูกชาร์จไฟมาแล้วประมาณหนึ่ง เมื่อหมุนปุ่ม Volume Control ON/OFF ซึ่งทำหน้าที่เป็นสวิตช์เปิด-ปิดเครื่องไปในตัว เครื่องก็พร้อมทำงานทันที ในขณะที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ทางพอร์ต USB มันถูกออกแบบให้สามารถเลือกใช้งานได้ใน 2 โหมดด้วยกันนั่นคือ USB Power และ Battery Power

USB Power ถ้าเลือกโหมดนี้ขณะที่ Volume Control อยู่ที่ OFF ให้เสียบสาย USB ก่อน แล้วจึงค่อยหมุน Volume Control ไปที่ ON วงจรภายในทั้งหมดจะใช้ไฟเลี้ยงโดยตรงจากพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์

สำหรับโหมด Battery Power ก่อนจะเสียบสาย USB ให้หมุน Volume Control ไปที่ ON ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยเสียบสาย USB เชื่อมต่อระบบเข้ากับคอมพิวเตอร์หรือ smart device เครื่องจะเข้าสู่โหมดการทำงานแบบ Battery Power โดยอัตโนมัติ โหมดนี้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายใน nano iDSD จะใช้ไฟเลี้ยงจากแบตเตอรี่ในตัวเครื่องซึ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าที่สะอาดและถูกรบกวนทางไฟฟ้าน้อยกว่า โดยทางเทคนิคจะเป็นผลให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าด้วยครับ ผมลองแล้วสามารถฟังออกได้ชัดเจนครับ แม้ว่าในโหมด USB Power เจ้า nano iDSD จะให้เสียงที่น่าฟังมากอยู่แล้วก็ตาม

อนึ่งหากในระหว่างใช้งานในโหมด Battery Power แล้วพบว่าเอาต์พุตให้เสียงเบาผิดปกติหรือมีอาการสัญญาณดิจิตอลหลุดบ่อย อย่าลืมตรวจสอบด้วยนะครับว่าเป็นเพราะ Battery Low หรือเปล่า

เมื่อเสียบใช้งาน nano iDSD เข้ากับคอมพิวเตอร์ สำหรับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Macintosh หรือ Linux ไม่จำเป็นต้องติดตั้งไดรเวอร์ใดๆ ครับเสียบปุ๊บก็ใช้งานได้เลย แต่ถ้าเป็นระบบปฏิบัติการ Windows ไม่ว่าจะเป็น Windows XP/Vista/7/8/8.1 จำเป็นต้องติดตั้งไดรเวอร์ก่อนการใช้งานครับ ไดรเวอร์นี้สามารถดาวน์โหลดได้จากเวบไซต์ของ iFi ที่ http://ifi-audio.com/download/ ผมได้ลองดาวน์โหลดไดรเวอร์รุ่นล่าสุดคือ V2.20.0 มาใช้งานใน Windows XP และ Windows 7 พบว่าการติดตั้งและการใช้งานราบรื่นไร้อุปสรรคใดๆ เรียกว่าใช้งานได้เนียนๆ ในทุกขั้นตอนครับ ที่น่าสนใจคือไดรเวอร์เวอร์ชัน V2.20.0 นี้แจ้งไว้ด้วยว่ามีคุณสมบัติใหม่ล่าสุดคือ สนับสนุน Quad-Speed DSD (DSD256, 11.2/12.4MHz) และ ASIO 2.2 (DSD native) … มันทำให้ผมตาโต หูผึ่งอีกแล้วครับท่าน !



Second Impression

กับหูฟังที่ผมใช้งานอยู่ทั้งหมด ผมลองแล้วพบว่าภาคขยายหูฟังในตัวของ nano iDSD สามารถขับได้โดยตรงอย่างสบายๆ ผมจึงมีโอกาสได้ทดลองฟัง nano iDSD ทางช่องเอาต์พุตหูฟังของมันมากกว่าช่องเอาต์พุตปรีเอาต์ซึ่งมีโอกาสได้ลองฟังเป็นประสบการณ์บ้างตามแต่วาระ

