ถ้ามีใครสักคนที่ไม่ใช่ผู้ผลิตเครื่องเสียงโดยตรงมาทำหูฟังขาย คุณคิดว่ามันจะน่าสนใจไหมครับ? คุณคิดว่ามันจะเสียงดีไหมครับ? ถ้าคำตอบคือ ใช่ ... สิ่งที่คุณจะได้อ่านต่อจากนี้ไปอาจทำให้คุณต้องประหลาดใจมากขึ้น
แต่ถ้าคำตอบของคุณคือ ไม่... ผมขอยินดีด้วยที่คุณจะได้ตื่นเต้นไปกับอ่านรีวิวนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะหูฟังที่ผมเพิ่งได้ทำความรู้จักอย่างสนิทสนมเมื่อไม่นานมานี้อย่าง Parrot Zik ได้ทำให้ผมรู้สึกเช่นนั้นไปแล้ว
The Story of Parrot Zik
อย่างที่ได้เรียนไว้แต่ต้นว่า แพร์ร็อต (Parrot) แบรนด์เนมสัญชาติฝรั่งเศสรายนี้ไม่ใช่ยี่ห้อผู้ผลิตเครื่องเสียง แต่พวกเขาเรียกตัวเองว่าเป็นบริษัทผู้สร้างนวัตกรรมที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับระบบการส่งข้อมูลแบบไร้สาย (wireless technology) และเทคโนโลยีระบบประมวลสัญญาณดิจิตอล (digital signal processing technology) สินค้าของแพร์ร็อตจึงไม่จำกัดวงแคบอยู่เฉพาะกลุ่มเหมือนยี่ห้อสินค้าประเภทเฉพาะทางทั่วไปเพราะเขามีตั้งแต่ ลำโพงพกพาแบบไร้สาย เฮดเซ็ตไร้สายสำหรับยานยนต์ หรือแม้แต่สินค้ากึ่งของเล่นกึ่ง gadget ไฮเทคอย่าง ‘AR.Drone 2.0’ เฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับแบบ 4 ใบพัดที่สามารถควบคุมด้วย iPad หรือ iPhone หรือควบคุมผ่านสัญญาณ แถมยังเชื่อมโยงกับวิดีโอเกมผ่านเทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality ได้ด้วย ล่าสุดก็เห็นมีหุ่นยนต์ที่วิ่งและกระโดดได้ออกมา แน่นอนว่าสามารถควบคุมได้จาก iPad หรือ iPhone เหมือนเช่นเคย
ในอีกด้านหนึ่งคุณ Henri Seydoux ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของแพร์ร็อตยังมีแนวคิดจะทำสินค้าไฮเอนด์ในกลุ่มมัลติมีเดียออกมาด้วยครับ โดยเขาได้ร่วมมือกับนักออกแบบระดับแนวหน้าของโลกอย่าง Andrée Putman, Martin Szekely และ Philippe Starck เพื่อสานฝันสิ่งที่เขาคิดและสร้างความแตกต่างไปจากสินค้ามัลติมีเดียทั่วไป และหนึ่งในนั้นก็ Parrot : Zik หูฟังที่เขากล้าคุยว่าเป็น “The most advanced headphone” หรือ “หูฟังที่มีความก้าวล้ำมากที่สุด”
Henri Seydoux |
หัวใจหลักของเทคโนโลยีที่ทำให้ ‘แพร์ร็อต ซิก’ แตกต่างจากหูฟังทั่วไปคือการพัฒนาในส่วนของฮาร์ดแวร์ร่วมไปกับซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์ที่ทำให้หูฟังรุ่นนี้บรรจุเอาไว้ด้วยคุณสมบัติและความสามารถมากมายนอก นอกเหนือไปจากการเชื่อมต่อแบบไร้สายบลูทูธ, NFC (Near Field Communication) และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบแฮนด์ฟรี แล้วในหูฟัง ‘แพร์ร็อต ซิก’ ยังมีเทคโนโลยีการควบคุมสั่งงานแบบสัมผัสที่ตัวหูฟัง (Touch Control), การควบคุมสั่งงานผ่านระบบไร้สายร่วมกับโปรแกรมแอพพลิเคชั่นใน smart device (Free Parrot App), ระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอก (Active Noise Cancellation), ระบบตรวจจับการใช้งานที่สัมพันธ์กับการทำงานหูฟังและระบบการเล่นกลับ (Motion Detector) รวมถึงระบบจำลองอะคูสติกเสียง (Parrot Concert Hall Effect) ที่ภูมิใจนำเสนอเป็นนักหนา
Philippe Starck |
ทั้งหมดนี้น่าทึ่งนะครับที่สามารถนำมาบรรจุรวมอยู่ภายในหูฟังตัวเดียวได้ ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ นับตั้งแต่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน CES ที่ลาสเวกัสเมื่อปีค.ศ.2012 และวางจำหน่ายในช่วงฤดูร้อนของปีเดียวกัน จนถึงปัจจุบันหูฟังรุ่นนี้ถูกจำหน่ายออกไปแล้วทั่วโลกกว่า 1 แสนตัว ‘แพร์ร็อต ซิก’ รุ่นปัจจุบันเพิ่งออกคอลเลคชั่นใหม่เพิ่มสีใหม่มาให้เลือก 3 สี ดูหรูหราอลังการและเอาใจตลาดมวลชนมากกว่าเดิม หนึ่งในนั้นก็คือสี ‘Black Gold’ ตัวที่ผมได้รับตัวอย่างมารีวิวนี่ล่ะครับ
Zik Pack : Hardware & Software
นึกย้อนเวลากลับไปตอนที่ผมแกะกล่องหูฟังตัวนี้มันทำให้ผมรู้สึกอยากทำวิดีโอ ‘รีวิวแกะกล่อง’ เอาไปลงใน YouTube เลยล่ะครับ เพราะว่ามันเป็นหูฟังที่มีบรรจุภัณฑ์ดีไซน์เรียบง่ายแต่เท่ ตัวหูฟังเองก็หน้าตาหล่อเหลาดูดีมีสกุล สะท้อนถึงรสนิยมอันดีของผู้ใช้ ผมชอบก้านหูฟังทรงสวยที่เป็นโลหะอัลลอยทำสี Black Gold ตัดกับชิ้นส่วนเอียร์คัพสีดำด้านและเอียร์แพดที่หุ้มด้วยหนังสีดำ มันเป็นการออกแบบที่ดูเข้มและแมนดีครับ สีส้มจี๊ดๆ ตรงข้อต่อของก้านหูฟังกับเฮดแบนด์ยังช่วยให้ผู้ที่สวมใส่มันดูอ่อนวัยกว่าอายุจริงไปอีกอย่างน้อย 5 ปี... ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ นะ
‘แพร์ร็อต ซิก’ ที่มีดีไซน์เป็นแบบ ‘Portable Full-Size Over-Ear Headphone with Bluetooth and Microphone’ แปลเป็นไทยได้ว่า หูฟังแบบครอบหูระบบไร้สายบลูทูธที่มีไมโครโฟนในตัวและพกพาได้ ถ้าเทียบกับหูฟังฟูลไซส์ทั่วไป หูฟังตัวนี้จะเป็นฟูลไซส์ที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก สามารถพับให้แบนเพื่อการพกพาได้สะดวก ในแพ็คเกจจึงมีแถมถุงผ้าเนื้อนุ่มสีดำสำหรับใส่หูฟังมาให้ 1 ชิ้น และเนื่องจากมันเป็นหูฟังระบบแอคทีฟในแพ็คเกจจึงให้แบตเตอรี่ชนิด Li-Ion ความจุ 800mAh / 3.7V มา 1 ก้อนพร้อมทั้งสายชาร์จ USB นอกจากนั้นยังมีสาย 3.5mm line-in ให้มาด้วยเผื่อใช้งานเป็นหูฟังแบบพาสซีฟคือเสียบสายใช้งานเหมือนหูฟังธรรมดาทั่วไป เช่น เวลาแบตเตอรี่ไฟหมด
‘แพร์ร็อต ซิก’ มีอุปกรณ์เสริมที่สามารถซื้อเพิ่มภายหลังได้อีกไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่สำรองหรือกล่องใส่หูฟังแบบกึ่งแข็ง ตลอดจนอะไหล่ทดแทนอุปกรณ์มาตรฐานที่อาจจะสูญหายไปในระหว่างใช้งานอย่างเช่น ฝาครอบเอียร์คัพ, สายชาร์จหรือสาย 3.5mm line-in
Parrot Zik และอุปกรณ์มาตรฐาน |