สัญญาณเสียงจากเอาต์พุตปรีเอาต์นี้ยังคงขึ้นอยู่กับวอลุ่มในตัว nano iDSD ดังนั้นเวลาใช้งานเอาต์พุตนี้ถ้าต่อเข้าปรีแอมป์หรืออินทิเกรตแอมป์แนะนำให้เร่งวอลุ่มที่ nano iDSD จนสุดแล้วไปคุมระดับเสียงเอาที่วอลุ่มของปรีแอมป์หรืออินทิเกรตแอมป์ เว้นแต่กรณีที่ต่อตรงเข้าเพาเวอร์แอมป์หรือลำโพงแอคทีฟที่ไม่มีหรือบายพาสวอลุ่มในตัว คุณยังจำเป็นต้องอาศัยวอลุ่มในตัว nano iDSD เป็นตัวควบคุมระดับความดังของเสียงอยู่นะครับ

หูฟังที่ผมมีโอกาสได้ทดสอบฟังกับ nano iDSD มีตั้งแต่ Zero Audio Carbo Tenore ZH-DX200-CT, Grado SR60, V-Moda XS, Shure SRH940 และ AKG K712 จากที่ผมได้ลองฟังด้วยกันมีเพียง AKG K712 เท่านั้นที่ทำให้ภาคขยายหูฟังใน nano iDSD ต้องใช้วอลุ่มมากกว่าปกติสักหน่อย แต่ก็ยังอยู่ในวิสัยที่พอจะใช้งานด้วยกันได้เว้นแต่ว่าไปเจองานเพลงบางชุดที่บันทึกเสียงมาค่อนข้างเบาจริงๆ ก็อาจพบได้ว่าที่วอลุ่มระดับสูงสุดของ nano iDSD นั้นยังได้ระดับความดังไม่ถึงจุดที่น่าพอใจ การต่อเพิ่มแอมป์หูฟังภายนอกอย่างเช่น iFi Audio nano iCAN หรือแอมป์หูฟังอื่นๆ ที่มีเรี่ยวแรงมากกว่านี้ก็จะช่วยเติมเต็มอรรถรสการฟังได้มากยิ่งขึ้นไปอีก

สำหรับหูฟังตัวอื่นของผมซึ่งเป็นหูฟังขับง่ายถึงค่อนข้างง่ายผมว่า nano iDSD ตัวเดียวก็น่าจะเอาอยู่แล้วครับ แต่ก็อย่าได้เข้าใจไปว่าภาคขยายหูฟังของมันมีเรี่ยวแรงเหลือเฟือนะครับ โดยเฉพาะเวลาลองฟังกับ AKG K712 ผมว่ามันมีกำลังขับสูสีกับภาคขยายหูฟังในตัว iPad 4th gen เท่านั้นเองครับ เพียงแต่มีภาค DAC ที่ดีกว่ากันมากๆ ดังนั้นถ้าคุณคิดจะใช้ nano iDSD ตัวเดียวไม่ต่อพ่วงภาคขยายหูฟังภาคนอกเพิ่มเติมอีก ควรเลือกหูฟังที่ขับได้ค่อนข้างง่ายไว้ก่อนครับ

สำหรับคุณภาพเสียงของ nano iDSD เบื้องต้นต้องเรียนตามตรงว่าผมประทับใจนะครับ ประทับใจตั้งแต่เสียงแรกที่ได้ฟังหลังจากแกะกล่องเลยทีเดียว ถ้าคุณแมตช์มันกับหูฟังได้ดีและใช้งานมันอย่างถูกต้องเหมาะสม มันแทบไม่ต้องการการเบิร์นอินให้เสียเวลาเลยครับ แกะกล่องมาปุ๊บก็พร้อมฟังเพลงด้วยความไพเราะได้เลย

เมื่อต่อเล่นกับคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Windows 7 ผมเล่นเพลงจากโปรแกรม JRiver Media Center 19 เลือก Audio Device ไปที่ native ASIO driver ของ nano iDSD เองนั่นคือ 'iFi (by AMR) HD USB Audio [ASIO]' และในส่วนของ Device settings... ให้แน่ใจว่าตรงตัวเลือก 'DSD bitstream in DoP format' จะต้องไม่ได้เลือกเอาไว้ เพราะว่าจากไดรเวอร์เวอร์ชั่นล่าสุดคือ V2.20.0 ทำให้ nano iDSD สามารถเล่นฟอร์แมต DSD ได้ทั้งแบบ DSD native bitstream (ASIO 2.2 - DSD native) และแบบ DoP format แต่ทั้งสองวิธีจะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