ภายใต้รูปทรงที่ดูเรียบง่าย ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าหูฟังไร้สายระบบแอคทีฟตัวนี้มีชิ้นส่วนอุปกรณ์ประเภทไมโครโฟนรับเสียงและเซ็นเซอร์ที่ทำงานร่วมกับวงจรประมวลผลสัญญาณดิจิตอล (DSP, Digital Signal Processing) แอบซ่อนเอาไว้ในหลายจุดเลยครับโดยเฉพาะที่หูฟังด้านขวามือ แม้ว่าจะมีวงจรแอคทีฟอยู่ในตัวและใช้ชิ้นส่วนทำด้วยโลหะแต่น้ำหนักรวมของหูฟังตัวนี้อยู่ที่ 325 กรัม ซึ่งถือว่าไม่หนักหนาจนเกินไปเมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติและความสามารถของตัวหูฟัง
การใช้งานหูฟังรุ่นนี้ให้ได้ประสิทธิภาพเต็มที่คุณจำเป็นต้องมีสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS, Android หรือ Windows Phone ที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นชื่อ 'Parrot Audio Suite' แอพฯ ตัวนี้เป็นส่วนประสานงานผู้ใช้ที่คอยติดต่อกับซอฟต์แวร์ที่อยู่ในตัวหูฟังผ่านทางระบบบลูทูธในตัวแอพฯ สามารถทำหน้าที่เป็น Battery Monitor แสดงระดับของแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ รวมถึงการสั่งเปิด/ปิดฟังก์ชัน Active Noise Canceling (ANC), สั่งเปิด/ปิดและตั้งค่า Equalizer, สั่งเปิด/ปิดและตั้งค่าระบบ DSP จำลองสภาพอะคูสติกที่ชื่อว่า ‘Parrot Concert Hall’ หรือตัวเลือกสั่งเปิด/ปิดการทำงานของระบบเสียงที่ปรับจูนมาโดยศิลปินชื่อดังอย่าง Lou Reed
First Impression : Hardware & Software
จะว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกนะครับที่ผมมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับหูฟัง ‘แพร์ร็อต ซิก’ อันที่จริงผมเองเคยลองฟังหูฟังรุ่นนี้มาบ้างแล้วล่ะครับ แต่เป็นการลองฟังคร่าวๆ เพียงเพื่อช่วยเพื่อนรุ่นพี่ท่านหนึ่งตัดสินใจว่ามันดีพอที่จะซื้อมาใช้ได้หรือไม่เนื่องจากเวลามีจำกัด แต่ในเวลานี้หนึ่งในคอลเลคชั่นใหม่ของหูฟัง ‘แพร์ร็อต ซิก’ มาวางอยู่ตรงหน้าผมตัวเป็นๆ แล้วล่ะครับ
วัสดุดี ออกแบบดี มีดีไซน์ |
ด้วยความที่มันเป็นหูฟังระบบแอคทีฟ การใช้งานจึงเริ่มต้นจากการบรรจุแหล่งพลังงานไฟฟ้าเข้าไปในตัวหูฟัง แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนขนาดประมาณหัวแม่มือมีช่องบรรจุอยู่ที่หูฟังด้านซ้าย การบรรจุเข้าไปก็เพียงแค่ใช้มือแงะฝาปิดด้านหลังหูฟังออก คุณแทบไม่ต้องพยายามใช้แรงหรือเครื่องมือช่วยเลยนะครับเพราะฝาปิดตัวนี้ถูกยึดไว้ด้วยแรงแม่เหล็กเท่านั้นเอง การใส่แบตเตอรี่เข้าไปก็เพียงแค่หันทิศทางให้ถูกตามที่เขาแนะนำในคู่มือจากนั้นอย่าลืมกดให้มันเข้าล็อค สังเกตได้จากตัวแบตเตอรี่จะราบไปกับส่วนอื่นๆ ไม่มีลักษณะโผล่ยื่นออกมา จากนั้นก็แค่ใส่ฝาปิดกลับเข้าไปตามเดิมแล้วนำไปชาร์จไฟให้เต็มก่อนใช้งานครั้งแรก
การชาร์จไฟสามารถเสียบชาร์จได้กับพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์ หรือชาร์จเจอร์อื่นๆ ที่มีเอาต์พุตเป็นพอร์ต USB มาตรฐาน ขณะชาร์จประจุไฟที่สวิตช์เปิด/ปิดของหูฟังจะแสดงผลเป็นสีแดง เมื่อประจุเต็มแล้วไฟนี้จะเปลี่ยนเป็นสีขาว