แบบ DoP format (กับ nano iDSD) จะรองรับได้แค่ DSD128 (5.6448MHz) ตามสเปคฯ ซึ่งผมก็ว่าน่าทึ่งมากแล้วนะครับ แต่แบบ DSD native bitstream นอกจากจะให้เสียงออกมาได้ดีกว่าแล้ว (ความใสกระจ่าง รายละเอียดและไดนามิก) ยังสามารถเล่นไปได้ถึง native Quad-Speed DSD (DSD256, 11.2/12.4MHz) อีกด้วยครับ เป็นอะไรที่น่าทึ่งมากๆ สำหรับ DAC ราคาไม่กี่พันบาทตัวนี้ อนึ่งสำหรับสัญญาณ Quad-Speed DSD (DSD256) ไฟ LED ที่ตัวเครื่องจะแสดงเป็นสีม่วงชมพู (Magenta) เหมือนกับตอนที่เล่นไฟล์ DSD128 และที่ JMC19 ที่แจ้งว่าเล่น native อยู่ ไม่ได้มีการ down conversion ลงมาแต่ประการใด

สำหรับการเล่นในคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Macintosh OS X Mavericks 10.9.4 ผมได้ลองเล่นเพลงจากทั้งโปรแกรม Decibel และ Audirvana+ (A+) ทั้งคู่สามารถเล่นกับ nano iDSD ได้ครอบคลุมทุกฟอร์แมตไฟล์ ทุก resolution ตามที่ระบุไว้ในสเปคฯ สำหรับการตั้งค่าให้เลือก Audio Device ไปที่ 'iFi (by AMR) HD USB Audio' และเลือกโหมดการเล่นฟอร์แมต native DSD ไปที่ฟอร์แมต DoP กับโปรแกรม A+ ภาค DAC ใน nano iDSD สามารถเข้ากันได้กับ Integer Mode ของโปรแกรมด้วยครับ เล่นเพลงออกมาได้รายละเอียดเสียงน่าฟังมากครับ ที่ทำให้ประทับใจเป็นพิเศษคือความสะอาด ความกระจ่างชัด ที่มาพร้อมกับความสุภาพนุ่มนวล สามารถถ่ายทอดสมดุลและสีสันของเสียงแปรเปลี่ยนไปได้ตามคุณลักษณะการบันทึกเสียงของงานเพลงในแต่ละอัลบั้ม เรียนตามตรงว่าเป็นลักษณะเสียงที่ผมไม่เคยคาดฝันมาก่อนว่าจะมีโอกาสได้ยินใน DAC/AMP ย่อมเยาขนาดนี้ แต่ที่อยู่ตรงหน้าผมมันคือความเป็นจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ ผมอยากคารวะคุณ Thorsten Loesch คนออกแบบจริงๆ ครับ เขาทำให้ได้เสียงแบบนี้ได้อย่างไร...ในราคาค่าตัวแค่นี้



Recommended Upgrades

แม้ว่าสาย USB ที่แถมมากับ nano iDSD จะสามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นโดยปราศจากปัญหาใดๆ แต่ผมพบว่าการอัพเกรดในส่วนนี้มีผลกับคุณภาพเสียงได้อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียวครับ

ผมลองเปลี่ยนสาย USB ที่แถมมา ให้เป็นสาย USB ของยี่ห้อ ATLAS รุ่น Element USB (2,800 บาท ความยาว 1.5 เมตร) เสียงที่ได้โปร่งขึ้น มี airy มากขึ้น วงกว้างขึ้น การแยกแยะ definition ต่างๆ ของชิ้นดนตรี ตลอดจนการเน้นย้ำในจุดเล็กๆ น้อยๆ ของเสียงก็ชัดเจนขึ้นทุกย่านความถี่ สรุปว่าคุ้มเลยล่ะครับ

หรือจะเพิ่มงบไปอีกเล็กน้อยเป็นสาย USB ของ Transparent รุ่น Performance USB นี่ก็สุดคุ้มครับ นอกจากความสงัดของพื้นเสียง และรายละเอียดต่างๆ จะดีขึ้นแบบฟังออกได้ชัดแล้ว ยังได้ความอิ่มของมวลเนื้อเสียงที่ดีกว่าสายแถมชัดเจนครับ



From CD to High-Res music

โดยปกติเวลาผมรีวิว DAC หรือเครื่องเล่นในระบบดิจิตอลสิ่งที่มักจะพบเจอคือข้อจำกัดในฟอร์แมตไฟล์หรือ resolution ของไฟล์ที่เครื่องรุ่นนั้นๆ จะรับได้ ทำให้ผมไม่มีโอกาสได้ฟังไฟล์เสียงทั้งหมดที่ผมมีอยู่ในรูปแบบของการแปลงสัญญาณแบบ native เสียที แต่กับ nano iDSD นี่คือครั้งแรกกระมังครับที่ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่มีไฟล์เสียงอะไรจะมาเล่นกับมันแล้ว อย่างน้อยมันก็ทำให้ผมต้องไปขวนขวายหาตัวอย่างไฟล์ DSD256 มาลองเล่นล่ะครับ ซึ่งไฟล์ DSD ระดับนี้ Mytek Stereo192-DSD ของผมยังเล่นไม่ได้เลยครับ

เล่นใน Mac กับ A+ แสดง native resolution
ทั้งหมดที่ nano iDSD สามารถเล่นได้โดยตรง
กับ nano iDSD ไม่เพียงแค่ไฟล์ High-Res Audio เท่านั้นที่มันให้เสียงได้น่าสนใจ กับไฟล์ 16/44.1 ที่ริบมาจากแผ่นซีดีจำนวนมากของผม มันก็ทำหน้าที่ได้อย่างน่าประทับใจครับ สิ่งที่ผมคิดว่าใครๆ ก็ควรจะได้ยินจาก DAC/AMP ตัวนี้คือสุ้มเสียงใสกระจ่าง ใสเหมือนคุณมองผ่านกระจกใสๆ ไม่ใช่ใสแบบกลวงๆ ไม่มีเนื้อ ลักษณะเช่นนี้ทำให้เพลงที่ผมฟังมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วนมีอะไรใหม่ๆ ที่อาจจะบอกได้ว่าทำให้เพลงมีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเพลงป๊อบตลาดทั่วไปอย่าง The Corrs Unplugged ที่ฟังดูได้อารมณ์แสดงสดมากขึ้น ส่วนความบางในเนื้อเสียงและอาการติดแห้งเล็กๆ ของงานชุดนี้ยังคงมีอยู่เหมือนเช่นเคยไม่ได้มีมากขึ้นหรือลดน้อยลงแต่อย่างใด

สำหรับอัลบั้มเพลงของค่ายออดิโอไฟล์อย่าง Top12 in Gold Plus จากสังกัด FIM ซึ่งใช้วิธีรีมาสเตอร์เป็น high resolution ก่อนจะนำมาทำแผ่นซีดี ให้เสียงออกมาใสสะอาดและโดดเด่นมากขึ้นในเรื่องของรายละเอียดการเน้นย้ำในน้ำหนักอ่อนแก่ของอิมแพ็คเสียง ให้หางเสียงเพอคัสชันความถี่สูงที่ทอดประกายกังวานได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะแทรค Carmen Fantasy หรือ Deep in the Night

ในระหว่างการฟังทดสอบ nano iDSD ผมมีโอกาสได้ฟังเพลงไทยชุดหนึ่งชื่อชุด เสียงใบไผ่ เป็นงานดนตรีของ อ.ดนู ฮันตระกูล ที่ได้รับเชิญนักร้องชื่อดังหลายท่านมาร่วมร้องเพลงในอัลบั้ม ภาคดนตรีเป็นการบันทึกสดที่มีการใช้เครื่องดนตรีจากวงออเคสตร้ามาร่วมบรรเลงด้วยอย่างลงตัว ผมฟังงานชุดนี้ครั้งแรกกับ DAC/AMP ไซส์มินิตัวนี้ บอกได้เลยครับว่ารู้สึกชอบ ฟังแล้วรับรู้สึกได้ถึงความสดและเสียงที่พยายามบันทึกให้ชัด กระจ่าง มากกว่าคอยกดไดนามิกของเสียง ในขณะที่ยังสามารถคุมไม่ให้เกิดอาการพีคจนเสียงแตกพร่าได้ด้วย เป็นงานเพลงไทยที่ผมสามารถพูดได้เต็มปากว่า 'เสียงดี' แม้จะยังไม่ถึงขั้นเสียงดีจนไร้ที่ติก็ตาม แต่อย่างน้อยเสียงที่ได้ยินจาก nano iDSD ก็สามารถเผยความเป็นดนตรีของงานเพลงชุดนี้ออกมาได้เป็นอย่างดีและทำให้ผมมั่นใจที่จะแสดงความเห็นเช่นนั้นโดยผ่านการไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่