การอัพเดต firmware ผ่านแอพฯ |
การใช้งานหูฟังร่วมกับแอพฯ ‘Parrot Audio Suite’ ครั้งแรกนี้ยังทำให้ผมได้ทราบด้วยครับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ตัวเลือกฟังก์ชั่นต่างๆ อย่างเช่น ระบบตัดเสียงรบกวน, อีควอไลเซอร์หรือระบบจำลองอะคูสติกเสียง ของหูฟังรุ่นนี้จำเป็นต้องการการควบคุมสั่งงานผ่านซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นนี้ ลำพังตัวหูฟังเองไม่สามารถเปิด/ปิดการใช้งานตัวเลือกเหล่านี้ได้
การแสดงระดับแบตเตอรี่ผ่านแอพฯ |
ระบบอีควอไลเซอร์ปรับแต่งเสียงที่ให้มากับตัวแอพฯ เป็นแบบกราฟิกอีคิว 7แบนด์ ครอบคลุมตั้งแต่ความถี่ 45Hz ถึง 15kHz เพิ่ม-ลดได้ในช่วง +/-12dB สามารถปรับตั้งได้เองหรือเลือกใช้จากค่า preset ที่ให้มาจำนวนหนึ่ง อีกตัวเลือกหนึ่งคือ ‘Tuned by Lou Reed’ ตัวเลือกนี้เป็นค่า preset ชนิดหนึ่งที่ทางแพร์ร็อตได้ร่วมมือกับ Lou Reed ศิลปินดังผู้ล่วงลับ (เขาถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปี ค.ศ.2013 ด้วยวัย 71 ปี) แห่งวง Velvet Underground ให้ช่วยปรับแต่งอีควอไลเซอร์และระบบจำลองอะคูสติกเสียงให้ได้เสียงอย่างที่เขาชอบ ซึ่งแน่นอนว่าคงเหมาะกับเพลงของเขาเอง
ตัวเลือกนี้ผมลองฟังแล้วแต่ไม่ชอบครับ มันบูสต์เสียงทุ้มต้นๆ ขึ้นมาค่อนข้างเยอะ เนื้อเสียงมีความหนักแน่นชัดเจนเข้มข้นมากขึ้นแต่ให้เวทีเสียงค่อนข้างเหมือนฟังในห้องอัด ฟังแล้วคิดว่าคงเหมาะกับเพลงแค่บางแนวโดยเฉพาะเพลงของคุณลุงแกเองแต่กับเพลงแนวอื่นแล้วผมว่ามันฟังไม่ดีเอาซะเลย
ที่จริงฟังแบบไม่ต้องปรับแต่งอะไรหูฟังตัวนี้ก็ให้เสียงออกมาดีกว่ามาตรฐานหูฟังไร้สายทั่วไปอยู่แล้วนะครับ เป็นหูฟังที่ให้เสียงสะอาด สมดุลเสียงทุ้มค่อนมาอบอุ่นเล็กน้อยแต่ไม่เยอะไม่ท่วมกลบเสียงอื่น รายละเอียดอื่นๆ ออกมาแบบชัดใสชนิดฟังเอาเรื่องได้เลย ใช่ครับผมหมายถึงการฟังแบบไร้สายนี่แหละครับ ส่วนแบบใช้สายน่ะเหรอ รออ่านในหัวข้อถัดไปก็แล้วกันครับ
ระบบจำลองอะคูสติกเสียงที่ทำงานร่วมกันระหว่างแอพฯ กับตัวหูฟัง |
กลับมาที่ตัวแอพฯ ยังมีอีกหนึ่งตัวเลือกให้ลองเล่นกันนั่นคือระบบจำลองอะคูสติกเสียงที่มีชื่อว่า ‘Parrot Concert Hall’ ระบบนี้ใช้ความสามารถของ DSP ในระบบแอคทีฟของตัวหูฟังโดยตรงเลยล่ะครับ เมื่อกดเปิดการทำงานมันยังออกแบบให้คุณกดเข้าไปเลือกได้ด้วยว่าจะให้จำลองอะคูสติกเสียงในลักษณะใด คุณสามารถเอานิ้วจิ้มหน้าจอไอโฟนหรือไอแพดเพื่อสั่งได้เลยว่าจะให้จำลองเสียงเป็นพื้นที่กว้างขนาดไหนเลือกได้ตั้งแต่เล็กสุดอย่าง Silent Room ไปจนถึง Concert Hall ซึ่งเป็นการเล่นกับ reverb และ time delay ของเสียง ทำให้ฟังแล้วรู้สึกว่าเสมือนได้ยินจากในสภาพแวดล้อมเหล่านั้น แถมยังเลือกได้ด้วยว่าจะให้เสียงจากแชนเนลซ้ายและขวาอยู่ห่างจากกันมากหรือน้อย ทำมุมเท่าไรกับจุดนั่งฟัง ด้วยการจิ้มแล้วลากนิ้วตามกราฟิกในหน้าแอพฯ เสียงก็จะเปลี่ยนไปตามที่เราเลือก