02_เล่น native DSD256 กับ JMC19
นอกจากไฟล์ที่ริบจากแผ่นซีดีแล้วปัจจุบันผมมีไฟล์เพลง high-resolution จำนวนมาก (ส่วนใหญ่ซื้อจาก HDTracks) ผมลองเลือกที่คุ้นๆ หูมาเปิดฟังกับ nano iDSD อัลบั้มหนึ่งที่ฟังแล้วได้เสียงโดนใจมากคือชุด Love Me Tender [24/96] ของ Barb Jungr ความสะอาด ลื่นไหล และการเกลี่ยแจกแจงรายละเอียดในน้ำเสียงของ nano iDSD ได้ช่วย ‘ยืนยัน’ คุณภาพเสียงของไฟล์เพลง hi-res ชุดนี้ได้เช่นเดียวกันกับที่ผมเคยได้ยินจาก USB DAC ชั้นดีทั้งหลาย

จำได้ว่าหลังจากที่ได้ฟังงานของ Barb Jungr ชุดนี้และไฟล์ hi-res อัลบั้มเพลงสมัยใหม่อีกหลายชุดไม่ว่าจะเป็น Wildfire ของ John Mayer [24/44.1], Random Access Memories ของ Daft Punk [24/88.2] หรือ Passione ของ Andrea Bocelli [24/96] ผมก็ได้โพสต์ภาพของ nano iDSD พร้อมทั้งขึ้นสเตตัสในเฟสบุคของผมว่า “เจ้าตัวน้อยนี่กินขาด DAC/AMP อื่นๆ ในราคาต่ำกว่า 1 หมื่นบาทที่ผมได้ลองมาไปไกลมาก...ช่วยมาเอาเงินผมไปได้เลยครับ”

ที่ทำให้ผมรู้สึกทึ่งเป็นพิเศษเห็นจะเป็นไฟล์ hi-res อัลบั้ม Kind Of Blue ของ Miles Davis [24/192] ซึ่งเป็นงานรีมาสเตอร์ล่าสุดเมื่อปี 2013 โดย Mark Wilder สำหรับผมโดยปกติแล้วงานชุดนี้ฟังไม่เคยง่ายเลยครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสุ้มเสียงออกมาไม่ดีจริง แต่ในกรณีนี้ nano iDSD ทำให้เป็นเรื่องง่ายได้ครับ

ผมไม่ทราบเหมือนกันครับว่าทำไมเสียงที่ได้ยินจาก DAC/AMP เล็กๆ ตัวนี้ถึงทำให้ทุกวินาทีของการฟังงานชุดนี้เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน แตกต่างจากอีกหลายวาระที่ฟังไปสักพักก็รู้สึกเบื่อ (ไม่ว่าฟอร์แมตดิจิตอลหรืออะนาล็อก) อาจเป็นเพราะเสียงที่ผมได้ยินในคราวนี้ มันทำให้ผมได้รู้จักงานชุดนี้ผ่านเสียงที่มี ‘ความเป็นดนตรี’ อย่างสูงก็เป็นได้ เสียงทรัมเป็ตของ Miles Davis อัลโตแซกฯ ของ Julian "Cannonball" Adderley หรือเทเนอร์แซกฯ ของ John Coltrane เป็นเสียงที่มีพลังมาก มันเป็นพลังงานที่ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างครบถ้วนทั้งเนื้อเสียงและความก้องกังวานอย่างเป็นธรรมชาติ บางครั้งผมว่ามันไม่เหมือนผมกำลังฟังงานบันทึกเสียงเลยด้วยซ้ำไปครับ

สำหรับไฟล์ในฟอร์แมต DSD นอกจากไฟล์ที่ได้มาจากการริบแผ่น SACD ด้วยเครื่องเล่น PS3 แล้วยังมีไฟล์ฟอร์ต DSD อีกจำนวนหนึ่งที่ได้มาจากการซื้อแบบดาวน์โหลด ที่น่าสนใจคือไฟล์ DSD อัลบั้ม Showcase ทั้ง 3 ชุดของสังกัด Opus3 ที่แปลงมาจากเทปมาสเตอร์ระบบอะนาล็อก และไฟล์ DSD ของสังกัด Blue Coast Records โดยเฉพาะชุด Happy Valley Volume 1 ซึ่งอ้างว่ามาสเตอร์บันทึกเป็นระบบ DSD มาตั้งแต่ต้น

งานของ Opus3 ผมฟังกับ nano iDSD แล้วไม่สงสัยเลยครับว่าต้นฉบับบันทึกเป็นระบบเสียงแบบไหน เพราะนอกจากรายละเอียดของดนตรีแล้วเสียงเทปฮีสอันเป็นเอกลักษณ์ของอะนาล็อกเทปมันยังตามติดมากับไฟล์ DSD นี้ด้วย (DSD64, DSD128) แต่ที่น่าสนใจคืองานของ Blue Coast Records ครับ

ไฟล์ DSD64 ชุด Happy Valley Volume 1 ของ Blue Coast Records ที่ผมได้อ้างถึงข้างต้นให้เสียงออกมาในลักษณะที่เปิดเผย ใสกระจ่างไร้ลักษณะของความคลุมเครือใดๆ ขณะเดียวกันเสียงแหลมที่อุดมด้วยรายละเอียดของมันยังปราศจากความหยาบกร้านหรือเสียงที่มีลักษณะแตกปลาย มันหลุดพ้นจากคำว่า ‘เสียงไม่ดีแบบดิจิตอล’ ไปไกลมากๆ ครับ หลงเหลือเอาไว้เพียง ‘ดนตรี’ ที่เปิดฟังเมื่อไรก็มีความสุข สมกับชื่ออัลบั้ม Happy Valley



Smart Device ใช้เป็นทรานสปอร์ต...ไม่ใช่แค่เล่นได้

นอกจากการต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแล้ว DAC/AMP จาก iFi Audio ตัวนี้ยังสามารถต่อใช้งานกับอุปกรณ์เล่นเพลงจำพวก smart device เช่นสมาร์ตโฟนหรือแท็ปเล็ตได้ด้วยครับ ได้ทั้งที่เป็น iOS และ Android ด้วยต่างหากครับ กล่าวคือใช้ smart device ทำหน้าที่เป็นทรานสปอร์ตนั่นเองครับ


การต่อใช้งานในลักษณะนี้แนะนำให้ใช้งานในโหมด Battery Power นะครับ เนื่องจาก smart device เกือบทั้งหมดมักจะแจ้งว่าการเชื่อมต่อ error และจะใช้งานไม่ได้ถ้าอุปกรณ์ภายนอกพยายามดึงกระแสไฟฟ้าออกจากตัวมันโดยเฉพาะอุปกรณ์ iOS

ผมมีโอกาสได้ลองใช้งาน nano iDSD กับทั้งอุปกรณ์ iOS (iPhone4s, iPad4) และ Android (Acer Iconia One-730HD tablet) โดยอุปกรณ์ iOS ต่อผ่าน Camera Connection Kit ของ Apple ทั้งแบบขั้วต่อ Dock 30 pin และ Lightning ส่วนอุปกรณ์ Android ต่อผ่านสาย OTG (Micro-USB) ที่หาซื้อได้ทั่วไป

ลองต่อเล่นเพลงจากไอโฟนผ่าน CCK
เพื่อให้ smart device ทั้งหมดสามารถเล่นไฟล์เพลงและส่งสัญญาณ native resolution ออกมาได้ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นคือแอพฯ เล่นเพลงชั้นดี ซึ่งในที่นี้ผมใช้แอพฯ ‘Onkyo HF Player’ สำหรับ iOS และแอพฯ ‘USB Audio Player Pro’ สำหรับ Android แนะนำเป็นอันขาดเลยครับสำหรับแอพฯ 2 ตัวนี้

จากการลอง เรื่องแรกที่น่าสนใจคือ smart device ทั้งหมดสามารถเล่นกับ nano iDSD ได้ทุก resolution ที่ DAC/AMP ตัวนี้รองรับไม่ต่างอะไรกับการต่อใช้งานกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเลยครับ ยกเว้นไฟล์ DSD256 ซึ่งผมเล่นกับ nano iDSD ได้เฉพาะบน Windows (JRiver Media Center 19) เท่านั้น

หลังจากที่ได้ฟังเสียงแล้ว ผมต้องยกย่องให้ smart device เหล่านี้คือออพชันทางเลือกในการเล่นที่น่าสนใจมากๆ มันไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เป็นดิจิตอลทรานสปอร์ตได้ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่มันยังให้เสียงที่ผมคิดว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าสนใจมากครับ หรือสรุปสั้นๆ ให้ได้ใจความว่า มันเสียงดีมากนั่นเองครับ!