โอ้... แค่นี้ก็สนุกแล้วใช่ไหมครับ
จริงอยู่ว่าระบบปรับแต่งเสียงเหล่านี้ย่อมทำให้เสียงต้นฉบับของเราผิดเพี้ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะระบบจำลองเสียงที่ผมลองแล้วมันเหมาะกับเพลงบางแนว บางอัลบั้ม บางงานเท่านั้น พวกคอนเสิร์ตนี่หรือดนตรีวงใหญ่ๆ นี่บางทีฟังแล้วชอบเลยครับให้สีสันที่แปลกหูดี แต่กับเพลงบางแนวก็ไม่เข้ากัน ตรงนี้สามารถทดลองและเลือกใช้งานดูได้ตามรสนิยม แต่อย่าลืมว่าได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง
อย่างไรก็ดีเท่าที่ได้ลองเล่นระบบจำลองอะคูสติกเสียงพวกนี้มาพอสมควร ผมยังยกย่องว่าระบบ ‘Parrot Concert Hall’ นั้นน่าสนใจเพราะหลายครั้งสิ่งที่ได้มาคุ้มค่ากว่าสิ่งที่เสียไป ถือว่าเป็นออพชั่นที่หลุดพ้นจากคำว่า ‘ออพชั่นขยะ’ ที่ให้มาเกะกะเครื่อง ไม่เหมือนบางระบบที่ใช้แล้วคุณภาพเสียงมีแต่เสียมากหรือเสียน้อยให้เลือกเท่านั้น ไม่คุ้มกับเสียงที่แย่ลงไปมาก
ในปัจจุบันถ้าเราเรียกอุปกรณ์ที่ทำงานฉลาดๆ ด้วยคำนำหน้าว่า ‘smart’ ผมจะเรียกหูฟังรุ่นนี้ว่า ‘smart headphone’ ด้วยความเต็มใจ คุณว่ามันจะดีแค่ไหนครับที่
ระหว่างนั่งฟังเพลงเพราะๆ โดยการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณบลูทูธไม่ต้องมีสายหูฟังรุงรัง และตัวเครื่องเล่นของเราไม่ว่าจะเป็นไอแพด, ไอโฟนหรือคอมพิวเตอร์ อยู่ห่างออกไป (เท่าที่ผมลองแล้วสัญญาณยังเชื่อมต่อกันได้คือประมาณ 5-10 เมตรแล้วแต่พื้นที่ ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรฐาน) แล้วคุณต้องการเปลี่ยนเพลง/หยุดเพลงหรือเพิ่ม-ลดความดังของเสียง คุณสามารถใช้นิ้วมือเนรมิตมันได้โดยไม่ต้องลุกเดินไปที่ตัวเครื่องเล่นเพลงเลย … มันเป็นอะไรที่ดีแน่ๆ ใช่ไหมครับ
ระบบควบคุมสั่งงานแบบ Touch Control ในหูฟัง ‘แพร์ร็อต ซิก’ ทำให้สิ่งที่ผมบอกไปข้างต้นเป็นไปได้แล้วครับ เพียงแค่ผมเอานิ้วรูดแตะที่ฝาปิดหูฟังด้านขวาค่อยๆ รูดขึ้นด้านบนเสียงจะดังขึ้น (volume up) ในทางกลับกันถ้ารูดลงด้านลงเสียงจะเบาลง (volume down) ยังไม่หมดแค่นั้นครับ ถ้ารูดไปข้างหน้าเพลงที่ผมฟังอยู่จะข้ามไปเล่นเพลงถัดไปเหมือนการกดปุ่ม forward skip track ในทางกลับกันถ้ารูดไปด้านหลังเพลงที่ผมฟังอยู่จะย้อนกลับไปแทรคก่อนหน้าหรือหัวเพลงที่เล่นอยู่เหมือนการกดปุ่ม reverse skip track ถ้าต้องการหยุดเล่นเพลงก็แค่แตะเบาๆ ที่ฝาปิดนี้ 1 ครั้ง หากจะกลับมาเล่นต่อก็แตะเบาๆ 1 ครั้งเช่นกันเหมือนการกดปุ่ม PLAY/PUASE ที่ตัวเครื่องอย่างไรอย่างนั้น ... เชื่อหรือยังครับว่ามัน ‘สามารถ’ และ ‘สมาร์ท’ จริงๆ
ถ้าคุณคิดว่าทั้งหมดนั้นน่าทึ่งแล้วล่ะก็ ยังครับ ยังมีอะไรให้คุณทึ่งมากกว่านั้นอีกครับ ทราบหรือไม่ครับว่าระบบ Motion Control ของ ‘แพร์ร็อต ซิก’ ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับการใช้งาน ฉลาดรู้ใจถึงขนาดว่าเมื่อผมถอดหูฟังออกมาวางไว้หรือปลดหูฟังลงมาคล้องไว้ที่คอเฉยๆ คือ ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของการฟังหรือใช้งานหูฟังนั่นแหละครับ ระบบจะสั่งหยุด (pause) การเล่นเพลงที่ตัวเครื่องเล่นทันที เมื่อผมหยิบหูฟังกลับมาใส่หูใหม่อีกครั้งเพลงก็กลับมาเล่นเองโดยอัตโนมัติ
... ว้าว ยกนิ้วโป้งบวกกดไลค์ให้เลยครับ
การออกแบบเช่นนี้ใช่ว่ามีประโยชน์เพียงเพื่อความสะดวกนะครับ แต่มันยังช่วยประหยัดพลังงานด้วยครับทั้งที่ตัวเครื่องเล่นเองและที่ตัวหูฟัง เพราะคุณสามารถตั้งค่าของตัวหูฟังได้ด้วย (ตั้งค่าในเมนู Settings ที่ตัวแอพฯ) ว่าจะให้มันปิดการทำงานของวงจรแอคทีฟภายหลังจากไม่มีการเล่นเพลงเป็นเวลานานแค่ไหน (auto-power off)
พูดถึงเรื่องประหยัดพลังงานแบตเตอรี่ใน ‘แพร์ร็อต ซิก’ ที่เห็นว่าก้อนเล็กๆ นั่นเมื่อชาร์จจนเต็มมันสามารถใช้ได้นานพอจะดูหนังจบได้หนึ่งหรือสองเรื่องสบายๆ เลยนะครับ แต่ถ้าคุณต้องการใช้งานต่อเนื่องนานกว่านั้นเช่นระหว่างเดินทางด้วยเครื่องบินไปอเมริกา แนะนำให้ซื้อแบตเตอรี่สำรองไว้อีกก้อนก็ดีครับถ้าไม่อยากจะใช้งานแบบที่ต้องเสียบสายหูฟังแทน
รูปแบบการใช้งานและคุณภาพเสียง
‘แพร์ร็อต ซิก’ เป็นหูฟังที่สามารถใช้งานได้ทั้งในระบบแอคทีฟและพาสซีฟ เพื่อความกระจ่างในการใช้งานผมจึงลองเล่นมันทุกรูปแบบแล้วเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งรูปแบบการใช้งานต่างๆ มีดังนี้ครับ
Wire Passive : ใช้สายต่อฟังอย่างเดียว, ไม่เปิดใช้งานแบตเตอรี่ในตัวหูฟัง, ไม่ใช้ภาคขยายเสียงในตัวหูฟัง
ผลลัพธ์ : คุณภาพเสียงด้อยสุด สมดุลเสียงค่อนข้างบางและแบน ดุลเสียงเด่นไปทางกลางแหลมมากกว่าทุ้ม เหมือน Parrot ไม่ได้ตั้งใจจูนเสียงมาให้ใช้งานในโหมดนี้ ตั้งใจจะให้ใช้แก้ขัดมากกว่า นอกจากนั้นโหมดนี้การควบคุมฟังก์ชันต่างๆ ผ่านแอพฯ และควบคุมโดยตรงที่ตัวหูฟังจะไม่ทำงาน
Wire Active : ใช้สายเชื่อมต่อสัญญาณเสียง, เชื่อมต่อบลูทูธกับ Source, หูฟังจะเปิดใช้งานภาคขยายและ DSPในตัว, มีการใช้งานแบตเตอรี่
ผลลัพธ์ : เสียงดีกว่า สมดุลดีกว่าแบบต่อสายฟังแบบพาสซีฟ สามารถดูและตั้งค่าต่างๆ ของหูฟังจากตัวแอพฯ ได้ ใช้ Touch Control ที่ตัวหูฟังได้เฉพาะส่วนของวอลุ่ม ไม่สามารถสั่งหยุดเพลงหรือข้ามเพลงได้ ระบบเซ็นเซอร์ Motion Control เปิด-ปิดการทำงานของวงจรขยายเสียงในหูฟังสามารถทำงานได้แต่จะไม่สั่งหยุดเล่นเพลง การใช้งานแบบนี้ดูเหมือนว่าระบบปรับเสียงต่างๆ จากตัวแอพฯ จะให้ผลลัพธ์ที่สู้ในโหมด ‘Wireless Active’ เต็มระบบไม่ได้ เข้าใจว่าเป็นเพราะตัวหูฟังรับสัญญาณมาเป็นอะนาล็อกแล้วยังต้องมาผ่านการแปลง A/D (Analog to Digital Converter) อีกขั้นตอนหนึ่งก่อน ขณะที่ระบบ ‘Wireless Active’ จะรับเป็นสัญญาณดิจิตอลเข้ามาโดยตรง
Wireless Active : เชื่อมต่อแบบไร้สายเต็มรูปแบบผ่านระบบบลูทูธ, หูฟังจะเปิดใช้งานภาคขยายและ DSP ในตัว, มีการใช้งานแบตเตอรี่