ไฮไฟส่วนบุคคลสำหรับปัจจุบันและอนาคต

ในชีวิตของนักเขียนที่มีโอกาสได้ทำการรีวิวเครื่องเสียงมาตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา นับแล้วเป็นเปอร์เซ็นที่ไม่มากนักหรอกนะครับที่สินค้าหรืออุปกรณ์ชิ้นหนึ่งจะทำให้ผมรู้สึกหนักใจว่าจะเขียนถึงมันอย่างไรดีให้ครอบคลุมคุณงามความดีทั้งหมดของมัน

ถ้าคุณเคยได้ฟังตัวอย่างไฟล์ฟอร์แมตมามากๆ หลากหลายรูปแบบ หลากหลายอัลบั้ม คุณจะเข้าใจได้ครับว่าคุณงามความดีของการเสพงานเพลงให้ได้อรรถรสแบบถึงพริกถึงขิงนั้น ไม่ได้อาศัยแค่เรื่องของฟอร์แมตที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่าง live performance กับ reproduction เพียงเท่านั้น กระบวนการตั้งแรกเริ่มอย่างการบันทึกเสียง การตกแต่งเสียงเรื่อยไปจนถึงขั้นตอนการผสมเสียงแล้วเก็บบันทึกเอาไว้ มีความสำคัญและมีผลกับคุณภาพเสียงทั้งหมด ฟอร์แมตไฟล์มีหน้าที่เป็นเพียงแค่ตัวกลางในการถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นมาถึงเราเท่านั้นเอง

ดังนั้นไม่ต้องเสียเวลามานั่งหาเหตุผลว่าฟอร์แมต PCM, DSD, DXD ฟอร์แมตไหนดีกว่ากัน ไม่ใช่เพราะอยากจะละเลยเรื่องคุณภาพหรอกนะครับ แต่เพราะ Nano iDSD มันสามารถตอบสนองได้ทั้งหมดต่างหาก ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับเครื่องมาจนมาถึงวันนี้ ไม่มีวันไหนเลยที่ผมไม่ได้ฟังเพลงกับเจ้า nano iDSD ตัวนี้ นั่นหมายความได้ว่ามันเป็นเครื่องเสียงที่สะดวกใช้แถมยังเสียงดีด้วยครับ

แต่สำหรับคนที่ยังฟังเพลงจาก ‘แผ่นซีดี’ เป็นหลัก หรือคิดว่าการฟังเพลงจาก ‘ไฟล์เสียง’ เป็นอะไรที่ยังห่างไกลจากไลฟ์สไตล์ของคุณมาก nano iDSD ก็อาจจะเป็นแค่ก้อนอะไรสักอย่างที่คุณไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้เลย แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่หันมาเสพดนตรีจากไฟล์เพลงเป็นอาหารหลัก มีเพลงสามัญประจำตัวเป็นไฟล์เสียงคุณภาพสูงหรือไฟล์ Hi-Res Audio เหมือนผมแล้วล่ะก็ นี่คืออุปกรณ์การเสพดนตรีชิ้นสำคัญสำหรับปัจจุบันและอนาคตครับ

ถ้าความหมายของเครื่องเสียงที่ดีคือ อุปกรณ์ที่ทำให้เราอยากฟังเพลงมากขึ้น อยากแบ่งปันเวลาจากกิจกรรมอื่นๆ เพื่อมาสร้างความสุขด้วยการฟังเพลงบ่อยขึ้น ผมบอกได้เลยครับว่า nano iDSD คือเครื่องเสียงที่ดีและมีราคาถูกที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังมาทั้งชีวิต

หลังการรีวิวนี้ผมคิดว่าจะไม่ส่งมันคืนกลับไปนะครับ แต่จะจ่ายเป็นเงินกลับไปแทน


......................................

ขอบคุณ Jet Live Audio
ที่เอื้อเฟื้อให้ยืมสินค้าสำหรับการรีวิว