ผลลัพธ์ : นอกจากจะสามารถใช้งานฟังก์ชันและการควบคุมต่างๆ ได้เต็มรูปแบบแล้ว ในโหมดนี้ยังให้คุณภาพเสียงที่น่าฟังกว่าโหมดอื่นๆ ครับ คุณภาพของวงจรแอคทีฟในหูฟังทั้งส่วนของวงจร DSP และภาคขยายเสียง ถือว่าทำและจูนเสียงมาได้ดี ภาคขยายเสียงในตัวสามารถขับหูฟังได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องหวังพึ่งพาภาคขยายเสียงในตัวไอโฟนหรือไอแพด เสียงที่ได้มีความเป็นดนตรีและรายละเอียดดีจนแทบไม่น่าเชื่อว่า เสียงอย่างนี้จะเป็นไปได้ในระบบไร้สาย
ถ้าคุณเคยฟังเสียงของหูฟังไร้สายมาก่อนแล้วไม่ชอบเสียงของมันเอาซะเลย ไม่ว่าจะด้วยเพราะมันเสียงแห้ง บาง กลวงหรืออาภัพรายละเอียด ผมอยากให้คุณเก็บประสบการณ์เหล่านั้นเอาไว้ในกรุแล้วลืมมันไปซะ การฟัง ‘แพร์ร็อต ซิก’ ทำให้ผมรื่นรมย์เพลิดเพลินกับดนตรีของผมได้อย่างสบายๆ จะว่าไปแล้วผมว่าหูฟังใช้สายหลายตัวเสียงสู้มันไม่ได้ด้วยเอ้า!
ระบบ Active Noise Canceling ใน ‘แพร์ร็อต ซิก’ สามารถตัดเสียงรบกวนได้จริงและกระทบกับคุณภาพเสียงน้อยที่สุดในโหมดนี้ (Wireless Active) เช่นเดียวกับระบบจำลองอะคูสติกเสียง ‘Parrot Concert Hall’ ที่ให้ผลลัพธ์ออกมาน่าสนใจที่สุดในโหมดนี้เช่นกัน
เรียนตามตรงครับว่า ทีแรกผมคิดว่าการใช้งานหูฟังรุ่นนี้แบบต่อสายหูฟังตามปกติจะให้เสียงดีที่สุด และคิดว่าโหมดไร้สายหรือระบบแอคทีฟใน ‘แพร์ร็อต ซิก’ จะเป็นแค่ของเล่นที่ใส่มาเพิ่มมูลค่าเฉยๆ แต่พอได้ฟังแล้วต้องบอกว่าผมคิดผิดครับ ระบบแอคทีฟในหูฟังตัวนี้ไม่ใช่ของแถมเพราะมันเสียงดีกว่า การฟังแบบต่อสายนั่นต่างหากที่ทำให้เสียงของมันแย่ลง
ผมลองเล่นแล้วพยายามทำความเข้าใจโครงสร้างการทำงานของหูฟังตัวนี้จนเขียนมันออกมาเป็นแผนผังการทำงานที่สอดคล้องกับการที่ได้ลองใช้งานจริง เห็นแล้วก็หายสงสัยครับว่าเพราะอะไรระบบแอคทีฟที่มีทั้งส่วนของภาคขยายเสียงหูฟังและระบบประมวลผลดิจิตอลในหูฟังตัวนี้ถึงให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ส่วนหนึ่งเข้าใจว่ามันคงถูกออกแบบและปรับแต่งมาด้วยกันตั้งแต่ต้น ดังนั้นใครที่ใช้ ‘แพร์ร็อต ซิก’ ผมแนะนำให้คุณใช้งานมันแบบไร้สาย (แอคทีฟ) นะครับ ส่วนสายหูฟังที่เขาแถมมาให้นั้นเอาไว้ใช้แก้ขัดตอนแบตเตอรี่หมดก็แล้วกันครับ
The most advanced wireless headphones
ครั้งแรกที่เห็น ‘แพร์ร็อต ซิก’ มันก็เป็นเพียงหูฟังไร้สายธรรมดา แต่เมื่อได้ทำความรู้จักมากขึ้นแล้ว หูฟังตัวนี้ก็มีเรื่องน่าตื่นเต้นมาเรียกร้องความสนใจจากผมมากขึ้นเรื่อยๆ มันทำให้ผมต้องเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับหูฟังระบบไร้สายเสียใหม่ เพราะระบบไร้สายที่ทำงานด้วยวงจรแอคทีฟให้เสียงออกมาดีกว่าที่ผมคิดไว้มาก ยืนยันอีกทีว่ามันเสียงดีกว่าหูฟังแบบต่อสายอีกจำนวนไม่น้อย
มันทำให้ผมทึ่งกับการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับส่วนของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์โดยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทำให้มันจำเป็นต้องพึ่งพาแอพฯ มากจนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทำให้บางฟังก์ชันเช่น Active Noise Canceling อาจจะใช้งานไม่สะดวกอย่างหูฟังตัดเสียงรบกวนอื่นๆ ที่สามารถเปิด-ปิดการใช้งานได้จากตัวหูฟังโดยตรง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะผลลัพธ์สุดท้ายของมันออกมาฟังดีและทำงานได้ราบรื่นมากกับทั้งไอโฟนและไอแพดของผม
มันทำให้ผมนึกเล่นๆ ว่าถ้าหากสตีฟ จ๊อบส์ยังมีชีวิตอยู่และเขาคิดจะทำหูฟังขายสักรุ่น ผมคิดว่าหูฟังรุ่นนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้แน่นอน... ผมเชื่ออย่างนั้นครับ
หากพิจารณากันเฉพาะในบางแง่มุม ‘แพร์ร็อต ซิก’ อาจจะไม่ใช่หูฟังตัดเสียงรบกวนที่ดีที่สุด หรืออาจจะไม่ใช่หูฟังไร้สายที่ดีที่สุด แต่สำหรับผมมันคือ ‘smart headphone แบบไร้สายที่มีระบบตัดเสียงรบกวน’ คุณภาพดีที่สุดเท่าที่ผมเคยฟังมา ถ้าหากเวลานี้ผมต้องการหูฟังไร้สายสักตัวมาใช้งาน ‘แพร์ร็อต ซิก’ จะเป็นตัวเลือกลำดับแรกของผมโดยไม่ต้องสงสัยครับ
........................................................................................
Technical Insight
Parrot Zik - Active Noise Canceling (ANC)
ระบบตัดเสียงรบกวนจากภายนอกในหูฟังนั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่จะมีหูฟังสักกี่รุ่นที่ระบบนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ? นั่นคือคำถามที่ผมและหลายคนสงสัยในหูฟัง ‘แพร์ร็อต ซิก’ ระบบ Active Noise Canceling (ANC) ของพวกเขาออกแบบด้วยการใช้ไมโครโฟน 4 ขนาดเล็กที่แอบซ่อนอยู่ในตัวหูฟังคอยดักจับคลื่นเสียงรบกวนจากภายนอก โดยไมโครโฟนจิ๋ว 2 ตัวด้านนอกจะคอยดักจับเสียงรบกวนจากภายนอกหูฟัง ส่วนอีก 2 ตัวจะคอยดักจับเสียงรบกวนส่วนเกินที่สามารถเล็ดลอดเข้าไปในหูฟัง ก่อนจะนำไปประมวลผลแล้วตัดมันออกไปด้วยเทคนิค ‘anti-noise’ หรือการสร้างสัญญาณคลื่นเสียงใหม่ขึ้นมาเพื่อ ‘หักล้าง’ กับเสียงรบกวนที่ดักจับมาได้ ระบบนี้ทางแพร์ร็อตเคลมว่าสามารถลดทอนสัญญาณรบกวนจากภายนอกลงไปได้มากถึง 98% ซึ่งถือว่าประสิทธิภาพสูงมาก
นอกจากนั้นแล้วระบบนี้ยังทำงานควบคู่ไปกับเซ็นเซอร์ตรวจจับการขยับของกระดูกขากรรไกรเวลาเราขยับปากพูดด้วยครับ (เซ็นเซอร์อยู่ที่เอียร์แพดด้านขวาใกล้กับเซ็นเซอร์ Motion Control) ดังนั้นขณะใช้งานเป็น hand free เพื่อคุยโทรศัพท์ระบบ ANC ก็ยังช่วยให้การสนทนามีความชัดเจนปลอดจากเสียงรบกวนด้วยครับ
กลไกของระบบ Active Noise Canceling ในหูฟัง Parrot Zik |
.....................................................................................................................
ขอบคุณ บริษัท KOAN ประเทศไทย ที่เอื้อเฟื้อให้ยืมสินค้าสำหรับการรีวิว